ประเทศปานกลาง ก็โตแบบกลางๆ "บัณฑูร ล่ำซำ" พูดตรงถึงเศรษฐกิจไทย
“การที่เศรษฐกิจจะบูมหรือเติบโตได้มากกว่านี้จะต้องมีความคิดใหม่ๆซึ่งคนไทยยังไม่ค่อยมี คือจะต้องคิดกระจายธุรกิจแบบใหม่จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แต่เมืองไทยไปไม่ถึงเพราะไม่มีใครมีความคิดแบบนั้น”
“วันนี้เรามาพูดกันเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างมั่นคงและกระจายความมั่งคั่ง จริงๆแล้วเป็นคำถามที่ผมมักถูกถามตลอดเมื่อเจอนักลงทุนทั่วโลกว่าประเทศไทยเศรษฐกิจจะโตได้แค่ไหน ก็ได้แต่ตอบเขาไปว่าโตได้แค่นี้ล่ะ จะเอาอะไรมากมาย เพราะเป็นประเทศแบบกลางๆ เศรษฐกิจโตแบบกลางๆ คุณภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศก็ระดับปานกลาง ในเมื่อทุกอย่างปานกลางหมด เราก็โตได้แค่นี้”
คุณปั้น "บัณฑูร ล่ำซำ" ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในหัวข้อ “ภาคการเงินกับการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย”ณ ห้องบอลรูม ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิล์ด
“การที่เศรษฐกิจจะบูมหรือเติบโตได้มากกว่านี้จะต้องมีความคิดใหม่ๆ ซึ่งคนไทยยังไม่ค่อยมี คือจะต้องคิดกระจายธุรกิจแบบใหม่จนสามารถเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้แต่เมืองไทยไปไม่ถึงเพราะไม่มีใครมีความคิดแบบนั้น แม้ธุรกิจSMEเป็นธุรกิจขนาดเล็กแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความคิดใหม่ๆที่จะช่วยกระตุ้นผลักดันเศรษฐกิจของประเทศไม่ได้”
ผู้บริหารแบงก์กสิกร กล่าวว่า บางทีการสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจอาจจะโยงไปถึงเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการศึกษาว่าใครควรจะมีความคิดว่าวันนี้คนไทยต้องคิดอะไรใหม่ๆหรือจะยอมรับรูปแบบที่มีกันอยู่ทุกวันนี้แล้วก็ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นระดับกลางๆแบบที่เป็นอยู่ หากเป็นเช่นนี้จะให้ทำนายการเจริญเติบโตเศรษฐกิจของประเทศไทยอีก1ปีหรือ2ปีข้างหน้าก็ตอบได้เลยว่าโตได้แค่ 4-5 % เพราะปัจจัยที่กล่าวถึงมาถึงหมดกำหนดให้อยู่แค่นี้ นอกจากจะมีการแก้โครงสร้างพื้นฐานให้ผลักดันเศรษฐกิจ
ส่วนเรื่องการช่วยเหลือธุรกิจSMEนั้น ธนาคารพาณิชย์ไม่สนใจเพราะมีกำไรเยอะแล้ว เจ้าสัวบัณฑูร ออกตัวขอปฏิเสธว่าไม่จริงเพราะธนาคารพาณิชย์ต้องแข่งขันในตลาดทุน ซึ่งพยายามผลักดันบ่อยมากแต่ถ้าปล่อยกู้มากเกินไปผู้ถือหุ้นก็ทักท้วง
“ยอมรับว่าในส่วนของธนาคารพาณิชย์อาจทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจSMEทำได้ในกรอบที่จำกัดไม่สามารถ ปล่อยกู้ได้ทั้งหมด เพราะไม่แน่ใจเกี่ยวกับกระแสเงินสดของธุรกิจว่าหากปล่อยสินเชื่อไปแล้ว อีก 1 ปีข้างหน้าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ รวมทั้งการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ถูกตลาดทุนควบคุมอยู่”
