15 ปี กระจายอำนาจ เดินไปเพียง 3-4 ก้าว‘นักรัฐศาสตร์’ ชี้เลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างเดียวก็ไม่ตอบโจทย์
15 ปี ปกครองท้องถิ่น ‘ผศ.วีระศักดิ์ เครือเทพ’ ชี้ประสบความสำเร็จไม่ถึง 5 ก้าว เหตุรัฐส่วนกลางดึงอำนาจไว้ ยันต้องเร่งกระจายอำนาจ หวังแก้ปัญหาระดับพื้นที่ ระบุหลักการสำนักงานปลัดกลาโหมหละหลวม เปลี่ยนเฉพาะที่มาผู้ว่าฯ ไม่ตอบโจทย์ ต้องควบคู่สร้างจังหวัดเป็นศูนย์อำนาจงบฯ-ความรับผิดชอบ
วันที่ 18 ตุลาคม 2557 คณะกรรมการจัดงานวันรพีวิชาการ จัดเสวนา ‘ก้าวหน้า 1 ก้าว:การปกครองท้องถิ่นไทย’ ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการกระจายอำนาจของไทยระยะ 15 ปีที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่ศึกษาวิจัยการกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จำนวน 110 แห่ง โดยคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พบความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีมากขึ้น ยกตัวอย่าง การจัดการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสังกัดโรงเรียน อปท. และโรงเรียนถ่ายโอนอยู่ในระดับดีถึงดีมาก
“ระดับคะแนนการสอบในกลุ่มวิชาโอเน็ตของนักเรียนโรงเรียน อปท. มีค่าเฉลี่ยผลคะแนนการสอบที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยคะแนนของโรงเรียนทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดที่ อปท.แห่งนั้นตั้งอยู่” นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าว และว่าชาวบ้านมีความพึงพอใจกับการบริหารจัดการของท้องถิ่น และ 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่าง ระบุไม่ควรยุบ อปท. เพราะอย่างน้อยก็สามารถทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
ส่วนการกระจายอำนาจของไทยประสบความสำเร็จหรือไม่ ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ประสบความสำเร็จเพียง 3-4 ก้าว เท่านั้น จากทั้งหมด 10 ก้าว เนื่องจากตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา องค์ประกอบของระบบนโยบายภาครัฐเป็นแรงดึงกลับมายังส่วนกลางด้วยกันไว้ เพื่อมีอำนาจบริหารจัดการเองทุกอย่าง บ้านเมืองไร้เสถียรภาพ นโยบายรัฐส่วนกลางขาดความต่อเนื่อง ทำให้องคาพยพไม่สามารถสานต่อและไร้หน่วยงานที่ผลักดันการกระจายอำนาจจริงจัง
ทั้งนี้ ข้อจำกัดที่สำคัญ คือ ที่ผ่านมาไทยตั้งหลักผิดในการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ซึ่งเดิมต้องการให้ อปท.กลายเป็นพระเอกหลักในการทำงานทุกเรื่อง จึงมีการถ่ายโอนภารกิจลงไประดับล่างสุด คือ เทศบาล และอบต. แต่กลับพบว่า กว่าร้อยละ 70 ของเทศบาลและอบต.ขนาดเล็ก มีบุคลากรจำนวนน้อย ทว่าต้องดูแลประชาชนทั้งตำบล จึงต้องหันกลับมาทบทวนในอนาคต ตลอดจนถึงการแก้ไขกฎกติกากำกับที่มีมากเกินความจำเป็น ทำให้ขาดความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย
นักวิชาการรัฐศาสตร์ ยังกล่าวถึงการกำหนดทิศทางการกระจายอำนาจในอนาคตว่า ไม่สามารถปฏิเสธแนวทางดังกล่าวได้ เพราะอนาคตเราจะเปลี่ยนไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ซึ่งแน่นอนจะตามมาด้วยปัญหาในระดับพื้นที่ แต่หากไม่เลือกกระจายอำนาจ ความขัดแย้งทางการเมืองยังเกิดขึ้นต่อไป เพราะทุกอย่างถูกรวมไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็น อำนาจ งบประมาณ บุคลากร จนเกิดระบบการแย่งเมืองที่ส่วนกลาง กล่าวคือ จะมีระบบการส่งออกนักการเมืองท้องถิ่น เพื่อมาปล้นงบประมาณที่ส่วนกลาง ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ไทยต้องปฏิรูป
