"นิฟาริด ระเด่นอาหมัด" สปช.ปัตตานี ดันปฏิรูปการศึกษาแก้ปัญหาใต้
กว่า 1 สัปดาห์หลังการประกาศชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีไอเดียการปฏิรูปด้านต่างๆ ทะลักหน้าสื่อทุกแขนง แต่ส่วนใหญ่คนที่ได้แสดงวิสัยทัศน์จะเป็น สปช.ที่มีชื่อติดหูติดตาประชาชนอยู่แล้ว และเป็นตัวแทนจาก 11 ด้านที่ได้มาจากคณะกรรมการสรรหากลาง
ส่วน สปช.ที่เป็นตัวแทนจังหวัดมีพื้นที่ในสื่อน้อยกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะสื่อเองก็ยังไม่ทราบว่า สปช.จากแต่ละจังหวัดนั้น ถนัดด้านใด
แต่สำหรับ จ.ปัตตานี ชื่อของ ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด ในฐานะ สปช.ป้ายแดง แม้ไม่ได้โด่งดังระดับประเทศ แต่ก็มี "ตำแหน่งแห่งที่" ของตนชัดเจน คือ เป็นรองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ที่สำคัญตระกูล "ระเด่นอาหมัด" ยังเป็นตระกูลเก่าแก่ของปัตตานี เมื่อประกอบกับความเป็นครูบาอาจารย์ที่ต้องคลุกคลีอยู่กับนักศึกษาจากหลากหลายที่มา ยิ่งเชื่อได้ว่า ผศ.นิฟาริด เป็นบุคคลที่รู้จริงเกี่ยวกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คนหนึ่ง
ความคิดความเห็นของเขาเกี่ยวกับงานปฏิรูปและงานดับไฟใต้จึงน่าสนใจไม่น้อย...
"ตอนสมัครผมไปสมัครวันสุดท้าย เป็นคนที่ 27 จากผู้สมัคร 28 คนของปัตตานี สาเหตุที่สมัครเพราะผู้ใหญ่บอกว่าจะได้มีตัวเลือก ก็เลยไปสมัคร เมื่อถึงตอนคัดเลือก 5 คนสุดท้าย (ก่อนส่งชื่อ 5 คนให้ คสช.) ก็ไม่ทราบว่าเข้ารอบหรือไม่ มารู้จนเมื่อเขาประกาศว่าได้เป็น สปช. ก็รู้สึกตกใจเพราะเป็นคนโนเนม"
เมื่อให้นิยามตัวเอง นิฟาริด บอกสั้นๆ ว่า เป็นคนทำงานด้านการศึกษา แต่เนื่องจากไม่ได้คาดคิดว่าจะได้รับเลือกเป็น สปช.ในท้ายที่สุด ช่วงแรกจึงหนักใจอยู่เหมือนกัน รวมทั้งการที่ยังดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี ม.อ.ปัตตานี อยู่ด้วย
"คิดอยู่ว่าจะทำงานอย่างไร ก็เลยไปปรึกษาท่านอธิการบดี และรองอธิการวิทยาเขต ทั้งสองท่านบอกว่าไม่ต้องหนักใจกับการทำงานในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นปลายสมัย ให้ประคับประคองทำควบคู่กันไปกับ สปช.โดยไม่ต้องลาออก เมื่อมีการประชุมสภา สปช. ค่อยให้รองอธิการบดีคนอื่นมารักษาการแทน"
คสช.วางกรอบการปฏิรูปไว้ 11 ด้าน ถามว่าสนใจด้านไหน ผศ.นิฟาริด บอกว่า ต้องรอตัวแทนจังหวัดจัดกันอีกครั้ง แต่หากได้ไปอยู่ด้านการศึกษาก็จะตรงกับความรู้ความสามารถ
"จากการไปรายงานตัวที่อาคารรัฐสภา ก็ได้การบ้านมาจากโรดแมพที่ทาง คสช.จัดทำเป็นเอกสารเอาไว้ ผมเองคงต้องดูรายละเอียดของพื้นที่ด้วยว่าจะชัดเจนตรงไหน อาจต้องมีการจัดสัมนาวงเล็กเพื่อนำประเด็นในพื้นที่สามจังหวัดมาคุยกัน โดยตัวแทน สปช.จาก 77 จังหวัดยังไม่ได้จัดกันเลยว่าใครจะอยู่ด้านไหนใน 11ด้าน คงต้องทำหลังจากเปิดประชุมสภานัดแรกวันที่ 21 ต.ค.นี้"
