“วสันต์ ภัยหลีกลี้” จะให้ประชาชนเชื่อถือ ศรัทธา สื่อจะต้องกวาดบ้านตัวเอง!
"หัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อก็คือ เสรีภาพบนความรับผิดชอบ การกำกับดูแลกันเองที่เป็นจริงมีคุณภาพ เป็นมืออาชีพ ตรงนี้จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา สถาบันสื่อจะอยู่ในใจคนหรือไม่ หรือแค่รู้สึกว่าสื่อเป็นสินค้าธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรเลยกับเขา"
“วสันต์ ภัยหลีกลี้” ทำงานด้านสื่อมวลชนมายาวนาน 30 ปี เขาผ่านงานสื่อมาแล้วแทบทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ รวมทั้งสื่อใหม่อย่าง นิวมีเดีย ก็ทำมาแล้ว
“วสันต์” เป็นศิษย์เก่ามติชน เคยเป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันในยุคผู้จัดการเปลี๊ยนไป๋ และผู้จัดการออนไลน์ยุคบุกเบิก
หลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เขาถูกทาบทามไปทำงานกับช่อง 7 ในฐานะผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายข่าวและขึ้นเป็นรองผู้จัดการฝ่ายข่าว นอกจากนี้ยังเคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายข่าวไอทีวี และอ.ส.ม.ท. เป็นกรรมการผู้บริหารไทยพีบีเอส รวมทั้งยังมีโอกาสไปทำงานกับบีบีซี ภาคภาษาไทย ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ
ล่าสุด เขาเป็นผู้อำนวยการสถาบันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูป(สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน
สำนักข่าวอิศรา สัมภาษณ์พิเศษ “วสันต์”ว่าด้วยแนวคิดการปฏิรูปสื่อที่ควรจะเป็น ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
……………………
@ คุณคิดว่า การปฏิรูปสื่อที่ควรจะต้องทำใน 1 ปีหลังจากนี้มีอะไรบ้างครับ
ส่วนตัวผมมองว่า วันนี้ประเทศมีปัญหาต้องการปฏิรูปใหญ่ ผมเองก็มีประสบการณ์ด้านสื่อสารมวลชนมาบ้าง ทั้งด้านหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์และภาพรวม ก็อาสาเข้ามาช่วยปฏิรูป อยากใช้ความรู้ ประสบการณ์ เข้าไปใช้ในการปฏิรูปหนนี้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
เรื่องของสื่อจะปฏิรูปกันอย่างไร เรามีการพูดคุยกันมาเป็นระยะๆ ทั้งฝ่ายองค์กรวิชาชีพก็เคยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุย แลกเปลี่ยน หาข้อสรุป มีข้อเสนอมาเป็นระยะ ฝั่งวิชาการก็เช่นกัน ผมคิดว่าสิ่งที่ได้มีการพูดคุยกันมาน่าจะเป็นประโยชน์ เป็นสารตั้งต้นที่จะนำไปพูดคุย แลกเปลี่ยนกันได้
ขณะเดียวกัน คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมก็เตรียมข้อมูลบางส่วนให้ รวมทั้งข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์ในการมาช่วยกันดูว่าเราจะทำอะไรบ้าง อะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วน หรืออะไรที่ช่วยเป็นจุดคานงัดที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิผล
@ เรื่องเร่งด่วนเกี่ยวกับสื่อที่ต้องทำมีอะไรบ้าง
งานบางด้าน เช่น เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่น เราอาจจะเห็นว่าน่าจะออกคำสั่ง มีการออกกฏหมาย อาจจะจัดลำดับได้ง่ายกว่าในส่วนของสื่อ ซึ่งจะมีลักษณะจะเป็นภาพรวม ในเชิงของการแก้ไขก็อาจจะต้องทำควบคู่กันไปหลายจุด ต้องขึ้นอยู่กับการหารือในคณะทำงานว่างานเร่งด่วนที่จะช่วยกันผลักดันน่าจะมีอะไรบ้าง
@ ส่วนตัวมีแนวคิดผลักดันเรื่องไหนบ้าง และคิดว่าควรทำอย่างไร
เบื้องต้นผมคิดว่ามีประเด็นเรื่องเสรีภาพของสื่อ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะในระบบเสรีนิยม เสรีภาพสื่อก็คือเสรีภาพประชาชน หากสื่อถูกปิดหูปิดตา ประชาชนก็ถูกปิดหูปิดตาไปด้วย
สถานการณ์วันนี้เป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ เรายังอยู่ในช่วงกฏอัยการศึก แต่โดยหลักการพื้นฐาน ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร ตรงนี้ก็คิดว่าเราจะทำอย่างไรให้มีสิทธิเสรีภาพที่ต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ
เพราะเรื่องความรับผิดชอบในช่วงที่ผ่านมา อาจจะมีปัญหาว่ามีการใช้สิทธิเสรีภาพของสื่อหรือว่าใช้สื่อเพื่อจุดประสงค์ในด้านการเมืองหรือเรื่องการเข้าสู่อำนาจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง เกลียดชัง หรือก่อให้เกิดวิกฤตการเมือง แต่เราจะทำอย่างไรให้สื่อมีสิทธิเสรีภาพแต่เข้าใจบริบทสังคมไทยในปัจจุบัน แล้วช่วยกันประคับประคองด้วยความรับผิดชอบให้ผ่านสถานการณ์นี้ไปได้
@ แล้วจะต้องทำอย่างไรกันดี ที่เสรีภาพและความรับผิดชอบจะมาพร้อมกันโดยไม่เกิดปัญหา
ผมคิดว่าเรื่องเสรีภาพสื่อบ้านเรามีค่อนข้างมาก เทียบกับประเทศต่างๆในอาเซียนเราเคยอยู่ในลำดับต้นๆ แต่บางทีก็จะถูกคุกคามหรือถูกจำกัดเป็นช่วงๆ แล้วแต่สถานการณ์ ช่วงที่มีการรัฐประหาร มีกฏอัยการศึก แน่นอนว่าสื่อก็ถูกจำกัดด้วยอำนาจรัฐ แต่บางช่วงที่มีการเลือกตั้ง บางครั้งสื่อก็ถูกจำกัดผ่านมาทางอื่นๆ เช่น ผ่านการใช้เงินซื้อสื่อ การแทรกแซงของทุน หรือควบคุมผ่านอำนาจรัฐ
โดยเฉพาะสื่อของรัฐได้รับหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพที่จะถูกแทรกแซงไม่ได้ รัฐธรรมนูญก็กำหนดเอาไว้ แต่ในทางปฏิบัติรัฐบาลในหลายช่วงก็แทรกแซงสื่อภาครัฐอย่างหนักหน่วง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็จะมีการเปลี่ยนตัวคนควบคุมสื่อ มีการเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ส่งผลให้สื่อรัฐแทนที่จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างรัฐกับประชาชน ไปๆมาๆกลายเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล ไม่ใช่ของรัฐ เป็นการใช้สื่อด้านเดียว หรือเพื่อโฆษณาชวนเชื่อเป็นหลัก