สำหรับกรณีข้อเสนอปฏิรูปราชการส่วนท้องถิ่นของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมที่รวบรวมความคิดเห็นของประชาชนนั้น ผศ.ดร.วีระศักดิ์ ระบุว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่การให้ยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อทำให้เกิดการบริหารจัดการเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น รวมถึงให้ยุบรวมท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกัน ซึ่งเห็นด้วยในหลักการ เพียงแต่ยังมีความหละหลวมในข้อมูล และสังคมไทยยังมองผิวเผินไปนัก
“หากใช้โครงสร้างทุกอย่างแบบเดิม แล้วเปลี่ยนที่มาของผู้ว่าฯ เท่านั้น ไม่ทำให้อะไรดีขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำควบคู่ คือ เปลี่ยนให้จังหวัดกลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจงบประมาณ และความรับผิดชอบ เพื่อเอื้อต่อการแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อเสนอมิได้ระบุถึงเรื่องเหล่านี้ ฉะนั้นคณะทำงานต้องทำให้มีรายละเอียดมากขึ้น” นักวิชาการรัฐศาสตร์ กล่าว
ด้านรศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2540 ไม่เคยมีรัฐบาลใดสนใจผลักดันการกระจายอำนาจเท่าที่ควร คิดแต่จะออกกฎหมาย หากก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นจึงให้คะแนนความสำเร็จเพียง 2 ก้าว เนื่องจากหลายปัญหายังไม่ถูกแก้ไข โดยเฉพาะการให้อำนาจนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งบุคลากรหรือหาผลประโยชน์จากการสอบบรรจุ
“รัฐต้องวางยุทธศาสตร์ใหม่ให้ท้องถิ่นจัดบริการสาธารณะแทนได้ เพราะยืนยันแล้วว่าท้องถิ่นทำได้ดีกว่า แต่ต้องดำเนินการควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมระดับจังหวัด” นักวิชาการด้านสังคม กล่าว และว่าจังหวัดจัดการตนเองถือเป็นแนวทางหนึ่ง โดยกระจายอำนาจแก่จังหวัดที่มีความพร้อมด้านรายได้ก่อน 15 จังหวัด เพื่อประเมินเปรียบเทียบกับพื้นที่เดิม เชื่อว่าภายใน 30 ปี จะเปลี่ยนการบริหารจัดการสู่ท้องถิ่นได้
ขณะที่นายสรณะ เทพเนาว์ นายกสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังประสบปัญหาราคาผลิตผลทางการเกษตรตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา และยิ่งมีการทะเลาะเบาะแว้ง ประเทศกลับเข้าสู่ความล้าหลังมากขึ้น ฉะนั้นต้องเร่งสร้างจุดเด่นให้ภาคพลเมืองเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างระบบการร้องทุกข์ที่ศูนย์ดำรงธรรมหรือ อปท.ให้แก้ปัญหาพื้นที่ได้ทันที
“ก้าวต่อไปของการกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นของไทยยุคนี้ต้องกระโดดข้ามให้ดีกว่าการยุบ อบจ. โดยทำอย่างไรให้มีการผลักดันกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการจัดการพื้นที่” สมาชิก สปช. กล่าว และว่าต้องตั้งสภาพลเมืองที่มาจากภาคประชาสังคมถ่วงดุลระบบระหว่างกัน พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เพื่อมีสภาพลเมืองยั่งยืน ประชาชนมีความอบอุ่น เมืองน่าอยู่ .
อ่านประกอบ:เรื่องจริงหรือมโน ข่าวลบต่อการกระจายอำนาจ ความโปร่งใสทุจริต อปท.
เกือบตก! 15 ปีกระจายอำนาจ นักวิจัยให้เกรดซี เหตุ 'คน-งาน- เงิน' ไม่ไปด้วยกัน
ประเมินผลการกระจายอำนาจของไทยระยะ 15 ปี: เหลียวหลังและมองไปข้างหน้า