ลั่นจะปฏิรูปการศึกษาให้ได้ "พล.ร.อ.ณรงค์" เห็นด้วยโยกโรงเรียนสังกัด อปท.
"พล.ร.อ.ณรงค์" เห็นพ้องหลักการโยกโรงเรียนสังกัด อปท. -ปรับโครงสร้าง ศธ.เล็กลง ลั่นต้องปฏิรูปการศึกษาให้ได้ในรัฐบาลนี้
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2557 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ เเจ้งวัฒนะ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน จัดงานประชุม เรื่อง “การปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ” โดยมีพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธาน
พล.ร.อ. ณรงค์ กล่าวถึงการปฏิรูปการศึกษา โดยเห็นด้วยในหลักการนำโรงเรียนให้อยู่ภายใต้การดูเเลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เเต่จะต้องกลับมาดูระบบการบริหารจัดการปัจจุบันของ อปท.มีคุณภาพหรือไม่ด้วย ซึ่งการระบุเช่นนี้มิได้ต้องการดูถูกเเต่อย่างใด เพราะบางพื้นที่ก็มีคุณภาพ ดังนั้นเพื่อให้มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนระบบการเมืองท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)
“เมื่อไม่นานผมได้ข่าวว่าโรงเรียนที่ก่อนหน้านี้เคยเลือกไปอยู่กับ อปท.อยากจะกลับมาอยู่กับกระทรวงศึกษาธิการ ตรงนี้หมายถึงอะไร ชี้ถึงอะไร ท่านมั่นใจได้มากแค่ไหนถึงประสิทธิภาพ” รมว.ศธ.กล่าว
สำหรับโครงสร้างของการบริหารจัดการศึกษาของส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่นนั้น พล.ร.อ. ณรงค์ กล่าวว่า โครงสร้างของส่วนกลางที่แบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ กลุ่มนโยบายการศึกษา กลุ่มปฏิบัติการทางการศึกษา กลุ่มสนับสนุนการจัดการทางการศึกษา และกลุ่มตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการศึกษานั้น สิ่งที่ไม่เห็นในโครงสร้างดังกล่าว คือ การประเมินสถานศึกษา
ทั้งนี้ แม้ว่าหลายโรงเรียนไม่เห็นด้วยกับการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เพราะเป็นภาระของสถานศึกษา แต่ส่วนตัวเห็นว่ายังคงต้องมีระบบประเมินอยู่ เพียงแต่อาจต้องเปลี่ยนรูปแบบเป็นการประเมินที่ได้ข้อเท็จจริง เเละผู้ทำการประเมินต้องมีคุณภาพ
รมว.ศธ. ยังกล่าวถึงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาฯ ที่มีขนาดใหญ่ในมุมมองของหลายฝ่าย จนทำให้การทำงานนั้นล่าช้าและอุ้ยอ้าย ส่วนตัวก็เห็นถึงความอุ้ยอ้ายดังกล่าว ซึ่งกำลังพยายามทำให้โครงสร้างเล็กลง โดยการย้อนกลับไปดูว่าปัญหาเกิดขึ้นตรงไหนและกลับไปแก้ไข
“ผมเชื่อว่าการที่หน่วยงานต่าง ๆ มายุบรวมเป็นกระทรวงศึกษาฯ มีความตั้งใจดี แล้วคิดว่าน่าจะดีขึ้น เเต่สิ่งที่ทำมาได้ 6-7 ปี อย่างไหนไม่เวิร์คก็ต้องเปลี่ยน ซึ่งต้องทำตั้งเเต่ตอนนี้ ในรัฐบาลชุดนี้ ทั้งนี้ หากส่วนรวมเห็นด้วยและคล้อยตาม อาจจะเสร็จภายในปีนี้หรือปีหน้าก็สุดแล้วแต่” พล.ร.อ. ณรงค์กล่าว
สำหรับเเผนการดำเนินงานในอนาคต รมว.ศธ. ระบุว่า สิ่งแรก คือ ให้การบ้านกับหน่วยงานอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และสภาการศึกษา กลับไปไตร่ตรอง พิจารณาถึงการแยกออกจากกระทรวงศึกษาฯ ว่าจะมีผลดีอย่างไร และหากแยกออกแล้วจะมีความคล่องตัวดีขึ้นหรือไม่ โดยให้เวลาเบื้องต้น 1 เดือนในการไตร่ตรอง หลังจากนั้นจะมานำเสนอต่อกระทรวงศึกษาฯ ต่อไป
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญและต้องมีการพัฒนาเป็นระยะ และการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ของครูที่มีประสบการณ์การสอนที่สามารถทำให้เด็กเข้าใจและไม่หลับให้มาถ่ายทอดประสบการณ์กับผู้อื่น โดยการจัด Coaching Team ซึ่งได้อนุมัติสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะเป็นหน่วยงานดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 ต่อไป
ขณะที่การเลื่อนวิทยะฐานะของข้าราชการครูต้องเปลี่ยนระบบในการพิจารณาให้เป็นการประเมินแบบ Out Come โดยประเมินจากเด็กเรียน อาจจะใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือวัดจากคะแนนโอเน๊ต(O-Net) ทั้งนี้ หากเด็กสามารถตอบและทำได้ก็ให้ครูได้เลื่อนวิทยะฐานะไปเลย
“ผมว่าหลายฝ่ายรู้ดีว่าปัญหาคืออะไร หลายท่านรู้ดีกว่าผมเข้ามาทำงานได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่ผมก็สงสัยว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่เห็นมีใครทำอะไร ท่านรู้ปัญหาดีทุกอย่างแล้วทำไมไม่ทำตั้งแต่ก่อนหน้านี้ โดย 3 -4 ปีที่ผ่านมาการประเมินเริ่มต่ำลงเรื่อย ๆ ซึ่งหากเริ่มทำกันน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรในทางที่ดีขึ้น" รมว.ศธ. กล่าว เเละว่า บางครั้งการเขียนในกระดาษดูดี แต่ว่าบางทีเขียนไปก็ต้องหยิกตัวเองไปด้วยว่าต้องตื่นขึ้นมาด้วย เพราะว่าบางครั้งเราอยู่ในอุดมคติตลอด บางครั้งจดแล้วเอาไปทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องเขียนให้อยู่ในความเป็นจริงด้วยพอสมควร