เปรียบข้อดี-เสีย ‘ยุบ อบจ.-เลือกตั้งผู้ว่าฯ’ โหมดเปิดโครงสร้างปฏิรูปท้องถิ่น
เปิดข้อเสนอปฏิรูประบบราชการส่วนท้องถิ่น ‘ยุบเลิก อบจ.’ ลดทับซ้อนทำงานพื้นที่ หวั่นข้อจำกัดสร้างพันธะสัญญาปชช. เร่งรัดกระจายอำนาจจริงจัง โยกตำรวจสังกัดท้องถิ่นภายใต้ผู้ว่าฯ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ได้มีข้อเสนอแนะกรอบความเห็นร่วมสำหรับการปฏิรูปการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น 2 ประเด็นหลัก คือ การยุบเลิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และเรื่องอื่น ๆ ทั้งสิ้น 27 หน้า สามารถสรุปได้ ดังนี้
การยุบเลิก อบจ. โดยเฉพาะกรณีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง มีข้อดีช่วยลดปัญหาความทับซ้อนในพื้นที่ งบประมาณ ภาษี ระหว่างพื้นที่ อบจ.กับเทศบาล-องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และยังกระจายงบประมาณให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแลตรงจุดและชัดเจนมากขึ้น
ทว่า มีข้อจำกัดตรงที่การเลือกตั้ง อบจ.โดยราษฎรในพื้นที่นั้น เป็นการสร้างพันธะสัญญาโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ เป็นตัวแทนของประชาชนในการบริหารงบประมาณและงานสำคัญของท้องถิ่นให้ได้สอดคล้องตรงกับความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น
“ทำให้ขาดองค์ประสานงานกลางในการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่ออุดช่องว่างและเป็นที่พึ่งของท้องถิ่น โดยเฉพาะในส่วนที่ท้องถิ่นขาด หรือในส่วนของพื้นที่ทับซ้อนว่าอยู่ในความดูแลของหน่วยงานใด อาทิ เรื่องถนนทางหลวงที่เชื่อมระหว่างตำบล อำเภอ ที่ อบจ.มีหน้าที่เข้าไปดูแลนอกเหนือจากกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท”
เรื่องอื่น ๆ ได้มีข้อเสนอแนะดำเนินการที่เป็นความเห็นร่วมสำคัญ 7 วิธี โดยในการพัฒนา อปท.ขนาดเล็ก ควรเหลือเพียง 2 ระดับ คือ ‘อบจ.’ ทำหน้าที่ระดับจังหวัด และ ‘เทศบาล’ ทำหน้าที่ระดับต่ำกว่าจังหวัด ส่วน อบต.และเทศบาลขนาดเล็ก ให้ยุบรวมเป็นเทศบาลขนาดใหญ่แทน
ทั้งนี้ ในการจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมแก่ อปท.ต้องเป็นธรรมในระดับที่เพียงพอกับการดูแลประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ พร้อมกับให้ตรากฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นขึ้นใหม่ และแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เป็นไปภายใต้กลไกประชาชน
“กฎหมายสำคัญที่ควรผลักดัน ได้แก่ ประมวลกฎหมายท้องถิ่น กฎหมายรายได้ท้องถิ่น กฎหมายกระจายอำนาจ กฎหมายบริหารงานบุคคลของท้องถิ่น” รายงาน ระบุ และเสนอต่อว่า เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องจัดตั้งสภาประชาชนปฏิรูปจังหวัดและท้องถิ่น รวมถึงสภาการปกครองท้องถิ่นแห่งชาติด้วย
สุดท้าย การเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งของประชาชน โดยการเพิ่มบทบาทสภาพลเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป ในการเข้ามีส่วนร่วมบริหารจัดการท้องถิ่นทุกขั้นตอน เเละลดบทบาทของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในการตรวจสอบ อปท. เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีมาตรฐานการตรวจสอบระดับเดียวกัน แต่มักอาศัยธรรมเนียมปฏิบัติของผู้ตรวจในแต่ละภูมิภาค จนก่อให้เกิดความสับสนและขาดประสิทธิภาพการทำงานของ อปท.
ในขณะที่การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจมีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่สำคัญ คือ กรณีการบริหารจัดการภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีข้อแนะนำให้เร่งกระจายอำนาจราชการสู่ท้องถิ่น ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และทำสัญญาจ้างผู้มีความรู้ความสามารถ
นอกจากนี้ควรให้ตำรวจอยู่ในสังกัดท้องถิ่นภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด และจัดสรรงบประมาณลงสู่ท้องถิ่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ให้อยู่ในการดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นทุกระดับ พร้อมกับตั้งสภาพลเมืองภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการทำงานและตรวจสอบหน่วยงานท้องถิ่นและข้าราชการด้วย .