นี่เรื่องการคุกคามสื่อ จำกัดเสรีภาพสื่อ ในขณะที่สื่อเอกชนก็เกิดการแข่งขันสูงขึ้น วันนี้ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ มีเงินที่จะใช้โฆษณาจำนวนมาก ผู้ที่ที่มีอำนาจทางการเมืองก็ไปใช้อำนาจทางการเมืองผ่านหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจเพื่อที่จะควบคุมการใช้โฆษณา มีการตัดโฆษณาในกรณีที่สื่ออาจจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล หรือไม่ยอมเป็นเด็กว่านอนสอนง่ายของรัฐบาล ลักษณะแบบนี้เป็นการคุกคามและจำกัดเสรีภาพ แทรกแซงทุน โดยการแทรกแซงของอำนาจรัฐ
ผมคิดว่า สถานการณ์เรื่องเสรีภาพสื่อวันนี้ก็ถือว่าไม่ค่อยดี ก็หวังว่าในระยะ 1 ปีข้างหน้าจะดีขึ้นตามลำดับ ด้วยการวางรากฐาน กฏเกณฑ์ เพื่อที่จะให้เรื่องสิทธิเสรีภาพสื่อมีหลักประกันชัดเจนมั่นคง ขณะเดียวกันสื่อเองก็ต้องมีความรับผิดชอบ ช่วงที่ผ่านมาสื่อบางส่วนก็มีความรับผิดชอบ บางส่วนก็อาจจะละเลยหรือยังอ่อนด้อยเรื่องนี้ ตรงนี้ก็ต้องมาดูกันว่าจะทำอย่างไรเราจะใช้สิทธิเสรีภาพควบคู่ไปกับความรับผิดชอบ เพื่อผลประโยชน์ของสังคมให้ได้
@ อะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สิ่งที่กล่าวมานี้ให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้
การกำกับดูแลกันเองของสื่อเป็นเรื่องสำคัญ หากเราปล่อยให้สภาพหรือคำพูดที่ว่า แมลงวันไม่ตอมแมลงวันมีอยู่ต่อไป เวลาเกิดเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่ดีงามเกิดขึ้น แล้วเราไม่พูด ไม่เสนอ ไม่รายงาน เพราะว่าเป็นเรื่องของพวกเดียวกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะทำให้เกิดวิฤตศรัทธากับสื่อ
เราต้องถามตัวเองว่า ทุกวันนี้ประชาชนยังศรัทธาและเชื่อถือสื่อมากน้อยแค่ไหน หากเราจะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อถือศรัทธา สื่อจะต้องกวาดบ้านตัวเอง ต้องดูแลกำกับกันเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องการยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพให้สูงขึ้น เรื่องจริยธรรมวิชาชีพ มีความเป็นมืออาชีพ หากว่าสิ่งที่เราทำแล้วประชาชนเห็นคุณค่า มีประโยชน์ เขาก็ชื่นชมศรัทธา
@ วันนี้ สื่อเปลี่ยนแปลงไปมาก คิดเหมือนกันก็มีมาก เห็นต่างกันก็ไม่น้อยจะกำกับดูแลกันเองได้จริงๆหรือ
สื่อเปลี่ยนไปเยอะมากจริงๆ สมัยก่อนสื่อหลักคือหนังสือพิมพ์ คนที่ทำงานสื่อก็มักจะเป็นคนที่มีอุดมการณ์ มีจิตวิญญาณ อยากทำสื่อเพื่อที่จะทำอะไรให้กับสังคม บางครั้งหนังสือพิมพ์เหมือนเป็นฝ่ายค้านที่คอยตรวจสอบรัฐบาล เป็นหมาเฝ้าบ้านคอยรายงานสิ่งที่ไม่ชอบมาพากล แล้วก็ต่อสู้กับเผด็จการ มาเป็นระยะๆ
แต่ในช่วง 10-20 ปี ที่ผ่านมา ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปเยอะมาก ประการแรกคือ สื่อหนังสือพิมพ์เองวันนี้ มีสื่ออื่นๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งสื่อวิทยุ โทรทัศน์ที่เปิดกว้างขึ้น มีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารต่างๆมากขึ้น
