ผลศึกษากลาโหมชง“ครม.-นายก-รมต.” แต่งตั้ง-เลือกตั้งแบบไหนดีกว่า ?
พลิกแฟ้มผลศึกษา “กลาโหม” ชงข้อเสนอคัด “นายกฯ-ครม.“ พบนายกฯที่มาจาก ส.ส. ทำให้ รบ.ยึดโยงเสียงข้างมาก ผูกขาดอำนาจ-ครอบงำสภา ชี้แต่งตั้ง ได้บุคคลมีความรู้หลากหลาย ตรงกับความต้องการ แก้ไขปัญหาจัดการเลือกตั้งไม่ได้ เหมือนในปัจจุบัน
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เป็นผลการศึกษาของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ใน “กรอบความเห็นร่วม ปฏิรูปประเทศไทย” ด้านการเมือง โดยกล่าวตอนหนึ่งวิธีการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี มีทั้งเลือกโดยตรง เลือกแบบ Party List และแต่งตั้งคนนอก
----
คณะรัฐมนตรี (นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี)
สภาพปัญหา
รัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบ ใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน รัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และได้รับความเห็นชอบในการแต่งตั้งจาก ส.ส. ด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด ทั้งนี้ตามหลักการแบ่งอำนาจและความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารตามระบบรัฐสภา
จากข้อมูลพบว่า ที่มาของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี ในลักษณะดังกล่าวทำให้รัฐบาลมีการยึดโยงกับเสียงข้างมากในสภา ผูกขาดอำนาจ และสามารถครอบงำฝ่ายนิติบัญญัติได้ การถ่วงดุลการใช้อำนาจบริหารของรัฐบาลไม่สามารถทำได้ ส่งผลให้รัฐบาลมีการใช้อำนาจเกินขอบเขต และเป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนบางกลุ่ม เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย และมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารประเทศ เมื่อเกิดประเด็นความขัดแย้งในการบริหารประเทศ
กรอบความเห็นร่วม
ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปในประเด็นของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีครอบคลุมในเรื่องรูปแบบการคัดเลือก หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือก การถ่วงดุลการใช้อำนาจ การตรวจสอบถอดถอนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยศาล องค์กรอิสระ และประชาชน รายละเอียดดังนี้
รูปแบบการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี
รูปแบบการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี มี 2 แบบ ได้แก่ การเลือกตั้ง และการแต่งตั้ง การเลือกตั้ง มี 3 วิธี คือ
เลือกตั้งทางตรงโดยประชาชน
กระบวนการอาจทำโดยให้รัฐสภาคัดเลือกจากบุคคลที่เหมาะสม เป็นนายกรัฐมนตรีจำนวนหนึ่ง แล้วเสนอชื่อให้ประชาชนเลือก หรือให้ประชาชนเลือกโดยตรงพร้อมกับการเลือกตั้ง ส.ส. ข้อดี คือประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีความสามารถ และหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะที่เป็น ส.ส. มีความยึดโยงกับประชาชน และรับผิดชอบต่อการบริหารเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชน การซื้อเสียงทำได้ยาก รัฐบาลมีเสถียรภาพ เป็นอิสระจากการต่อรองของ ส.ส. ข้อจำกัด คืออาจจะทำให้การทำงานลำบากถ้าควบคุมคณะรัฐมนตรีไมได้ เพราะไม่มีฐานเสียงในสภา
การเลือกตั้งผ่านระบบ Party List
โดยหัวหน้าพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับหนึ่ง มีสิทธิจัดตั้งรัฐบาลและเป็นนายกรัฐมนตรี ข้อดี คือรัฐบาลมีเสถียรภาพเป็นอิสระจากการต่อรองของ ส.ส. และเป็นการกระตุ้นให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันหลักรักษาชื่อเสียง และหลักการสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพทางการเมืองแบบรัฐสภา ข้อจำกัด คืออาจจะทำให้การทำงานลำบากถ้าควบคุมคณะรัฐมนตรีไม่ได้เพราะไม่มีฐานเสียงในสภา
เลือกตั้งทางอ้อม โดยให้ ส.ส. เป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
ข้อดี คือนายกรัฐมนตรีสามารถควบคุมรัฐมนตรีได้ เพราะมีฐานเสียงในสภา ข้อจำกัด คืออาจทำให้การตรวจสอบถ่วงดุลไม่มีผล เพราะ ส.ส. และคณะรัฐมนตรีเป็นกลุ่มเดียวกัน
แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกโดยสภานิติบัญญัติ ข้อดี คือได้นายกรัฐมนตรีที่มีความรู้ความสามารถและหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะที่เป็น ส.ส. ข้อจำกัด คืออาจถูกมองว่าเป็นการยึดโยงกับประชาชน
รูปแบบการคัดเลือกรัฐมนตรี
เลือกตั้งโดยตรง
โดยให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีประกาศตัวบุคคลที่เสนอเป็นคณะรัฐมนตรีของตัวเอง อย่างประจักษ์ชัดต่อสาธารณะให้เป็นดุลยพินิจของประชาชนประกอบในการเลือกตั้ง ข้อดี คือทำให้มีการแบ่งแยกอำนาจบริหาร ออกจากอำนาจนิติบัญญัติอย่างชัดเจน ข้อจำกัด คือหาก ส.ส. หรือ ส.ว. ส่วนใหญ่เป็นพรรคฝ่ายค้าน การประสานงานระหว่างคณะรัฐมนตรีกับรัฐสภาจะยากขึ้น
เลือกตั้งจากบุคคลภายนอกใช้ Electoral Vote
จากผู้มีสิทธิใช้เสียงเลือกตั้งที่มีคุณสมบัติเฉพาะกลุ่ม ควรจะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ระดับ 3 ขึ้นไปหรือเทียบเท่า ข้อดี คือทำให้ได้ผู้มีความรู้มีประสบการณ์โดยตรงเฉพาะกลุ่มอาชีพ การแต่งตั้งโดยให้ สภานิติบัญญัติเลือกบุคคลภายนอกซึ่งเป็นผู้มีความรู้ความสามารถหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะที่เป็น ส.ส. ข้อจำกัด คือนโยบายและการประสานงานอาจจะไม่สอดคล้องกัน
แต่งตั้งจากสมาชิกพรรคการเมือง (แต่ไม่ได้เป็น ส.ส.)
