ดร.พนัส ปลุกภาครัฐแสดงบทบาทนำ หลังเอกชนแสดงพลังเข้มแข็ง ‘ต้านโกง’
'ประมนต์ สุธีวงศ์' ขอคนในสังคมรักษากระแส ต้านโกง ให้เป็นวัฒนธรรม หวั่นแฟชั่นจุดติดขึ้นมา แล้วแผ่วไป ยันอนาคตพยายามให้รัฐบาลใหม่รับรู้ปชช.ต้องการให้สานต่อต้านคอร์รัปชั่น ต้องจี้ทำจริง-อย่างยั่งยืน
วันที่ 16 ตุลาคม 2557 แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Collective Action Coalition Against Corruption หรือ CAC) จัดงานสัมมนาประจำปี National Conference on Collective Action Against Corruption ครั้งที่ 5 ภายใต้หัวข้อ “Tackling Corruption through Public-Private Collaboration” ณ ห้องคริสตัลฮอลล์
ดร.พนัส สิมะเสถียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานกรรมการ CAC กล่าวเปิดการสัมมนาตอนหนึ่งถึงการมีเครือข่ายบริษัทที่มีความมมุ่งมั่นทำธุรกิจที่มีความสะอาด โปร่งใสกว้างขวางมากขึ้นนั้น จะเป็นการช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกระบวนการต่อสู้คอร์รัปชั่นในภาคเอกชนให้มีพลัง แต่การจัดการปัญหานี้ให้ประสบความสำเร็จในสังคมไทย ต้องอาศัยความร่วมมือ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ต้องมุ่งมั่น จริงใจในการร่วมมือกัน
“การที่ภาคเอกชนร่วมกันจัดตั้งแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือมีพลัง หากปราศจากความร่วมมือจากภาครัฐ ซึ่งถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐต้องกลับมาเป็นฝ่ายนำและเพิ่มบทบาทของตัวเองให้รับกับภาคเอกชนด้วย”
ดร.พนัส กล่าวถึงสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะรัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น และการที่หัวหน้ารัฐบาลได้เน้นย้ำกับข้าราชการ และหน่วยงานของรัฐถึงจุดยืนที่ชัดเจนในการต่อต้านคอร์รัปชั่น และพร้อมดำเนินการขั้นเด็ดขาด กับผู้กระทำผิดในเรื่องนี้นั้น เป็นนิมิตรหมายที่ดี ดังนั้น หวังว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐจะทุเลาลงในไม่ช้า
ขณะที่นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการที่เคยมีการเปรียบคอร์รัปชั่นในประเทศไทยเป็นมะเร็งร้าย ซึ่งหากเป็นมะเร็งจริงต้องตายไปแล้ว คอร์รัปชั่นบ้านเราน่าจะเปรียบเหมือนเป็น โรคเบาหวานร้ายแรงทรมาณมากไม่ตายสักที ทั้งๆที่ยุคปัจจุบันภาคเอกชนตื่นตัวกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมากมาย ขณะที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ให้ความสำคัญและมีแนวคิดแน่วแน่กับเรื่องนี้ ซึ่งแม้แต่เรื่องเล็กๆ เช่น กรณีไมโครโฟน หรือการรั่วไหลของงบประมาณ
ในส่วนของกระทรวงการคลัง นายสมหมาย กล่าวโดยยอมรับ กระทรวงการคลังมีการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นเป็นรายวัน โดยเฉพาะกับการเก็บภาษี ขณะที่ขั้นตอนการปฏิบัติงานก็เอื้อให้เกิดการทุจริต โยงทั้งกรมสรรพากร และกรมศุลากร ซึ่งพยายามปฏิรูประบบการเก็บภาษีของประเทศเพื่อปิดช่องโหว่อยู่ รวมถึงจะมีการปรับปรุง ยกเครื่อง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างธรรมาภิบาล การออกกฎหมายมากำกับการทำงานของรัฐวิสาหกิจ แทนคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซุปเปอร์บอร์ด)
สำหรับความพยายามสร้างความโปร่งใสการก่อสร้างโครงการของรัฐนั้น รมว.คลัง กล่าวว่า ซุปเปอร์บอร์ดเห็นชอบนำระบบ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) มาใช้กับโครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลทุกขั้นตอน มีการติดตามการประเมินงาน โดยคณะกรรมการร่วมภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ไม่เว้นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ก็จะนำสัญญาคุณธรรมมาใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างรถเมล์เอ็นจีวี ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และโครงการรถไฟฟ้า เป็นต้น รวมถึงมีระบบการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการทุจริตคอร์รัปชั่นในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างว่า เป็นขั้นตอนที่มีการรั่วไหลเป็นอย่างมาก แม้มีประกาศราคากลาง ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้แล้วก็ตาม แต่ในอนาคตจำเป็นต้องมีการปรับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ยกขึ้นให้เป็นกฎหมาย รวมถึงนำสัญญาคุณธรรม เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างด้วย
