“หม่อมอุ๋ย”จี้สปช.สกัดประชานิยม - “เอนก”เชื่อปชต.ไทยเกิดได้อย่าลอกเลียนฝรั่ง
"หม่อมอุ๋ย" จี้ สปช.สกัดประชานิยม กันคนไม่ดีออกจากระบบ ชี้ ระบอบใดไม่สำคัญเท่า "ธรรมาธิปไตย" ด้าน "ศ.ดร.เอนก" แนะประชาธิปไตยไทยต้องไม่ลอกเลียนแบบใคร ควรกล้าที่จะสร้างหลักนิยมของตนเองขึ้นมา
เมื่อค่ำวันที่ 15 ตุลาคม 2557 ที่โรงแรมรามาการ์เดน มูลนิธิพฤษภาประชาธรรมจัดงานปาฐกถาระดมทุนสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิภายใต้หัวข้อทิศทางประเทศไทย โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ, ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ อธิการวิทยาลัยบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิตและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกล่าวปาฐกถา
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร กล่าวในตอนหนึ่งว่าหลายประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยมีจุดจบของประชาธิปไตยอยู่ที่ประชานิยม ขอฝาก สปช.ไว้สองประการ ประการแรก ถ้าท่านจะให้ประชาธิปไตยรอดอย่าให้ประชานิยมเอาไปปู้ยี่ปู้ยำจนเอาไม่อยู่ ประการที่สอง คือ ขอให้มีกฏเกณฑ์ที่จะกันคนไม่ดีออกไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวยกตัวอย่างประเทศสิงคโปร์ด้วยว่า หากถามว่าสิงคโปร์เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่เขาดีได้ เพราะอะไร ไม่ใช่เพราะการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่เขาดีได้ด้วยคุณธรรม เป็นระบอบที่ตั้งอยู่บนคุณธรรม ลีกวนยู ผู้นำสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เขาจะเตรียมปลูกฝังจิตสำนึกให้แก่ข้าราชการที่จะเตรียมมาเป็นนักการเมือง
“ผมได้อ่านที่ท่านพุทธทาสเขียนไว้ว่าหลักสำคัญคือ ธรรมาธิปไตย ซึ่งก็คือ อธิปไตยที่ตั้งอยู่บนรากฐานของคุณธรรม
ไม่ว่าระบอบอะไรก็ตาม ประเทศนั้นๆ จะสงบได้ ถ้าตั้งอยู่บนคุณธรรม” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุ
ด้านศ.ดร.เอนก กล่าวถึงประชาธิปไตยไทยและประชาธิปไตยโลก ระบุตอนหนึ่ง ยกตัวอย่างว่า ประชาธิปไตยมิได้เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่โลกตะวันตกอย่างเช่นกรุงเอเธนส์ของกรีกอย่างที่เข้าใจกันเสมอไป แต่ประชาธิปไตยเริ่มขึ้นนานแล้วในดินแดนเอเชีย เช่น อินเดียในอดีตในแว่นแคว้นของพระพุทธองค์ ก็มีการลงประชามติ ดังในรัชสมัยของพระเจ้าสุทโธทนะ พระองค์นับเป็นราชาที่โดดเด่น แต่ไม่ใช่ราชาที่ผูกขาดอำนาจ ทว่า พระเจ้าสุทโธทนะเป็นราชาที่ถือหลักแห่งสามัคคีธรรม เหล่านี้สะท้อนถึงหลักประชาธิปไตยที่ต่างจากตะวันตก
"ดังนั้น หากไทยเราจะเป็น ประชาธิปไตยแล้ว ถามว่าจะเป็นไปได้หรือเปล่า เบื้องต้น ผมเห็นว่าเราน่าจะเป็นประชาธิปไตยได้ แต่ไม่ใช่เพราะเลียนแบบฝรั่ง แต่มารดาของเราในเรื่องนี้คืออินเดีย สังคมพุทธก็เป็นประชาธิปไตยมาแต่อดีต เราจึงไม่จำเป็นต้องมีปมด้อยเรื่องประชาธิปไตย”
ดร.เอนกกล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ของผูกขาดเพียงแค่ของโลกตะวันตก แม้แต่ในโลกตะวันตกเอง ประชาธิปไตยก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี และระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี ดังนั้น ไทยก็ต้องหาประชาธิปไตยในแบบของตนให้พบ
“เรื่องประชาธิปไตยจึงไม่ใช่การลอกเลียนมา หากไม่กล้าเสนอหลักนิยมใหม่ๆ เสนอหลักนิยมของตนเองขึ้น ก็ไม่สามารถสร้างหลักนิยมของตนเองขึ้นมา ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้ว ที่เราจะสร้างระบบของเราขึ้นมา” ดร.เอนกระบุ