“ธวัชชัย ยงกิตติกุล” พูดแทนนักธุรกิจโดนทุกวี่ทุกวัน “ขมขื่นขนาดไหนจ่ายเพื่อให้ได้งาน”
"ปัญหาคอร์รัปชั่น นักธุรกิจประสบทุกวัน และก็หนักขึ้นหนักขึ้น ที่มีการบอกว่า กินเปอร์เซ็นต์ 15 20 30 40 ผมขอเรียนให้ทราบในที่นี้ หากเป็นโครงการประมูลขนาดเล็ก 3 เท่าก็มี”
“เดิมทีผมไม่ใช่นักธุรกิจ ผมได้ทุนจากนิด้า ไปเรียนหนังสือ และกลับมาสอนหนังสือ 20 กว่าปี ผ่านเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กลับมาสอนหนังสือแป๊บเดียวก็เกิดเรื่องอธิการบดีทำตามใจชอบ คิดจะตั้งใครเป็นคณบดีก็ตั้ง มิหนำซ้ำกำลังลากมหาวิทยาลัยไปรับใช้ทหาร พวกเรานักเรียนทุนก็ก่อการล้มอธิการบดี และจัดให้มีการเลือกตั้งอธิการบดีเป็นแห่งแรก” ดร.ธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สาขาเศรษฐกิจ เล่าในเวทีรำลึก 41 ปี 14 ตุลาคม 2516 ประจำปี 2557 ณ ห้อง LT1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
สำนักข่าวอิศรา ถอดความคำต่อคำ มุมมอง ดร.ธวัชชัย ในหลายๆ ประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการที่คนทั่วไปรู้สึกว่า นักธุรกิจนี่แหละล้มรัฐบาล รัฐบาลได้รับเลือกตั้งจากประชาชนทั่วประเทศ นักธุรกิจอยู่ในเมืองไม่ชอบใจก็ลากทหารเข้ามาปฏิวัติ เสร็จแล้วก็เลือกตั้งใหม่ แล้วก็ทำให้เกิดการปฏิรูปขึ้น
“ผมมองว่าการปฏิวัติ หรือทหารเข้ามา เป็นแค่ปลายเหตุ นักธุรกิจเป็นคนที่ประสบปัญหาคอร์รัปชั่นใกล้ชิด คนกินเงินเดือนประจำ อาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ต้องติดต่อกับส่วนราชการ จะไม่รู้สึกถึงความขมขื่นของการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ทำธุรกิจได้ นักวิชาการเคยไปขอใบอนุญาตสร้างโรงงาน หรือใบอนุญาตอะไรก็ได้ เคยไหมครับ ท่านเคยต้องไปประมูลงานราชการไหม ท่านเคยไปออกของที่การท่าเรือไหม
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่นักธุรกิจประสบทุกวัน และก็หนักขึ้นหนักขึ้น ที่มีการบอกว่า กินเปอร์เซ็นต์ 15 20 30 40 ผมขอเรียนให้ทราบในที่นี้ หากเป็นโครงการประมูลขนาดเล็ก 3 เท่าก็มี”
นี่คือความเป็นจริง ที่ดร.ธวัชชัย บอกว่า โดนทุกวี่ทุกวัน จุดหนึ่งจึงลุกขึ้นโวยวายๆ พอรัฐประหารเข้ามาเราก็ดีใจ “ไม่ใช่เพราะชอบทหาร แต่ไม่เห็นวิธีอื่นที่จะล้มคอร์รัปชั่นเหล่านี้ ในที่สุดเราก็ทราบไม่ว่า เผด็จการทหาร หรือเผด็จการรัฐสภาก็มีคอร์รัปชั่นทั้งนั้น” จนภาคเอกชนคิดว่า เราเป็นจำเลยมานาน เราก็ลุกขึ้นมาเรียกร้องยุติการคอร์รัปชั่น และเป็นที่มาของการก่อตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ได้ทำหน้าที่ปราบปรามคอร์รัปชั่น เพราะไม่มีอำนาจอะไร เราจึงทำโครงการต่างๆ เพื่อไปเปลี่ยนวัฒนธรรมวิธีคิดของเด็ก