แตกต่างจากในอดีตที่การเสนอข่าวสารมักไล่เรียงจากผู้มีอำนาจ จากนายกฯ ผบ.ทบ. แม่ทัพภาค แต่วันนี้การนำเสนอข่าว นำเสนอจากเรื่องที่คิดว่าน่าจะสำคัญที่สุด ประชาชนสนใจมากที่สุด โซเชียลมีเดียก็เข้ามามีบทบาทมากขึ้น สื่อใหม่เข้าถึงประชาชนจำนวนมาก
วันนี้ไม่เพียงแต่สื่อมืออาชีพที่หันมาทำสื่อใหม่ด้วย แต่ประชาชนทั่วไปที่มีสมาร์ทโฟนหรือเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ก็สามารถที่จะเป็นผู้ผลิตสื่อหรือเป็นผู้ส่งสารได้เองมากขึ้น ดังนั้นภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปแบบนี้ สื่อวันนี้จึงมีคู่แข่งขันหรือมีผู้ผลิตสื่อ มีผู้ส่งสารอยู่จำนวนมาก
ดังนั้น สื่อเองต้องมาดูว่าบทบาทสื่อควรเป็นอย่างไร จะเน้นอย่างไร จะพัฒนาตัวเองอย่างไรให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น บางคนบอกว่าเราจะต้องยกระดับตัวเองเป็นมืออาชีพให้เห็นความแตกต่าง ระหว่างสื่อที่เป็นมืออาชีพกับสื่อภาคพลเมือง
บางคนบอกว่า สื่อมืออาชีพควรยกระดับเป็นผู้กรองหรือผู้วิเคราะห์มากขึ้น เพราะว่าลักษณะสารในเบื้องต้น ประชาชนทั่วไปสามารถส่งได้ รายงานได้กว้างขวางกว่า รวดเร็วกว่า ครอบคลุมกว่า ดังนั้นสื่อควรจะยกระดับขึ้นมาในแง่ของการกรองและวิเคราะห์วิจารณ์มากขึ้น
ในส่วนวิทยุโทรทัศน์เอง สมัยก่อนเจ้าของเป็นรัฐฝ่ายเดียว แต่ในระยะหลังที่มีการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคอาจารย์สมเกียรติ อ่อนวิมล แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงเรื่อยมา มีการเกิดไอทีวี ไทยพีบีเอส การเกิดกสทช. การประมูลทีวีดิจิทัล มีทีวีมากขึ้น มีสื่อดาวเทียม เคเบิ้ลทีวีที่หลากหลาย
วันนี้สื่อไม่กระจุกตัวแล้ว แต่กระจายตัว วิทยุโทรทัศน์ซึ่งแต่เดิมเป็นเรื่องระบบสัมปทาน วันนี้เปลี่ยนมาเป็นระบบใบอนุญาต เอกชนสามารถเข้ามาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตเองได้ แทนที่จะอยู่ในฐานะผู้เช่าช่วงหรือเป็นผู้ผลิตรายการ ก็สามารถที่จะบริหารสถานีเองได้
ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนไปตรงนี้ ผมคิดว่าสื่อต้องปรับตัวเยอะ สำคัญที่สุดคือเรื่องการกำกับดูแลกันเอง เพราะถ้าหากเรากำกับดูแลกันไม่ดีหรือขาดการกำกับดูแลกันเองที่ดี ในสภาพที่เรามีสื่อหลากหลาย จะทำให้สื่อ แทนที่จะเป็นคุณกับสังคม อาจจะเป็นโทษกับสังคมได้มากกว่าด้วยซ้ำ
@ การกำกับดูแลกันเองของสื่อ จะทำให้เกิดมรรคผลได้จริงใน1ปีหรือ
วันนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการปฏิรูป ช่วงที่ผ่านมาปัญหามันรุนแรง มันปะทุ แล้วก็เห็นอาการ และบอกว่า ถ้าเรายังไม่ทำอะไรอีก ปัญหาจะยิ่งหนักหน่วงกว่านี้ ประเทศชาติจะไปไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ
สื่อเองเป็นส่วนหนึ่งในบริบทใหญ่ สื่อเป็นได้ทั้งตัวปัญหาและมีส่วนที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือคลี่คลายปัญหา การปฏิรูปสื่อเราพูดกันมาเป็นระยะ ผมไม่อยากเห็นการพูดคุยแล้วจบไปโดยไม่มีมรรคผลอะไรเกิดขึ้น เวลามีเสียงเรียกร้องจากสังคมว่า ทำไมสื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เรียกร้องให้สื่อปฏิรูปตัวเอง
สื่อก็มาตั้งวงพูดคุยกัน เสร็จแล้วก็หายไปกับสายลม ผมคิดว่าคนทำสื่อควรจะช่วยกันว่า วันนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมาจับมือกันและช่วยกันปฏิรูปและทำให้เกิดเป็นมรรคผล ถ้ายังไม่เป็นผลอีก ผมคิดว่า สภาพการอาจจะเละไปกว่านี้ แล้วหากว่าเรายังกำกับดูแลไม่ได้ วันข้างหน้าเราก็จะถูกคนอื่นเข้ามากำกับ
เรื่องการกำกับกันเอง มี 2 ด้านที่ตรงกันข้ามกัน คือในส่วนของคนทำสื่อเอง พวกเราอยากเห็นการกำกับดูแลกันเองโดยสมัครใจ คนสมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก เรามีการร่างกฏ กติกา มารยาท มีจรรยาบรรณที่จะต้องถือปฏิบัติ แล้วก็กำกับกันเองให้มีประสิทธิภาพ ดูแลกัน หลักการควรจะเป็นอย่างนี้
แต่ในช่วงที่ผ่านมามีปัญหา ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การกำกับกันเองโดยสมัครใจมันหมายความว่าคนอื่นที่ไม่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิกก็อยู่นอกเหนือการกำกับดูแล หากว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการทำผิดกฏหมาย เป็นเรื่องจริยธรรม หรือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ไปทำผิดโดยตรง องค์กรวิชาชีพก็จะเข้าไปกำกับดูแลไม่ได้ นอกจากจะพูดถึงภาพรวมว่าสื่อควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ส่วนสื่อที่เข้ามาเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพ ที่ผ่านมาก็มีปัญหาในการกำกับดูแลเหมือนกันที่อาจจะมีความคิดเรื่องแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน หรือมีลักษณะอะลุ่มอล่วยกันอยู่บ้าง แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือ เวลามีกรณีเกิดขึ้น แล้วองค์กรวิชาชีพสื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าสื่อนั้นกระทำผิด แต่สื่ออาจจะเห็นต่างหรือไม่ยอมรับคำตัดสินนั้น สื่อฉบับนั้นๆ ก็ถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพ ก็ทำให้การกำกับดูแลไปไม่ถึง
ถ้าสภาพยังเป็นอย่างนี้ หากเรายังดูแลกันไม่ได้ต่อไป เราจะมีสื่อที่หลากหลายมากกว่านี้เยอะมาก มีเคเบิ้ลทีวี วิทยุชุมชนเท่าไหร่ ทีวีดาวเทียม มีสื่อรายเล็กรายน้อยเกิดใหม่ ถ้าการกำกับดูแลกันเองไม่มีประสิทธิภาพ สื่อแทนที่จะเป็นคุณก็จะเป็นโทษ
