รำลึก 41 ปี 14 ตุลา: 25 ปีเทียนอันเหมิน และ 25 ปีกำแพงเบอร์ลิน
วันที่ ๑๔ ตุลา เป็นวันที่มีเสียงเพลง "สู้ไม่ถอย" ซึ่งเป็นเพลงที่ใช้ร้องในการชุมนุมและเดินขบวนในวันก่อนๆ นั้น ดังกึกก้องอยู่ในใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นอย่างไม่รู้เสื่อมคลาย
ผ่านไป ๔๑ ปี เสียงเพลงเดียวกันนี้ยังคงดังก้องอยู่บนท้องถนน ที่ประชาชนผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๕๖-พฤษภาคม ๒๕๕๗ และยังคงก้องอยู่ใตจิตใจของประชาชนที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปบ้านเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทย
เสียงเพลงเพลงนี้ประกาศก้องว่า "เราประชาชน - เราอยู่ที่นี่ - เราสู้ไม่ถอย" เป็นเสียงที่เปล่งแสดงเสียงเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เพียงดังก้องในประเทศไทย แต่ยังเคยดังก้องอยู่ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง ศูนย์กลางการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปในประเทศจีน และที่หน้าโบสถ์นิโคไลที่เมืองไลป์ซิก ศูนย์กลางการชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปของประชาชนชาวเยอรมันตะวันออกเมื่อ ๒๕ ปีก่อน เมื่อ ค.ศ. ๑๙๘๙ (พ.ศ. ๒๕๓๒) เช่นกัน
ในโอกาสที่เรารำลึกถึงเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา เราก็น่าจะหวนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน และที่กรุงไลป์ซิก ในเยอรมันตะวันออกเมื่อ ๒๕ ปีก่อนด้วย
การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปที่ปักกิ่ง ดำเนินไปตั้งแต่กลางเดือนเมษายน ๑๙๘๙ หลังการถึงแก่มรณกรรมของ หู เย่า ปัง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่เป็นความหวังการปฏิรูปของคนหนุ่มสาว การประท้วงขยายใหญ่โต น่าเสียดายที่กลับสิ้นสุดลงด้วยการปราบปรามสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจของจีน เชื่อกันว่า ในครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แต่ถึงทุกวันนี้ก็ไม่อาจทราบจำนวนที่แน่นอนได้
แต่การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปที่เยอรมันตะวันออกซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ๔ กันยายน ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง และกลับได้ผลในทางตรงกันข้าม เริ่มต้นจากประท้วงรัฐบาลที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนร้อยละ ๙๙ จากผู้มาลงคะแนน แต่โดยที่ประชาชนเชื่อว่าเป็นการเลือกตั้งสกปรก ทำให้เกิดการประท้วงขยายตัวแบบปากสู่ปาก จากเมืองไลป์ซิกไปสู่หัวเมืองต่าง ๆ และนำไปสู่การปฏิเสธการปกครอง ด้วยการลักลอบเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศของชนชั้นนำในสังคมจำนวนมาก
ทั้ง ๆ ที่การหลบหนีออกนอกประเทศนั้นถือว่าเป็นการทรยศต่อประเทศชาติ ทรยศต่อสังคมนิยม หากถูกจับได้อาจทำให้ได้รับโทษถึงตาย ผู้ลักลอบหนีออกนอกประเทศก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงขนาดที่ทำให้กลไกของรัฐอ่อนเปลี้ยถึงขั้นทุพพลภาพ ขณะเดียวกันก็เกิดการเดินขบวนที่เรียกว่าการสวดอ้อนวอนเพื่อสันติภาพที่โบสถ์ทุกวันอาทิตย์ และการชุมนุมประท้วงอย่างสงบทุกวันจันทร์ติดต่อกันจนลุกลามกระจายออกไปตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง
หลังการปราบปรามครั้งใหญ่ในจีนในเดือนมิถุนายน ๒๕๓๒ ต่อมาวันที่ ๒ ตุลาคม ปีเดียวกันนั้นเอง ผู้นำของเยอรมันตะวันออกได้เดินทางไปร่วมพิธีฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประกาศว่า เยอรมันตะวันออกจะยืนหยัดอยู่ข้างเดียวกับจีน ทำให้เกิดความหวาดหวั่นขึ้นทั่วทั้งเยอรมันตะวันออกว่า รัฐบาลเยอรมันตะวันออกอาจจะเลือกใช้วิธีปราบปรามสลายการชุมนุมอย่างรุนแรงแบบที่เคยเกิดขึ้นในจีนมาแล้วก็ได้
อย่างไรก็ดี ในวันเดียวกันนั้น ก็ยังมีผู้ร่วมชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปที่เมืองไลป์ซิกจำนวนราว ๒๐,๐๐๐ คน และท่ามกลางความหวาดหวั่นว่ารัฐบาลจะใช้กำลังเข้าปราบปราม ผู้ชุมนุมได้รวมตัวกันอย่างสงบและผนึกกำลังกันอย่างเหนียวแน่นพร้อมเพรียง เตรียมรับสถานการณ์ฉุกเฉินทุกรูปแบบ ทันทีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าควบคุมการชุมนุมได้ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงว่า "นี่คือเสียงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ...." ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ตะโกนตอบโต้ทันทีว่า "เราคือประชาชน... เราคือประชาชน.... เราอยู่ที่นี่.... เราอยู่ตรงนี้..." นั่นเป็นการตอบโต้ว่า ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องฟังประชาชน ... ในค่ำวันนั้นมีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก แต่ไม่มีการใช้อาวุธรุนแรง
ครั้นถึงวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๒ ซึ่งเป็นวันพิธีเฉลิมฉลองครบรอบ ๔๐ ปีของสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน หรือเยอรมันตะวันออก กอร์บาชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ผู้ประกาศนโยบาย Glasnost หรือ "เปิดกว้างรับความเปลี่ยนแปลง" และ Perestroika หรือ "ปฏิรูปปรับโครงสร้างครั้งใหญ่" เดินทางมาเบอร์ลิน เพื่อร่วมพิธีฉลองวันชาติในเยอรมันตะวันออก ขณะที่การต้อนรับของทางการเยอรมันเป็นไปอย่างเย็นชา ประชาชนเยอรมันตะวันออกกลับให้การต้อนรับกอร์บาชอฟอย่างอบอุ่น และร้องตะโกนอย่างกึกก้องว่า "กอร์บี้ ... กอร์บี... กอร์บี้... ช่วยเราด้วย!!"
ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่เบอรลิน กอร์บาชอฟ ได้กล่าวถ้อยคำอมตะว่า "อันตรายย่อมมีมาแก่ผู้ไม่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับความเป็นจริงในชีวิต" และในการปราศรัยต่อพรรคสังคมนิยมเยอรมันตะวันออก เขาได้กล่าวอีกครั้งว่า "ทันที่เราปรับตัวไม่ทัน ตกอยู่ในความล้าหลัง ชีวิตจริงก็ย่อมลงโทษเราเอง" ในวันเดียวกันนั้น บรรยากาศการฉลองวันชาติครบรอบ ๔๐ ปีของเยอรมันตะวันออก ก็ได้แปรสภาพการชุมนุมประท้วงของประชาชนโดยไม่มีการนัดหนายล่วงหน้า ในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรง
จากนั้นอีก ๒ วัน คือวันที่ ๔ ตุลาคม ท่ามกลางบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวว่าจะมีการปราบปรามแบบเดียวกับในจีน แทนที่การชุมนุมจะหดตัวลง กลับเกิดการชุมนุมใหญ่ที่ไลป์ซิก คราวนี้มีผู้ร่วมชุมนุมด้วยหัวใจอันเต้นระทึก พร้อมเผชิญหน้าชะตากรรมอย่างถึงที่สุดเพิ่มเป็น ๗๐,๐๐๐ คน แม้รัฐบาลจะส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือมาควบคุมการชุมนุมถึง ๘,๐๐๐ คน แต่ในที่สุดคุณพระก็คุ้มครอง รัฐบาลตัดสินใจไม่สลายการชุมนุมด้วยกำลัง และให้เจ้าหน้าที่ถอนตัวจากการเผชิญหน้า และในวันที่ ๑๑ ตุลาคม กรรมการกลางพรรคสังคมนิยมประกาศพร้อมเจรจารับฟังความคิดเห็นจากประชาชน
แต่การลักลอบเดินทางออกนอกประเทศกลับขยายตัวออกไป จนในที่สุดรัฐบาลต้องประกาศยอมจำนนต่อกระแสความไม่พอใจของประชาชน ด้วยการประกาศเปิดพรมแดน อนุญาตให้คนเยอรมันตะวันออกเดินทางออกนอกประเทศสู่เยอรมันตะวันตกได้โดยเสรี เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ และวันนั้นจึงนับเป็นวันล่มสลายของกำแพงเบอร์ลิน การยอมเจรจากับผู้แทนประชาชนที่ทำการประท้วงครั้งนั้น นำไปสู่การจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมืองเรียกว่า "สภาโต๊ะกลม" เป็นคู่เจรจากับรัฐบาลและในที่สุด ทั้งสองฝ่ายก็จับมือกันร่วมสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน ก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงปรับตัวครั้งสำคัญ ด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ จนนำไปสู่การรวมประเทศในปีถัดมาในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๓ และได้ชื่อว่าเป็นวันรวมชาติ หรือวันชาติเยอรมันตราบจนปัจจุบัน
๒๕ ปีมานี้ จีนได้ก้าวไปบนเส้นทาง "Socialist Market Economy" หรือระบอบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในระบบตลาด ภายใต้ระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยรวมศูนย์ ในขณะที่เยอรมันตะวันออกรวมกับเยอรมันตะวันตกเข้าสู่อ้อมกอดของ "Social Market Economy" หรือระบอบเศรษฐกิจระบบตลาดที่รับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมที่ถือกฎหมายเป็นใหญ ต่างฝ่ายต่างอ้างตนว่าประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้กันทั่วโลก ในขณะที่ประเทศไทยในรอบ ๔๑ ปีที่ผ่านมา เรายังคงวนเวียนอยู่กับการปฏิรูปการเมือง ล้มเหลว ปฏิรูปใหม่ ล้มเหลวใหม่ และปฏิรูปใหม่อยู่นั่นเอง แต่ก็ต้องยอมรับไว้ด้วยว่าเคียงคู่กับ เพลงสู้ไม่ถอยนั้น ยังมีวลีที่ต้องใช้เตือนใจอยู่เสมอด้วยว่า "สู้...พ่ายแพ้...สู้ใหม่...พ่ายแพ้...สู้ใหม่....จนได้ชัยมา"
ขอบคุณภาพประกอบจาก OK NATION