“มันลึกมาก บางอย่างเราก็ตีความไม่ออกด้วยซ้ำ ว่านี่คือคอร์รัปชั่นหรือเปล่า เป็นการให้สินน้ำใจ หรือเป็นการให้สินบน จุดนี้จำเป็นต้องไปเปลี่ยนที่คนรุ่นใหม่”
ดร.ธวัชชัย ยังเล่าไปถึงสมัยเป็นนักวิชาการว่า ชอบเสรีภาพ เสรีภาพทางความคิด เสรีภาพในการเขียนอะไรก็ได้ แต่เมื่อมาอยู่ในภาคธุรกิจไม่ใช่แล้ว เราต้องการทำธุรกิจตรงไปตรงมา เราทำได้ แต่วันนี้กลายเป็นเราทำไม่ได้ นอกจากจะไปร่วมกับเขาถึงทำได้
“ตอนก่อนตั้งเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ไปดูธุรกิจอะไรคอร์รัปชั่นมาก ก็ไปชวนมาเข้าพวก ก็ทราบกันดีอุตสาหกรรมก่อสร้างเป็นอันดับแรก เราเดินสายไปจับมือ ประกาศเจตนารมณ์จะไม่คอร์รัปชั่น มีบางรายพูดกับเราอย่างตรงไปตรงมา น้องผมกำลังเลิกอาชีพนี้แล้ว เพราะผมเบื่อเต็มที หากผมประกาศจะไม่คอร์รัปชั่น ผมต้องหยุดเดี๋ยวนี้เลย เพราะจะไม่มีโอกาสได้งานเลยในชีวิตถ้าไม่คอร์รัปชั่น ไม่จ่ายคนอื่นก็จ่าย และถ้าไม่จ่ายและชนะประมูล ผมจะต้องตกนรกทั้งเป็น เพราะทุกขั้นตอนที่มีการส่งมอบงาน ผมจะต้องยากตายวันนั้นเลย อยากตายวันละ 4 ครั้ง จะโดนกลั้นแกล้งทุกขั้นทุกตอน” สมาชิกสปช.สาขาเศรษฐกิจ ย้อนความมาทั้งหมด เพื่อจะบอกว่า ลำดับความสำคัญของภาคเอกชน คือเรื่องคอร์รัปชั่น ขณะที่เรื่องเสรีภาพเป็นเรื่องรอง
“เราเห็นแก่ตัวไม่ปฏิเสธ หากทำธุรกิจตรงไปตรงมาไม่ได้ เสรีภาพไม่มีความหมาย แต่ในที่สุดภาคเอกชนก็ทราบการแก้ปัญหาตรงนี้ มันเห็นแก่ตัว ในที่สุดประเทศชาติไปไม่รอด จำเป็นต้องปฏิรูปประเทศ แม้แต่ด้านเศรษฐกิจผมก็มองว่ายังเป็นเรื่องรอง เพราะผมเชื่อในศักยภาพของภาคธุรกิจว่า ถ้ากติกาชัดเจนโปร่งใส ประเทศไทยไปได้ดีด้วย
การลำดับความสำคัญปฏิรูปประเทศ ต้องจัดการเรื่องคอร์รัปชั่นให้ได้ ปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง รวมถึงให้สปช.ไม่ว่าอยู่ด้านไหนก็ตามทั้ง 11 ด้านต้องคุยกัน”
นอกจากนี้ ดร.ธวัชชัย กล่าวถึงบทบาทของนักวิชาการด้วยว่า ถ้านักวิชาการไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ก็อย่าทำตัวเป็นปัญหา เพราะปัญหาบ้านเมืองทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากนักวิชาการที่อยู่กันคนละแท่ง รวมไปถึงความคิดที่เห็นแก่ตัวของคนในสังคม การศึกษาต้องเปลี่ยนวิธีคิดของคนให้ได้
“การปฏิรูปต้องมองให้กว้างจะมองทะลุให้ 11 แท่งเป็นแท่งเดียวกัน แล้วเราจะได้ประเทศชาติที่น่าอยู่กว่านี้”