"กฤษฎีกา"ชงเลิกประกาศ-คำสั่ง "คสช."อำนาจทับซ้อนก่อนเกิดปัญหารุนแรง
"กฤษฎีกา"ห่วง "ประกาศ-คำสั่ง" ตั้งคนในคสช.-ขรก.รับผิดชอบงานแทนรมต.คุมงาน"คกก.เศรษฐกิจ"ชุดสำคัญ ทำสับสนการปฏิบัติหน้าที่ บางฉบับอาจสร้างปัญหารุนแรง หลังมีรัฐบาลเป็นทางการแล้ว ชง "ประยุทธ์" สะสางด่วน!
จากกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกลาวมีสถานะเป็นกฎหมายหรือไม่ และหากจะมีการแก้ไของค์ประกอบ รายชื่อ หรืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามประกาศหรือคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกลาวเพื่อกลับไปสู่หลักการตามกฎหมายเดิมจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร นั้น
(อ่านประกอบ: ไขคำตอบ"ประกาศ-คำสั่งคสช."มีสถานะเป็นกฎหมายทั้งหมดหรือไม่)
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า ในการตอบความเห็นทางกฎหมาย ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับสถานะของประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติบางฉบับ ดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นจำนวนมาก ได้แต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นกรรมการบ้าง ให้ปลัดกระทรวงเป็นกรรมการแทนที่รัฐมนตรีบ้าง ซึ่งอาจจำเป็นในระหว่างที่ยังไม่มีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี บัดนี้ มีคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว จึงเป็นการสมควรที่จะต้องรีบเร่งพิจารณาคำสั่งแต่ละฉบับว่าจะยังให้คงอยู่ต่อไป หรือสมควรจะปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเข้ามารับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือปลัดกระทรวงต่อไป มิฉะนั้นจะเกิดความสับสนในการปฏิบัติหน้าที่ได้
นอกจากนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ยังได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 105/2557 เรื่อง การแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 ว่า แม้ประกาศฉบับนี้จะกำหนดให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศนี้ มีวาระอยู่ในตำแหน่งตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าต้องการให้มีผลเป็นการแก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 เป็นการชั่วคราว แต่การกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศฉบับนี้อาจเกิดปัญหาในอนาคตหากบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการโดยชื่อต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ จะมีผลให้ไม่สามารถตั้งผู้อื่นแทนได้
ส่วนประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 120/2557 เรื่อง ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 61/2557 และแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2557 , คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 54/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557, คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 55/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 56/2557 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2557
คณะกรรมการกกษฎีกา มีความเห็นว่าประกาศและคำสั่งเหล่านี้ ได้เปลี่ยนแปลงหรือสร้างโครงสร้างของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องขึ้นใหม่ให้ผิดไปจากที่เป็นอยู่ตามปกติ โดยกำหนดให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นประธานกรรมการแทนนายกรัฐมนตรี และผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือปลัดกระทรวงเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการแทนรัฐมนตรี ซึ่งบัดนี้มีรัฐธรรมนูญใช้บังคับแล้ว และมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว จะสมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเข้ารับผิดชอบแทนผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือไม่
นอกจากนั้น ประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวมีบางฉบับก่อให้เกิดคณะกรรมการคู่ขนานกันจนไม่ทราบได้ว่าคณะกรรมการชุดใดจะรับผิดชอบหรือมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่แท้จริง หากประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้ยังมีผลใช้บังคับต่อไป จะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงในทางปฏิบัติได้ จึงสมควรยกเลิกประกาศหรือคำสั่งเหล่านี้โดยเร็ว และหากต้องการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเป็นอย่างไร ก็สมควรดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทนต่อไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google