แล้วเมื่อเรากำกับกันไม่ได้ รัฐซึ่งจ้องที่จะเข้ามากำกับอยู่แล้ว ก็จะใช้อำนาจเข้ามากำกับ ถ้าถึงวันนั้น การแทรกแซงสื่อก็จะยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ผมคิดว่าทางออกที่น่าจะดีคือ ควรเป็นการกำกับร่วมกัน ทำอย่างไรที่จะทำให้การกำกับมีเอกภาพระหว่างสื่อต่างๆ วันนี้ผู้สื่อข่าวบางคนก็ทำอยู่หลายแพลตฟอร์ม หลายสื่อด้วยกัน หรือว่าผู้สื่อข่าวบางคน ทำหลายช่อง หลายสำนัก ทำอย่างไรการกำกับจะทั่วถึง แล้วก็ไม่เกิดการซ้ำซ้อน
สมมุติว่า เรื่องๆเดียวกันออกทั้งทีวี ทั้งเว็บไซด์ ออกทั้งนิวมีเดียอื่นๆ ทำอย่างไรที่จะพิจารณาคนละอย่างกัน แต่ว่ามีการพิจารณาร่วมกัน ก็คือการกำกับร่วมของสื่อทั้งหลาย
เรื่องนี้มีข้อเสนอถึงขั้นว่าองค์กรวิชาชีพควรรวมเป็นหนึ่งเดียว ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ สื่อวิทยุโทรทัศน์ และสื่อใหม่ เป็นองค์ใหญ่แล้วก็มีมาตรฐานทางจริยธรรมครอบคลุมทั้งหมด ส่วนจะมีองค์กรย่อยเข้ามาก็พิจารณาในรายละเอียดที่เหมาะสม แต่ในกรณีที่มีการร้องเรียนเพื่อลดความซ้ำซ้อน ก็ควรจะต้องมีการพิจารณาที่สามารถพิจารณาครอบคลุมร่วมกันได้ทั้งหมด
ถัดมาคือทำอย่างไรที่จะให้ครอบคลุมไปถึงสื่อทุกราย เพราะทุกวันนี้เป็นเรื่องของความสมัครใจ ใครไม่สมัครใจก็ไม่เข้ามา ทำอย่างไรที่จะดูแลกันได้ทั้งหมด
ต่อมาคือการกำกับร่วม ควรจะต้องเริ่มที่การกำกับดูแลกันเองเป็นหลัก เช่น เบื้องต้นที่สุด หากประชาชนร้องเรียนในเรื่องการทำงานของสื่อ ควรจะตรงไปที่สื่อนั้นๆ ก่อน เช่น ไปที่หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นที่เสนอข่าวไม่ถูกต้อง ร้องเรียนไปที่โทรทัศน์ช่องนี้ที่อาจจะเสนอข่าวคลาดเคลื่อน หรือเสนอแล้วมีผลกระทบกับปัจเจกชนที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมคิดว่าเบื้องต้นควรมีการร้องเรียน ส่งเรื่องตรงไปที่สื่อนั้นๆ ก่อน
สื่อก็ควรจะต้องมีกระบวรการรับฟัง รับเรื่องร้องเรียน แล้วดำเนินการเองเบื้องต้น เช่น สมมุติว่านำเสนอข่าวผิดพลาดก็ควรจะต้องแก้ไขข่าวนั้นๆ หรือหากมีการร้องเรียนว่าบุคลากรของสื่อฉบับนั้นหรือช่องนี้ไปตบทรัพย์ หรือมีความประพฤติที่ผิดจริยธรรม สื่อนั้นๆก็ควรพิจารณาแล้วก็จัดการกัน
แต่ควรกำหนดช่วงเวลาเอาไว้ว่าภายในกี่วัน ถ้า สื่อฉบับนั้นๆ ช่องนั้นๆ ไม่ดำเนินการ ให้ร้องเรียนมาที่องค์กรวิชาชีพ องค์กรวิชาชีพก็จะต้องพิจารณาแล้วก็ให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้องเรียนและผู้ถูกร้องเรียน
ถ้าการดำเนินการขององค์กรวิชาชีพไม่สามารถไปบังคับสมาชิกได้ เนื่องจากการควบคุมกำกับกันเองเป็นลักษณะที่ไม่มีมาตรการทางกฏหมายหรือไม่มีมาตรการลงโทษ นอกจากเป็นเรื่องของโซเชียล แซงชั่น หมายความว่าหากมีมาตรการใดๆ ออกไปแล้วยังไม่เป็นผล เช่น องค์กรวิชาชีพ ตรวจสอบแล้วสื่อเสนอข่าวผิดพลาด ก็ต้องแจ้งให้สื่อแก้ไข
