เปิดวงถกปฏิรูปประเทศ ‘ดร.อมรวิชช์’ เน้นกระจายอำนาจจัดการศึกษาพื้นที่
เปิดวงถกข้อเสนอปฏิรูปประเทศ ปธ.ทีดีอาร์ไอชงเเก้กม.เลือกตั้งให้พรรคการเมืองเเจ้งต้นทุนนโยบายใช้หาเสียง ตั้งสำนักงบประมาณรัฐสภา 'ดร.วิรไท สันติประภพ' ระบุยกเครื่องเศรษฐกิจใหม่ ต้องตั้งเป้าปชช.กินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน เน้นพัฒนาคุณภาพเป็นหลัก เลขาฯ รมช.ศธ.เเนะกระจายอำนาจการศึกษาสู่ท้องถิ่น ผ่าตัดระบบบริหารงานบุคคล
วันที่ 14 ตุลาคม 2557 Eisenhower Fellowships Alumni (Thailand) ร่วมกับ Eisenhower Fellowships จัดสัมมนา ‘ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอะไรและอย่างไร’ ณ ห้องประชุมชั้น 2 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจว่า ต้องตั้งโจทย์ให้ชัดเจนจะปฏิรูปเพื่อให้คนไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืน ภายใต้หลักคิดที่สำคัญ คือ การพัฒนาด้านคุณภาพมากกว่าปริมาณ โดยขณะนี้อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศขยายตัวค่อนข้างต่ำ ทำให้อนาคตจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น คนวัยหนุ่มสาวจึงต้องหารายได้สูงขึ้นเพื่อนำมาดูแลคนกลุ่มนี้ จึงควรทำงานที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการเน้นคุณภาพแทน เพราะด้วยศักยภาพของไทยแล้วไม่สามารถเน้นปริมาณการใช้แรงงานได้อีก
นอกจากนี้ต้องส่งเสริมการแข่งขันระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างโปร่งใสและเท่าเทียม โดยทำอย่างไรให้ภาครัฐมีขนาดเล็กลงในระบบเปรียบเทียบ เพราะการปล่อยให้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จะส่งผลกระทบต่อความสามารถการแข่งขันของภาคเอกชน ทั้งนี้ เราเห็นภาครัฐเป็นผู้กำหนดนโยบาย กำกับดูแล และผู้ประกอบการ ทำให้หลายครั้งที่เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน นำมาสู่ปัญหาต่าง ๆ อาทิ การทุจริตคอร์รัปชัน ระบบราชการเชื่องช้า
สำหรับการมุ่งสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเกิดระบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทุนใหญ่กินทุนเล็ก ฉะนั้นต้องหาวิธีให้เกิดโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม การบริการขั้นพื้นฐาน กระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้
“ต้องสร้างภูมิคุ้มกันระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น ทั้งจากปัญหาทางการเมืองระหว่างประเทศ นโยบายการเงินการคลัง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ราคาสินค้าเกษตรตลาดโลก จนส่งผลกระทบต่อระบบครัวเรือน” ดร.วิรไท กล่าว และว่าขณะเดียวกันควรทำให้เกิดการประสานประโยชน์และแรงจูงใจพลวัต เพราะไทยมีความล้มเหลวเรื่องประสานงาน แนวคิดที่ดีหลายเรื่องไม่สามารถทำให้เกิดผลทางปฏิบัติได้ จึงควรทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน ยึดเป้าหมายเป็นตัวตั้งและสร้างแรงจูงใจ
หนุนตั้งสำนักงบฯ รัฐสภา อิสระฝ่ายบริหาร
ด้านดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงการปฏิรูปธรรมาภิบาลภาครัฐเกี่ยวกับนโยบายประชานิยมว่า การพัฒนาประเทศให้เข้มแข็งมากขึ้น ทำได้ด้วยการเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภา ควบคู่กับการสร้างวินัยทางการคลังจากการสร้างกฎกติกาต่าง ๆ นั่นคือ การแก้กฎหมายเลือกตั้ง เพื่อกำหนดให้พรรคการเมือง ต้องแจ้งต้นทุนทางการคลังของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงต่อประชาชน และเมื่อพรรคการเมืองได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลต้องมีข้อกำหนดห้ามมิให้ใช้เงินทุนในการดำเนินนโยบายนั้นเกินกว่าจำนวนที่แจ้งไว้
การมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็น ‘ธรรมนูญการคลัง’ (Fiscal Constitution) ดร.สมเกียรติ ระบุว่า ต้องกำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินทำตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ เพื่อป้องกันการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ซึ่งฝ่ายนิติบัญญัติจะตรวจสอบไม่ได้ โดยอาจบัญญัติในลักษณะที่คล้ายกับวรรคแรกของมาตรา 169 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 แต่ควรเพิ่มนิยามของคำว่า ‘เงินแผ่นดิน’ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและลดปัญหาการตีความ
ประธาน ทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อว่า การมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดกรอบวินัยทางการคลังด้านต่าง ๆ ในรายละเอียดเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำ ซึ่งรวมถึงหลักเกณฑ์การวางแผนการเงินระยะปานกลาง การบริหารการเงินและทรัพย์สิน กองทุนสาธารณะ การก่อหนี้ เช่นเดียวกับบทบัญญัติในมาตรา 167 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และเร่งรัดการตรากฎหมายดังกล่าวทันทีเมื่อประกาศใช้
ที่สำคัญ ต้องจัดตั้ง ‘สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภา’ (Parliamentary Budget Office:PBO) เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณและการคลังของรัฐสภาที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ท้ายที่สด ในระยะยาว ควรมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยจัดระบบการศึกษาให้มีคุณภาพและทั่วถึง พร้อมจัดสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่าง ๆ
ขณะที่นายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวถึงการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเกิดผลอย่างยั่งยืนต้องจัดกระบวนความคิดของผู้เข้ามามีอำนาจว่า รัฐวิสาหกิจไม่ใช่สมบัติของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของคนไทยทุกคน จึงต้องขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรกำกับดูแลที่มีความอิสระจากภาครัฐ
ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้กระทรวงการคลัง แต่จะเกิดการตรวจสอบที่ดีนั้นต้องปฏิรูปให้เป็นอิสระ อีกทั้ง ต้องมีการกำหนดเครื่องมือวัดผลการดำเนินงานขององค์กร (Key Performance Indicator:KPI) ให้ชัดเจนและเปิดเผยต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส
เลิกเป็นโรคคนวางเเผนคิดเเทนคนปฏิบัติ
สำหรับการปฏิรูปการศึกษานั้น ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงสร้างตลาดแรงงานอีก 5 ปีข้างหน้า มีความต้องการแรงงานจบไม่เกินวุฒิม. 6 สูงถึงร้อยละ 60 วุฒิปวช. ปวส. ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 10 วุฒิปริญญาตรี ซึ่งปัจจุบันเราสอนเด็กให้มีค่านิยมเรียนต่อเรื่อย ๆ ผ่านระบบมหาวิทยาลัย แต่โลกความจริงไม่ต้องการเช่นนั้น จึงต้องเปลี่ยนทิศทางการบริหารจัดการใหม่ โดยทำอย่างไรให้มีการศึกษาเพื่ออาชีพ มิใช่เรียนต่อ
“การกระจายอำนาจมีความสำคัญ เน้นการวางแผนจัดการศึกษาระดับพื้นที่ เลิกเป็นโรคคนวางแผนคิดแทนคนปฏิบัติ”
เลขานุการ รมช.ศึกษาฯ กล่าวอีกว่า ควรแบ่งงบประมาณบางส่วนใช้นำร่องจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ระดับจังหวัด อีกส่วนหนึ่งนำมาทำกองทุนปฏิรูประยะยาว และแนะให้ผ่าตัดระบบงานบริหารงานบุคคลใหม่ โดยเฉพาะเขตพื้นที่การศึกษา 225 เขต ทั่วประเทศ ซึ่งอาจมีผลประโยชน์ให้คนแย่งกันนั่งตำแหน่ง ทั้งที่ได้เบี้ยประชุมไม่กี่บาท
นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยสนใจเพียงการแสวงหาวัตถุเพื่อเสพกันสุดขั้วมาก ฉะนั้นการปฏิรูปวิธีคิดและจิตวิญญาณจำเป็นต้องรื้อระบบการศึกษาครั้งใหญ่ เนื่องจากที่ผ่านมามีการศึกษาเพียงครึ่งเดียว คือ สอนเฉพาะทักษะอาชีพเพื่อแสวงหามาสนองโลภะจิต โดยลืมคุณค่าความหมายของชีวิต แต่จะมาค้นพบเมื่อเข้าสู่วัยชราหรือใกล้ตาย ดังนั้น ต้องจัดการศึกษาให้ครบส่วน ไม่ใช่เหมือนน้ำในรอยควาย ครูสอนเฉพาะสิ่งที่ตนเองถนัด ทั้งนี้ ต้องพัฒนาให้เป็นคน ไม่ใช่สัตว์ พร้อมเรียกร้องให้เร่งฟื้นคืนศีลธรรมให้สังคมโดยเร็ว
สุดท้ายการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ระบุถึงการปฏิรูปสื่อเชิงจริยธรรมว่า ปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกร้อนหนาวกับการทำหน้าที่ของสื่อมากขึ้น และมีการตั้งคำถามถึงเสรีภาพการทำหน้าที่ ซึ่งการปฏิรูปนั้น ส่วนตัวเห็นว่าเมื่อใดที่สื่อไร้เสรีภาพ จะทำให้ขาดความรับผิดชอบเช่นกัน เพราะสื่อมีหน้าที่ตั้งคำถาม ฉะนั้นการไม่ทำหน้าที่จะส่งผลต่อการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน
“เราต้องเพิ่มความรับผิดชอบ และอย่าทำลายเสรีภาพ ส่วนรัฐต้องระมัดระวังการใช้อำนาจควบคุมมากขึ้น และหันมากำกับดูแลบนพื้นฐานหลักการความสมดุล” กรรมการ กสท. กล่าว .