ปฏิรูปด้านสังคม ‘ปราบคอร์รัปชัน’ เร่งแก้ประมวล กม.อาญา-ตั้งคดีไม่มีอายุความ
สรุปความเห็นร่วมฯ แก้ทุจริตคอร์รัปชันรูปธรรมเร่งบรรจุวิชาหน้าที่พลเมือง รณรงค์เผยแพร่ความรู้ปชช. ชูเร่งรัดกม. 3 ฉบับ แก้ไขประมวลกม.อาญา-ความร่วมมือระหว่างประเทศอาญา-ทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิด
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เร็ว ๆ นี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ได้สรุปกรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้านสังคม ทั้งสิ้น 51 หน้า ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การทุจริตคอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน รายงานสรุปกรอบความเห็นร่วมฯ ระบุว่า มีมานานและฝังรากลึกในสังคมไทย เนื่องจากระบบการเมืองและราชการที่ยากต่อการควบคุมตรวจสอบจากสังคมส่วนรวม องค์กรภาคประชาชนขาดพลังการตรวจสอบเข้มแข็ง ขาดผู้นำในการต่อต้านทุจริตแข็งแกร่งและดีเพียงพอ เกิดระบบอุปถัมภ์ ขาดจิตสาธารณะ อุดมการณ์ และจิตสำนึกที่ดี
ดังนั้นการแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความคิดเห็นร่วมจากทุกภาคส่วน โดยให้ภาครัฐดำเนินการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในเชิงรูปธรรม ปราบปรามอย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างความโปร่งใสและมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน จำแนกละเอียด ดังต่อไปนี้
โดยให้มีการรณรงค์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันให้สังคมและประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และจิตสำนึกในหน้าที่ความรับผิดชอบ มีคุณธรรม จริยธรรมต่อสังคม โดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับองค์กรวิชาชีพด้านสื่อมวลชนทุกแขนง ดำเนินการปรับเปลี่ยนฐานความคิดเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ให้มีการบรรจุหลักสูตรด้านคุณธรรม จริยธรรม และหน้าที่พลเมือง ไว้ในหลักสูตรภาคบังคับของทุกระดับชั้นการศึกษา จัดให้มีระบบและกลไกในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันอย่างชัดเจน เช่น กำหนดให้คดีทุจริตไม่มีอายุความหรืออย่างน้อยขยายอายุความไปจนถึง 30 ปี และประชาชนผู้เสียหายยื่นฟ้องคดีเองได้
ตลอดจนจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาหลักสูตรที่ได้มาตรฐานสำหรับถ่ายทอดความรู้ด้านการทุจริต ช่องทางการแจ้งเบาะแส และเพิ่มบทบาทองค์กรอิสระและภาคประชาชน เช่น กลุ่มเอ็นจีโอ องค์กรตรวจสอบประเภท Watch Dog โดยให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส และเปิดช่องทางการตรวจสอบได้ แต่ต้องมีการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวด้วย
รายงานฉบับดังกล่าว ยังระบุถึงการปรับปรุงและพัฒนากฎหมายที่น่าสนใจ คือ การผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ... และให้ปฏิรูปกฎหมายกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยริเริ่มการตรากฎหมายคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการภาครัฐ
พร้อมกันนี้ ยังเรียกร้องให้ตรากฎหมายควบคุม กำกับ ดูแล และดำเนินงานเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันผ่านทางโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ เช่น ห้ามนักการเมืองมีชื่อ ภาพ หรือเสียง ในสื่อเหล่านั้น ตลอดจนพัฒนากฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุให้เป็นมาตรฐานกลาง
ที่สำคัญ ให้เร่งรัดการออกกฎหมาย 3 ฉบับ ที่กระทรวงยุติธรรมร่างไว้ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมความร่วมมือระหว่างประเทศทางอาญา พ.ศ.2535 และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พ.ศ. ...
รายงาน ยังระบุต่อว่า การทุจริตคอร์รัปชันจะได้รับการแก้ไขจำเป็นต้องมีการเสริมสร้างความโปร่งใสและมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยควรปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ให้มีผลบังคับใช้ให้ชัดเจนในการเปิดเผยข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ ยกระดับสำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ให้อิสระจากฝ่ายบริหาร .