แต่ถ้าสื่อไม่แก้ไข แล้วสุดวิสัยที่จะบังคับให้เป็นไปตามนั้น ขั้นตอนถัดไปควรจะต้องไปถึงองค์กรกำกับดูแลตามกฏหมาย ในส่วนวิทยุโทรทัศน์ก็คือ กสทช. ส่วนของหนังสือพิมพ์ยังไม่มี ฉะนั้นต่อไป เราอาจมีองค์กรกำกับดูแลทางกฏหมาย ที่อาจจะต้องใช้อำนาจในเชิงกฏหมายเข้ามา แต่นี่เป็นความเห็นส่วนตัวผมนะครับ
ฉะนั้น วันนี้เราก็พูดคุยกันอยู่เยอะครับว่า การกำกับดูแลกันควรจะเป็นแบบไหน บางคนคิดว่า ควรจะเป็นการกำกับดูแลกันเองอย่างเดียว แต่บางคนก็มองว่าไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่า การกำกับกันเองทำไม่ได้เต็มที่ เกิดช่องโหว่และปัญหาอยู่เยอะ ก็มีการเสนอกันว่าควรจะร่วมกันกำกับกันเอง
@ นี่คือสิ่งที่คุณอยากเห็นในการปฏิรูปสื่อ
ใช่ครับ ผมอยากเห็นสื่อที่มีคุณภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น แล้วก็อยากเห็นสื่อมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอ มีความเป็นมืออาชีพและมีความรับผิดชอบ เพราะที่ผ่านมาการปฏิรูปสื่อมักจะไปไม่ถึงไหน อย่างที่บอก เราพูดกัน มีข้อสรุป แต่ไม่มีอะไรออกมา ผมไม่อยากเห็นแบบนั้น
ผมคิดว่า ถ้าหากยังเป็นอย่างนั้นอยู่เรื่อยๆ สื่อดูแลกันเองไม่ได้ วันหนึ่งจะเป็นอันตรายต่อวิชาชีพสื่อ เพราะจะมีคนเข้ามาควบคุมดูแล แล้ววันนั้นเราจะไปร้องให้สังคมออกมาปกป้อง ให้สังคมออกมาช่วยเหลืออาจจะไม่ได้แล้ว หากเราทำหน้าที่ของเราได้ไม่ดี
ประชาชนจะออกมาปกป้องหรือยืนอยู่ข้างสื่อก็ต่อเมื่อเขาเห็นคุณค่าของเรา เห็นว่าสิ่งที่เราทำเป็นสิ่งที่ถูก เป็นสิ่งที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน แต่หากเขามีความรู้สึกว่าสื่อเสนอเรื่องที่เขามีความรู้สึกว่ามีแต่เรื่องร้าย ข่าวร้ายลงฟรีข่าวดีเสียตังค์ หากความรู้สึกทั่วไปของคนยังติดลบอยู่แบบนี้ หรือสื่อชอบไปตบทรัพย์ หรือคนทำงานสื่อมาตรฐานลดลง หรือมีการไปพูดทำนองที่ว่า สื่อไม่ตอมกันเอง เกรงใจกัน ทำผิดก็ไม่มีใครออกมาพูด
จนทำให้คนมีความรู้สึกว่า สื่อไม่ได้เสนอเรื่องราวดีๆ ในสังคม หรือขับเคลื่อนสังคมไปในทางที่ดี เสนอข่าวที่สร้างสรรค์ ลักษณะที่เป็นสื่อปลอดภัยไม่ค่อยมี แต่แข่งขันกันเรื่องบันเทิงเริงรมย์ หรือเรื่องน้ำเน่ามากจนเกินงาม ก็อาจจะรู้สึกว่าถ้าควบคุมกันเองไม่ได้ ก็จะต้องหาคนมาควบคุม
แต่เราคนทำสื่อไม่อยากเห็นแบบนั้น และคิดว่าโดยหลักการแล้วสื่อต้องมีเสรีภาพ โดยหลักการแล้ว สื่อต้องควบคุมกันเอง และต้องมีมาตรฐานทางวิชาชีพ ข้ออ่อนด้อยที่เรายังคุมกันเองไม่ได้เราต้องอุดให้ได้ ถ้าอุดไม่ได้ วันหนึ่งชะตากรรมของสื่อจะแย่ไปกว่านี้
@ คิดว่าวันนี้สื่อมีสิทธิเสรีภาพแค่ไหนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
ทุกวันนี้สื่อมีลักษณะเป็นธุรกิจมาก เจ้าของธุรกิจหรือนายทุนเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทาง แม้แต่ในเรื่องการนำเสนอ เนื้อหาข่าวสาร ตรงนี้เราก็จะต้องปรับ