ขณะที่นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวถึงการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้เป็นเรื่องของคนใดคนหนึ่ง ทำลำพังไม่ได้ ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งระบบ เพราะกระทบทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
“น่ายินดีที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ รับลูก ประกาศการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น เป็นวาระแห่งชาติ” นายประมนต์ กล่าว พร้อมกับเชื่อว่า รัฐบาลนี้น่าจะทำเรื่องนี้จริงจัง รวมถึงหน่วยงานราชการต่างๆ มีการทำงานอย่างเข้มงวด แต่การปรับปรุงกฎหมายหลายฉบับนั้นยังไม่พอ เพราะปัญหาใหญ่คือการบังคับใช้กฎหมาย ทำอย่างไรให้มีการบังคับใช้กฎหมายเป็นธรรม สม่ำเสมอ และจริงจัง
ทั้งนี้ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นฯ ยังกล่าวถึงการทำงานที่ภาคเอกชนเข้าไปช่วยภาครัฐ ทั้งในกระบวนการสร้างความโปร่งใส เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การนำเครื่องมือ CoSt รวมถึงสัญญาคุณธรรมมาใช้ เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูล เข้าใจ และสามารถตรวจสอบได้
“ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ร่วมกับภาคเอกชนกำลังจัดทำมาตรฐานการให้บริการภาครัฐ โดยจะนำ 40 กรม มาศึกษาว่า มีการให้บริการที่ยุ่งยาก เยิ่นเย้อ ยืดยาวอย่างไร แล้วจะตัดทอนลงได้อย่างไร ให้กระบวนการให้บริการภาครัฐสั้นลง หวังว่า ในอนาคตการบริการของรัฐจะรวดเร็ว และไม่มีการเรียกรับสินบน ”
นายประมนต์ กล่าวด้วยว่า ในระยะยาวขอให้ภาครัฐทำการรณรงค์การทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กและเยาวชนในอนาคต เหมือนที่ประเทศฮ่องกงทำมาระยะเวลากว่า 30 ปี เพื่อให้คนรุ่นใหม่ไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน รวมทั้งหวังว่า รัฐบาลจะสามารถหาทางออกที่ถาวรให้กับการทุจริตภาครัฐได้ เพราะกลไกที่มีแล้วในขณะนี้ กำลังปรับปรุง แก้ไขกฎระเบียบต่างๆ จะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลชุดต่อไปรับไม้ต่อ นำไปปฏิบัติตาม ที่สำคัญผู้นำต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
“ปฎิรูปครั้งนี้แม้จะมีระยะเวลาสั้น ก็ยังมีความหวัง จะทำหลายสิ่งหลายอย่าง แม้จะทำไม่หมดทุกสิ่งก็ไม่เป็นไร และขอร้องให้ช่วยรักษากระแสสังคมต้านโกง ให้เป็นวัฒนธรรม อย่าให้เป็นแค่กระแสแฟชั่นจุดขึ้นมาและแผ่วหายไป ทั้งนีั้พยายามทำให้รัฐบาลที่จะเข้ามา รับรู้ประชาชนต้องการให้สานต่อนโยบายด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น และเข้มงวดกับการปราบคอร์รัปชั่น หากเราสามารถรักษาอุดมการณ์นี้ได้ ประเทศไทยก็จะประสบความสำเร็จเหมือนหลายๆ ประเทศ แม้วันนี้จะไม่เห็นอะไรชัดเจน แต่ความจริงจังของผู้นำรัฐบาลก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี”
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ภายในงานยังมีพิธีมอบใบรับรองแก่บริษัทที่ได้รับการรับรองว่ามีนโยบายและแนวปฏิบัติป้องกันการทุจริตภายในองค์กรครบถ้วน ตามเกณฑ์ที่ CAC กำหนดจำนวน 40 บริษัท และปัจจุบันมีบริษัทที่ผ่านการรับรองจาก CAC แล้วทั้งสิ้น 78 บริษัท
CAC เป็นโครงการที่บริษัทเอกชนเข้าร่วมตามความสมัครใจ เมื่อสิ้นไตรมาส 3 มีบริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์แล้ว 367 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียน 179 บริษัท โดยมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วยเป็นจำนวนมาก