ไดอารีชีวิต 3 (แรงฝัน วันฟ้าหม่น) มิตร ชัยบัญชา
หากวันนี้ ‘มิตร ชัยบัญชา’ ยังมีชีวิตอยู่ เขาจะมีอายุย่าง 81 ปี ในวันที่ 28 มกราคม ปี 2558 แต่น่าเสียดายที่พระเอกตลอดกาลผู้นี้กลับเหลือไว้เพียงความทรงจำครั้งอดีตแห่งความรุ่งโรจน์เรืองรองดุจดวงจันทร์สุกสกาวทอแสงบนฟากฟ้า และประทับตรึงตราในหัวใจของแฟน ๆ มิลืมเลือน
ไดอารีชีวิต 3 ถือเป็นปัจฉิมบทที่ผมจะเขียนขึ้น เพื่อรำลึกถึงการจากไปของเขาให้เป็นเกียรติประวัติสืบไปภายภาคหน้า โดยครั้งนี้จะนำเสนอบทสัมภาษณ์ของนางเอกคู่ขวัญนิรันตร (นิรันตะระ) ‘เพชรา เชาวราษฎร์’ ที่เคยฝากไว้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว
สำหรับผู้ติดตามอ่าน [ไดอารีชีวิต 2 (ปริศนาอารมณ์) มิตร ชัยบัญชา] คงได้ทราบว่าระยะหลังตั้งแต่ ‘มิตร’ หันมาลงทุนสร้างหนังด้วยตนเองนั้น เขาต้องประสบปัญหาต่าง ๆ นานา ซึ่งล้วนต้องใช้ความอดทน แต่แล้วก็ไม่สามารถระงับต้านทานอารมณ์โมหะในตัวได้
ถึงขนาดคอลัมน์นิสต์ยุคนั้น ‘นัทที เจษฎา’ หยิบเรื่องราวความแปรปรวนในอารมณ์ของ ‘มิตร’ มาเขียนบอกเล่า โดยเปรียบ “อารมณ์ดุจดังเปลวเพลิงที่ร้อนเร่า กินไม่ได้นอนไม่หลับ” ทว่า คงโทษใครไม่ได้ เพราะการสร้างหนังถือเป็นความฝันที่เขาเฝ้าแสวงหามาตลอดชีวิต แทบเทียบเท่ากับการเป็นนักแสดง
สิ่งที่สนับสนุนข้อเขียนของ ‘นัทที’ ต้องยกให้ ‘เพชรา’ เคยระบุไว้ในเดลินิวส์ว่า “...มิตรกลายเป็นคนที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง โมโหง่าย ลักษณะเป็นคนเจ้าอารมณ์ขนาดหนัก ที่เป็นดังนี้เนื่องจากความมุ่งมั่นที่จะเข็นงานกำกับหนังอินทรีย์ทองให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอว่างจากอินทรีย์ทอง ‘มิตร’ จะต้องเข้าคิวไปถ่ายเรื่องอื่น ๆ ซึ่งรอกันอยู่ยาวเหยียด...”
เป็นไปได้หรือไม่ว่าการจากไปของ ‘มิตร’ อาจเกิดจาก ‘อารมณ์’ ที่อยู่เหนือ ‘จิตใจ’ เพียงเพราะต้องการให้หนังอินทรีย์ทองประสบความสำเร็จมากที่สุด สมดังความตั้งใจและทุ่มเทของเขา
เพชรา เล่าว่า มิตรได้พยายามนำความรู้ทางเทคนิคต่าง ๆ ที่ได้จากการไปแสดงหนังประเภทกำลังภายในที่ฮ่องกงมาประยุกต์ใช้เข้าด้วยกัน แต่เนื่องจากว่าเจ้าหน้าที่ในกองถ่ายทำยังมีความรู้ไม่พอ ดังนั้น ‘มิตร’ จึงแสดงความโมโหออกมาบ่อยครั้ง เมื่อเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกใจ จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง เขาถึงกับได้รับบาดเจ็บ เพราะโมโหเจ้าหน้าที่ และแสดงโดยไม่ฟังคำทัดทานจากใคร
“...บทที่เขาเล่นตอนโหนเชือกจากเฮลิคอปเตอร์นั้น อี๊ด (เพชรา) ทราบมาว่า ‘มิตร’ ไม่ยอมให้คนอื่นเล่นแทน เขาสั่งให้ช่างภาพใช้เลนส์ดึงรูปตัวเขามาให้เห็นใบหน้า เพื่อให้คนดูรู้ว่าเขาแสดงเองจริง ๆ เขาต้องการทำให้ดีที่สุด เพราะต้องการโชว์ความสามารถในฐานะผู้กำกับ...”
‘อินทรีย์ทอง’ จึงเป็นหนังเรื่องสุดท้ายในชีวิต ‘มิตร’ อันแสดงให้เห็นถึงการเป็นนักสู้ฝันที่น่ายกย่องที่สุด แม้ในชีวิตการแสดงจะไม่เคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทองเลยก็ตาม
ทั้งนี้ ใครจะล่วงรู้ว่า ยังมีอีกหนึ่งความฝันที่เขาปรารถนาจะปั้นเสกขึ้น นั่นคือ การสร้างโรงหนังที่ดีสุดแสนสง่ามากกว่าที่เคยมีมาในไทย ‘ชัยบัญชาเธียเตอร์’ ที่สะพานผ่านฟ้า ตรงข้ามกับเฉลิมไทย ซึ่งหากเขาทำได้จะนับเป็นบุรุษพิเศษที่บันดาลฝันสนองกายอยากได้ทุกประการ ทั้งหมดก็ด้วยความตั้งใจ มุ่งมั่น อันมีหัวใจที่เด็ดเดี่ยวและทะเยอทะยานเป็นเสาหลักค้ำชะตาชีวิต
หากความฝันต้องล่มสลายในวันฟ้าหม่น เมื่อเทวดาดึงร่างเขากลับสู่สรวงสวรรค์
8 ตุลาคม 2513 .
ภาพประกอบ:www.thaifilm.com