รมว.สธ. มอบ 16 นโยบาย “ต่อยอด 30บาทรักษาโรค” –ขานรับ “บางระกำโมเดล”
รมว.สาธารณสุขมอบ 16 นโยบายข้าราชการ เพิ่มคุณภาพ “30บาทรักษาทุกโรค” –ปรับค่าตอบแทนบุคลากร-เน้นอาหารปลอดภัย-เฝ้าระวังโรคระบาด-ส่งเสริมแพทย์แผนไทย-เมดิคัลฮับ ขานรับ “บางระกำโมเดลสแกนสุขภาพทุกพื้นที่ ด้านปลัด สธ.เตือนเฝ้าระวังโรคมือปากเท้าเปื่อยในเด็กต่ำกว่า 5 ขวบ
วันที่ 30 ส.ค.54 นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) กล่าวถึงกรณีที่จะนำรูปแบบการช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบเหตุอุทกภัยตามโมเดลของ อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก และที่ จ.อุดรธานี มาปรับใช้ว่าจะใช้เครือข่ายที่กระทรวงมีอยู่ คืออาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ลงไปดูแลจิตใจ ความเป็นอยู่ประชาชนในภาวะน้ำท่วม และยังมีสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งจะเป็นเครือข่ายที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว
ส่วนการป้องกันการระบาดของโรคที่มากับน้ำ นายต่อพงษ์ กล่าวว่ายังสามารถควบคุมได้ ยังไม่มีโรคอะไรที่ผิดแปลกแตกต่างกับโรคเดิมที่มีอยู่ เช่น โรคฉี่หนู น้ำกัดเท้า หรือไข้หวัด ส่วนโรคมือปากเท้าเปื่อยในช่วงนี้ไม่ได้มาจากปัญหาน้ำท่วม แต่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่ง ครม.ห่วงใยและมอบให้กระทรวงเฝ้าระวังไม่ให้มีการระบาด โดยขอให้ประชาชนยึดหลักสุขอนามัย การกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ
ด้าน นพ.ไพจิต วราชิต ปลัด สธ. กล่าวว่าโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสเอ็นไทโรที่อยู่ในคอและลำไส้ ติดต่อทางปากและเสมหะ โดยพบมากในเด็กที่มีอาการเป็นไข้ มีแผลในปาก ตุ่มหรือแผลที่มือและเท้า และพบเป็นประจำเกือบทุกปี แต่จากระบบเฝ้าระวังในปีนี้นั้นพบว่าโรคนี้เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่าห้าปี โดยเสียชีวิตแล้วสี่ราย แต่โดยรวมยังไม่น่าห่วงเพราะพบผู้ป่วยเพียง 8,000 กว่าราย
ทั้งนี้ขอเตือนว่าหากเด็กต่ำกว่าห้าปีมีไข้และมีแผลในปาก มือ และเท้า ขอให้หยุดเรียนไปพบแพทย์ และอยู่บ้านเพื่อรักษาทันท่วงที ไม่ให้มีโรคแทรกซ้อนที่อาจทำให้เสียชีวิต เช่น หัวใจ สมองและปอดอักเสบ ส่วนตามศูนย์เด็กเล็กและเนอร์สเซอรี่ ต้องมีการทำความสะอาดบ่อยๆทั้งนี้กระทรวงแจ้งไปยังสาธารณสุขจังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกระทรวงศึกษาธิการร่วมดูแล
วันเดียวกันที่ สธ.นายวิทยา บุรณศิริ รมว.สธ.พร้อมด้วยนายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สธ.มอบนโยบายการบริหารงานสาธารณสุข แก่ผู้บริหารในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค 16 ข้อ ได้แก่ 1.พัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติ 2.เพิ่มคุณภาพระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ทั่วถึง เป็นธรรม สร้างระบบบริหารจัดการที่มีเอกภาพ 3.เร่งรัดมาตรการสร้างสุขภาพโดยมีเป้าหมายเพื่อลดอัตราป่วย ตายและผลกระทบจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง
ด้านนโยบายสาธารณะ 4.เร่งรัดดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ตลอดจนอาหารปลอดภัย 5.เตรียมความพร้อม พัฒนาระบบเฝ้าระวัง เตือนภัย การจัดการที่มีประสิทธิผล ทันการณ์ เมื่อเกิดภัยพิบัติ โรคระบาด และภัยสุขภาพ 6.จัดให้มีการดูแลกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ ได้แก่ กลุ่มเด็ก กลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้พิการ รวมถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะอื่น เช่น แรงงานข้ามชาติ 7.สร้างแรงจูงใจและพัฒนาขีดความสามารถอาสาสมัครสาธารณสุขทุกคน โดยสนับสนุนอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นในการปฏิบัติภารกิจ 8.สร้างแรงจูงใจบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ โดยปรับระบบค่าตอบแทนให้เหมาะสม และความก้าวหน้าในวิชาชีพที่เป็นธรรม สร้างกลไกพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ
9.เพิ่มการลงทุนในระบบบริการทุกระดับ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์การแพทย์จำเป็น เน้นการพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิทั้งในเมืองและเขตชนบท 10.ส่งเสริมการใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกในระบบบริการสาธารณสุขทุกระดับ 11.ส่งเสริมการจัดบริการสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub and Wellness) และระบบโลจิสติกส์ โดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับบริการสุขภาพโดยรวมของคนไทย
12.สนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการจัดบริการสุขภาพ 13.พัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพให้มีคุณภาพ 14.พัฒนาผลักดันและการบังคับใช้กฎหมายให้เอื้อประโยชน์ต่อการสนับสนุนการดำเนินงาน 15.จัดตั้งศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพผู้ติดยาเสพติด ควบคุม ป้องกันการใช้สารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดและเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของสารเสพติดชนิดใหม่ 16.จัดให้มีสื่อสารสาธารณะด้านสุขภาพ .
ที่มาภาพ : http://www.mumuu.com/news-show-ต่อพงษ์ยันพบบูทเป็นไปตามกฏระเบียบ-3-48086