"สำหรับการประชุม สปช.นัดแรก ต้องมีหนังสือประกาศเปิดประชุม สปช.ก่อน แล้วให้สมาชิกที่มีอายุมากที่สุดขึ้นทำหน้าที่ประธาน เพื่อจัดให้มีการคัดเลือกประธานและรองประธาน สปช.ตัวจริง จากนั้นก็จัดตั้งคณะกรรมาธิการ อนุกรรมาธิการ โดยส่วนตัวหากได้อยู่ด้านการศึกษาก็จะดีมาก เพราะเป็นด้านที่ถนัด แต่ด้านนี้ก็มีคนสนใจกันมาก คงต้องรอดูกันอีกที"
เมื่อพลิกดูประเด็นปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ไม่พบว่ามีด้านใดเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยตรง จึงน่าคิดไม่น้อยว่า สปช.จากสามจังหวัดจะผลักดันอะไรเป็นพิเศษเพื่อให้ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ด้วยหรือไม่ เรื่องนี้ ผศ.นิฟาริด บอกว่า เรื่องการศึกษาเป็นประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับพื้นที่ค่อนข้างมาก เพราะคนในพื้นที่ต้องการให้จัดการศึกษาสอดคล้องกับหลักศาสนา ได้ประกอบศาสนกิจครบ ควบคู่กับการเรียนรู้เรื่องโลก เรื่องอาชีพ พร้อมกับความรู้ที่เท่าทันสิ่งใหม่ๆ
"ผมอยากให้มีการปฏิรูปการศึกษา โดยให้มีครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านลงมาสอนเด็กในพื้นที่มากกว่านี้ เคยเสนอว่าช่วงปิดเทอมให้ครูทุกคนได้เติมความรู้ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมหาวิทยาลัยทุกจังหวัด น่าจะช่วยเรื่องนี้ได้"
"ถ้าเรามีงบประมาณ ก็จัดเป็นภาคบังคับให้ครูทุกคนมาเติมความรู้ทางวิชาการ และวิธีการสอนผ่าน active learning (การเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เป็นกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้กระทำ) เน้นการปฏิบัติในชุมชน ไม่ใช่ไปลอกจากประเทศอื่น แต่นำมาปรับและประยุกต์ใช้ให้เข้ากับวิถีชีวิตของบ้านเรา"
ส่วนการจับมือกับ สปช.จากยะลา และนราธิวาส ที่ถือว่ามาจากภูมิภาคเดียวกัน และประสบปัญหาเดียวกัน ตลอดจน สปช.ที่เป็นมุสลิมคนอื่นๆ นั้น ผศ.นิฟาริด บอกว่า การเป็นมุสลิมทำให้สามารถลงลึกในการให้รายละเอียดเมื่อจะนำเสนอเรื่องใดก็ตามที่เกี่ยวข้อง แต่ตอนนี้ยังไม่รู้จักใคร คิดว่าเมื่อเปิดสภาแล้วจะคุยกันในวงสามจังหวัด ห้าจังหวัด และกลุ่มมุสลิม เพื่อรวมเครือข่ายให้สามารถทำประโยชน์ต่อพื้นที่และภาพรวมของประเทศได้
"สิ่งที่อยากทำและจะทำตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน สปช. คือ การสร้างหน้าเพจหรือเว็บไซต์เพื่อรับทราบความคิดเห็น ตลอดจนข้อเสนอแนะในกลุ่มสามจังหวัด เพื่อแลกเปลี่ยน สื่อสาร เก็บเกี่ยวประเด็นที่เป็นประโยชน์ ทุกคนสามารถนำเสนอและหาคำตอบได้ พร้อมเชิญสื่อมวลชนมาพูดคุยกัน ที่สำคัญผมยังเป็นครูเหมือนเดิม"
เป็นสัญญาประชาคมพร้อมจุดยืนเปิดกว้างให้เกิดการมีส่วนร่วมของ สปช.จากปัตตานีที่เชื่อว่าจะสร้างทั้งสีสันและสาระในสภาปฏิรูปได้ไม่น้อยทีเดียว!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ผศ.นิฟาริด ระเด่นอาหมัด