นักเศรษฐศาสตร์หนุนปฏิรูป ศก.-ดัน พ.ร.บ.การเงินการคลัง หวังสกัดประชานิยม
‘ดร.วิรไท สันติประภพ’ คาดหวังปฏิรูปประเทศ ช่วยกำหนดทิศทางรากฐานระยะยาว จี้เร่งผลักดัน พ.ร.บ.การเงินการคลัง-การอำนวยความสะดวกอนุญาตทางราชการ เชื่อรัฐประหารครั้งนี้จะได้กม.ที่ดี
ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ เปิดเผยถึงการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้คนไทยมีชีวิตที่ดีและยั่งยืนว่า ไทยประสบปัญหาหมักหมมแทบทุกด้านมาเป็นเวลานาน ขณะที่โลกได้เปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นการปฏิรูปที่จะเกิดขึ้นครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยวางรากฐานเป็นพลวัตและต่อเนื่องในระยะยาว แต่คงไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาชัดเจนได้จะเสร็จสิ้นในช่วงเวลาใด
ทั้งนี้ การวางรากฐานการปฏิรูปทำได้หลายรูปแบบ โดยเฉพาะกรณีการวางระบบกฎหมายที่จะช่วยกำหนดทิศทางให้ประเทศก้าวเดินไปอย่างถูกต้อง ซึ่งสภาวการณ์เช่นนี้เอื้อให้เกิดการผลักดันกฎหมายต่าง ๆ ได้ง่าย เนื่องจากไม่มีปัญหาการเมืองเป็นอุปสรรคเหมือนที่ผ่านมา รวมถึงได้เปิดโอกาสให้คนเสนอกฎหมายอื่นอีก โดยท้ายที่สุด เชื่อว่าน่าจะเกิดกฎหมายที่ดีขึ้นมา
ส่วนกฎหมายใดที่สมควรจะเร่งผลักดันนั้น ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ ระบุถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเงินการคลังของรัฐ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2540 แต่ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดเสนอกฎหมายฉบับดังกล่าวเลย เพราะหวั่นว่าจะมัดมือมัดเท้าตนเอง และทำให้ไม่สามารถดำเนินนโยบายประชานิยมได้อย่างอิสระ
นอกจากนี้ยังมีร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตทางราชการ เพื่อให้กระบวนการขออนุญาตต่าง ๆ มีกฎเกณฑ์และความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
“ที่ผ่านมาการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) มีปัญหาค้างนับพันใบ ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และเป็นโอกาสให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้ ซึ่งหากผลักดันสำเร็จจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” ดร.วิรไท กล่าว และว่าอย่าลืมการรัฐประหารครั้งที่แล้ว เราก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเวลานั้น คือ พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2551 ช่วยให้เกิดความอิสระในการดำเนินนโยบายของธนาคาร เกิดความรับผิดชอบ ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้จะไม่ถูกให้ความสำคัญจากการเมืองสภาวะปกติมากนัก
ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ ยังกล่าวถึงกรณีอาจมีการต่อต้านแนวทางการปฏิรูปดังกล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างย่อมมีแรงต่อต้านแน่นอน เพราะโดยธรรมชาติของคนย่อมไม่ชอบให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ฉะนั้นจึงต้องสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันให้ได้ ด้วยการมองไปข้างหน้าว่าเราอยากเห็นประเทศเป็นไปในทิศทางใด ที่ผ่านมา หลายคนเกิดความไม่สบายใจกับสภาพสังคมที่เป็นและเผชิญอยู่ร่วม 5-10 ปี ดังนั้นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลง เเต่ย่อมใช้ระยะเวลาพอสมควรอยู่แล้ว