ฉะนั้นการที่จะให้ธนาคารพาณิชย์ลงไปช่วย“สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ในต่างจังหวัด”คงเป็นเรื่องยากเพราะพื้นฐานของธนาคารพาณิชย์ไม่เข้าใจวัฏจักรชีวิตของคนชนบท ดังนั้นการจะปล่อย สินเชื่อไมโครไฟแนแบบลงลึกจึงทำได้ยาก หรือบางทีธนาคารรัฐเองที่ต้องแบกรับคนที่ต่ำในสังคมไว้โดยที่ธนาคารของรัฐไม่ได้มีความรู้ไม่เข้าใจต่างคนต่างทำแบบนี้ระบบเศรษฐกิจไทยก็จะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆเช่นกัน
"เราเข้าใจอะไรเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ โครงสร้างการศึกษา รัฐไม่เอื้ออำนวยที่จะให้ประชาชนมีความคิดใหม่ๆที่จะแตะยอดผลักดันเศรษฐกิจ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานต่างๆของประเทศกำหนดให้เศรษฐกิจไทยเป็นเช่นนี้"
เขาเห็นว่า ทางแก้หนีไม่พ้น นอกเสียจากจะมีการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีถึงจะมีโอกาสพูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะโตได้ 7-8% เพราะหากไม่แก้ไม่ปรับไม่มีทาง
“ส่วนการจะปรับเปลี่ยนธนาคารของรัฐให้มีการตรวจสอบมากขึ้นเนื่องจากหลายฝ่ายมองว่าที่ผ่านมามีการดำเนินงานผิดวัตถุประสงค์นั้น ต้องบอกเลยว่าประเทศไทยชอบทำอะไรมั่วๆ เลยไม่มีใครเข้าใจว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ในระบบอะไร กติกาแบบไหน แล้วที่ผ่านมาก็ไม่เห็นมีใครเดือดร้อนอะไรอยู่ๆวันนี้มาพูด
ถามว่าพอจะเข้ามาแก้ไขปัญหาจะจริงใจกันไหม ธนาคารรัฐเดินหน้ามาจนถึงจุดนี้อยู่ๆก็จะลุกขึ้นมาบอกว่าไม่ให้ทำทำไม่ได้ ถ้ามีสติพอก็ต้องบอกว่าแบงค์ชาติเข้าไปตรวจสอบแบงค์ได้แต่ตรวจแล้วจะใช้มาตรฐานเดียวกันหรือไม่ตรงนี้ก็ไม่มีความชัดเจนเลยตอบไม่ได้ว่าตอนจบจะแก้ปัญหาได้แบบไหน”
สุดท้าย เจ้วสัวบัณฑูร บอกด้วยว่า ธนาคารรัฐเป็นเค้กก้อนที่นักการเมืองทุกสมัยชอบโดยที่เขาไม่ได้สนใจว่าการปล่อยสินเชื่อแบบอีลุ่ยฉุยแฉกและปล่อยให้เกิดหนี้เสียทีละนิดๆจะเป็นอย่างไร
นี่จึงเป็นอีกโจทย์หนึ่งที่สำคัญที่จะจัดการให้เป็นชิ้นเป็นอันและนำไปสู่แต่ละสถาบันว่าควรจะอยู่จะเป็นแบบไหน เพราะภาคเอกชนมีเป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว รัฐเองในฐานะที่ต้องอุ้มประชาชนที่มีปัญหาก็ต้องอุ้มต่อไป แต่จะอุ้มอย่างไรมีความสามารถในการอุ้มแบบไหนเป็นเรื่องที่ต้องนำไปคิด แม้ที่ผ่านมาเราจะปล่อยให้เศรษฐกิจเป็นสีเทาๆแต่อย่างน้อยก็ดูเหมือนหลายฝ่ายจะพยายามแก้ไขแต่ยังไม่มีคำตอบให้ว่าจะจบลงแบบไหน