คนทำงานในกองบรรณาธิการต้องมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงของรัฐและทุน เจ้าของธุรกิจที่ทำสื่อเองก็ต้องเข้าใจว่า สื่อไม่ได้เป็นแค่ธุรกิจที่มุ่งหวังกำไรอย่างเดียวเพราะสิ่งสำคัญที่สุดคือกำไรของสังคม
สื่อมีผลต่อสังคมอย่างมากในการช่วยยกระดับสังคมให้สูงขึ้นหรือทำให้สังคมตกต่ำถดถอยลง เจ้าของสื่อจะคิดแต่เรื่องยอดขาย โฆษณา ผลกำไร ไม่ได้แล้ว แต่ต้องรู้ว่านี่คือธุรกิจที่ยืนอยู่บนผลประโยชน์ของประชาชน
ผมเคยพูดกับน้องๆนักข่าวว่า ถ้าคิดอยากรวยอย่ามาทำงานสื่อ ไปทำธุรกิจดีกว่า แต่ถ้าคิดจะทำสื่อจะต้องมีจิตวิญญาณ มีจิตสำนึกทำเพื่อส่วนรวมเพื่อสังคม นายทุนสื่อก็เช่นเดียวกันต้องมีสำนึกนี้ แล้วก็จะต้องให้กองบรรณาธิการมีความเป็นอิสระ
แต่ต้องแยกความเป็นอิสระระหว่างคนทำงานสื่อกับนายทุน แล้วก็มีประชาชนที่คอยกำกับดูแลอยู่ในขั้นสุดท้าย ประชาชนจะต้องมีความรู้เท่าทันสื่อ จะต้องมีการรวมตัวกันคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หากไม่ได้รับความเป็นธรรม องค์กรสื่อก็ต้องจัดการกัน หาทางแก้ไขปัญหาเพื่อเรียกความเชื่อมั่น เรียกความศรัทธาของสังคมกลับคืนมา
สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือ สื่อได้รับความเชื่อมั่นและศรัทธาจากสาธารณะชนและมีความเป็นอิสระ มีเสรีภาพในการทำงาน มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น มีมาตรฐานที่สูง และมีจิตสำนึกที่ดี
@ ฉะนั้น หัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อคือะไรครับ
หัวใจสำคัญของการปฏิรูปสื่อก็คือ เสรีภาพบนความรับผิดชอบ การกำกับดูแลกันเองที่เป็นจริง มีคุณภาพ มีความเป็นมืออาชีพ ซึ่งตรงนี้จะทำให้ประชาชนและศรัทธาเชื่อมั่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ สถาบันสื่อจะอยู่ในใจคนหรือไม่ หรือแค่รู้สึกว่าสื่อเป็นสินค้าธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรเลยกับเขา ขึ้นอยู่กับเรื่องเหล่านี้
@ หน้าที่สำคัญของสื่อคือการตรวจสอบ คิดว่าสื่อในปัจจุบันทำหน้าที่นี้อย่างที่ควรจะเป็นหรือยัง
ผมคิดว่ายังไม่เต็มที่นัก บทบาทในการตรวจสอบโดยเฉพาะเรื่องการทุจริค หรือการกระทำของรัฐที่ไม่ชอบมาพากลทั้งหลาย ที่ผ่านมาสื่อมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้แต่อาจจะยังไม่เต็มที่ หลายครั้งที่นักการเมืองทำผิด สื่อมีบทบาทในการตรวจสอบ เปิดโปง และนำไปสู่การตรวจสอบโดยหน่วยงานตรวจสอบ เช่น ป.ป.ช. แต่ก็ยังน้อยมาก
ภาพรวมของคนทำงานสื่อที่ทำงานในเชิงสืบสวนสอบสวน ตรวจสอบ ตีแผ่ แล้วนำไปสู่การแก้ปัญหายังมีน้อย แต่สวนหนึ่งก็อาจขึ้นอยู่กับนโยบายสื่อรวมทั้งคุณภาพคนทำงาน ฉะนั้นก็น่าจะมีการปรับบทบาทในการตรวจสอบ บทบาทหมาเฝ้าบ้านควรจะยังมีอยู่ ถ้าสื่อไม่ทำหน้าที่นี้ ประชาชนเขาจะเป็นหมาเฝ้าบ้านเอง และไม่สนใจใยดีกับสื่ออีกต่อไป