ข้อดี คือไม่ต้องเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่เพื่อทดแทน ส.ส. ที่ไปดำรงตำแหน่ง และเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถอื่น ๆ เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี ข้อจำกัด คือฝ่ายบริหารไม่มีที่มาจากการเลือกตั้งอาจละเลยต่อหลักความรับผิดชอบต่อประชาชน และอาจทำให้มีนักธุรกิจการเมือง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีได้ง่ายขึ้น
แต่งตั้งรัฐมนตรีจาก ส.ส.
ข้อดี คือฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรี มีที่มาจากประชาชน นโยบายที่หาเสียงไว้มีการขับเคลื่อนผลักดันเป็นกฎหมายได ข้อจำกัด คือฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนกลุ่มเดียวกัน การตรวจสอบไม่เกิดขึ้น และ ส.ส. ที่ไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีไม่มีเวลาทั้งในการบริหาร และทำหน้าที่นิติบัญญัติในเวลาเดียวกัน
หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี
การกำหนดเขตเลือกตั้ง การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ให้กำหนดเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ข้อดี คือสะท้อนความต้องการนายกรัฐมนตรีที่แท้จริงของประชาชน ข้อจำกัด คือนายกรัฐมนตรีอาจทำงานได้ยาก เนื่องจากขาดฐานเสียงจากพรรคการเมือง
ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานอื่น เช่น ไม่เป็นข้าราชการประจำ รัฐวิสาหกิจ และข้าราชการส่วนท้องถิ่น ประธานกรรมการในองค์กรธุรกิจ เพื่อป้องกันการใช้สถานะ หรือตำแหน่งเข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพรรคการเมือง
คุณสมบัตินายกรัฐมนตรี
ในกรณีที่เป็น ส.ส. ข้อดี คือได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนจากประชาชน ข้อจำกัด คืออาจจะเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคการเมืองของตนเอง
ในกรณีที่เป็นหัวหน้าพรรค ข้อดี คือสามารถควบคุมการทำงานของคณะรัฐมนตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ข้อจำกัด คือจะได้บุคคลที่ไม่หลากหลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ในกรณีแต่งตั้งจากบุคคลภายนอก ข้อดี คือจะได้นายกรัฐมนตรีที่ตรงกับความต้องการเฉพาะ และสามารถใช้เป็นทางออกในการแก้ปัญหาไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ (เหมือนสถานการณ์ปัจจุบัน) ข้อจำกัด คืออาจจะไม่ยึดโยงกับประชาชน
หลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกรัฐมนตรี
คุณสมบัติรัฐมนตรี
ในกรณีเป็น ส.ส. ข้อดี คือรัฐมนตรีได้รับการคัดเลือกจากประชาชนในเบื้องต้น ข้อจำกัด คือการบริหารประเทศอาจทำเพื่อประโยชน์ของพื้นที่มากเกินไป ไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติโดยภาพรวม และไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐได้จริง
ในกรณีเป็น ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ข้อดี คือ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อ ทำงานแยกส่วนจาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างชัดเจน ข้อจำกัด คือ อาจจะไม่ทราบปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่
ในกรณีแต่งตั้งจากบุคคลภายนอก ข้อดี คือได้รัฐมนตรีที่หลากหลาย มีความสามารถเฉพาะเจาะจง ในการบริหารประเทศ เป็นการแยกอำนาจหน้าที่ฝ่ายบริหารออกจากฝ่ายนิติบัญญัติทำให้การถ่วงดุลหรือการตรวจสอบการทำงานสามารถทำได้เต็มที่ ข้อจำกัด คือการบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหารอาจไม่คำนึงถึงความต้องการของประชาชน และอาจไม่ได้รับความร่วมมือจาก ส.ส. ในกรณีต้องการออกกฎหมาย
อ่านประกอบ : ข้อเสนอกรุยทางเฟ้นหา“นายกฯ”คนที่ 30 ต่อจาก “พล.อ.ประยุทธ์” ?