เปิดข้อเสนอ ปฏิรูปด้านศก.เล็งยุบ 'ขสมก.-บขส.' ตั้งเป็น สำนักงานลงทุนแห่งชาติ
เปิดข้อเสนอคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปฯ ด้านศก. เล็งยุบขสมก.-บขส.ตั้งเป็น สำนักงานลงทุนแห่งชาติ พร้อม ปรับปรุงการบริหารรถไฟ แยกบทบาทการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำกับดูแล ออกจากกัน
คณะทำงานเตรียมการปฏิรูป เพื่อคืนความสุขของคนในชาติ จัดทำเอกสาร "การปฏิรูป:ด้านเศรษฐกิจ" โดยรวบรวมข้อมูลสภาพปัญหา และกรอบความเห็น่วมของประชาชนนำเสนอเป็นทางเลือกให้สภาปฏิรูปแห่งขาติ นำไปใช้เป็นข้อมูลศึกษา ความยาว 101 หน้า
สำหรับกรอบความเห็นร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับนั้นแบ่งออกมาเป็นแนวทาง 6 ประเด็นหลัก คือ (1) การขยายโอกาสทางเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรม (2) การจัดการทรัพยากรดิน (3)การจัดการทรัพยากรน้ำ (4)การจัดการทรัพยากรป่าไม้ (5) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (6)เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พบว่า ความน่าสนใจในหัวข้อ การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนของประชาชน นั้น นอกจากจะมีการทำระบบรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมในเขตกรุงเทพและปริมณฑล เพื่อประชาชนจะใช้ลดส่วนตัวน้อยลง ทำให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงลดลงตามไปด้วย ลดปัญหาการจราจรติดขัดแล้ว
ในเนื้อหา ยังจะมีการปรับปรุงการดำเนินงานขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) พิจารณายุบรวมเข้ากับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ แล้วจัดตั้งเป็น "สำนักงานลงทุนแห่งชาติ" (น.87) หรือเปลี่ยนบทบาทให้มีฐานะเป็นเพียงผู้ถือกฎ หรือ Ruler โดยยุติบทบาทในฐานะผู้ให้บริการขนส่ง หรือบทบาท Operator โดยให้เป็นภาระหน้าที่ของเอกชนในการที่จะขอรับบริการขนส่งตามเส้นทางต่างๆ จัดระบบบริหารงานบุคคลใหม่ เพื่อลดภาระหนี้ขององค์กร ลดการขาดทุน ซึ่งก่อให้เกิดภาระต่อภาครัฐ และทำให้ประสิทธิภาพการบริการดีขึ้น
ขณะที่การพัฒนาขนส่งในต่างจังหวัดนั้น จะมีการปรับปรุงการดำเนินการงานของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) พิจารณายุบรวมเข้ากับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ แล้วจัดตั้งเป็น สำนักงานลงทุนแห่งชาติ เช่นเดียวกัน
ส่วนการปรับปรุงขนส่งทางราง (น.81) นอกจากจะดำเนินการสร้างระบบรถไฟให้เป็นระบบรางคู่ชุดใหม่ แยกจากทางเดี่ยวเดิมแล้ว จะมีการปรับปรุงระบบรางเดี่ยวเดิมเพื่อสำหรับขนส่งสินค้า และอาจพิจารณาสร้างทางเดี่ยวคู่ขนาน สำหรับขนส่งสินค้าเพิ่มอีก 1 ทาง
ทั้งนี้ จะมีการปรับปรุงบริหารรถไฟ โดยแยกบทบาทการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) และการกำกับดูแล (Reguration) ออกจากการประกอบการ หรือการให้บริการ (Operation) ให้เกิดประสิทธิภาพ การพัฒนาโครงข่ายขนส่งระบบรางให้ก้าวหน้า รวดเร็ว เป็นรูปธรรม พร้อมกันนี้จัดตั้ง "กรมการขนส่งทางราง" เพื่อวางแผนก่อสร้าง ลงทุน และดูแลรักษาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นบริการสาธารณะ เช่น โครงข่ายระบบรางทั้งหมด กำกับดูแลด้านความปลอดภัย และกำกับดูแลทางเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม การรถไฟมีหน้าที่หลัก คือ ประกอบการขนส่งทางรถไฟ และพัฒนาการให้บริการ มีการบริหารในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ โดยให้คณะกรรมการรถไฟหรือบอร์ดสองในสาม จะต้องเลือกจากตัวแทนภาคเอกชนส่วนการขนส่งสินค้า
ขณะที่ภาคเอกชนเป็นผู้ลงทุนในเรื่องตัวสถานีหัวจักร โบกี้ แคร่ อุปกรณ์ต่างๆ และระบบการร่วมเดินรถ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (Inland Container Depot:ICD) ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center:DC) รวมทั้งศูนย์ขนส่งโดยไม่มีการผูกขาดรายใดรายหนึ่ง
นอกจากนี้ การบริหารจัดการภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ (น.75) วางกรอบการปรับปรุงระบบบริหารงานภาครัฐ ดังนี้
- กระจายอำนาจราชการสู่ท้องถิ่น ยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาค เลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด
- ผู้ว่าราชการจังหวัด มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และทำสัญญาจ้างผู้ที่มีความสามารถ
- ให้ตำรวจอยู่ในสังกัดท้องถิ่น อยู่ภายใต้ผู้ว่าราชการจังหวัด
-จัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น งบประมาณของแผ่นดินไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 ให้อยู่ในความดูแลของรัฐบาลท้องถิ่นในทุกระดับ
เป็นต้น
ข้อมูลประกอบ:ข้อเสนอปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ฉบับสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม