ผลศึกษาศาลฎีกาฯก่อนปฏิรูป “กลาโหม”ชี้การเมืองแทรกแซง-สองมาตรฐาน
สนง.ปลัดกลาโหม สรุปผลกรอบความเห็นร่วม “ปฏิรูปประเทศไทย” ศึกษาข้อมูลการทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบถูกแทรกแซงทางการเมือง-สองมาตรฐาน-บทลงโทษไม่เข้มข้น เสนอทำศาลเลือกตั้ง-ศาลทุจริต ให้คดีทุจริตไม่หมดอายุ ทำผิดยึดทรัพย์-ตัดสิทธิ์การเมืองตลอดไป ยันต้องเป็นกลาง ป้องถูกแกล้ง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สรุปผลกรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทยด้านการเมือง โดรศึกษาข้อมูลการทำงานของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พบรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
สภาพปัญหา ปัจจุบันการใช้อำนาจยุติธรรมเพื่อตรวจสอบ ถ่วงดุลการใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และถอดถอนนักการเมืองที่มีความผิดร้ายแรง คือ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมมองว่า ถูกแทรกแซงจากนักการเมืองสองมาตรฐาน และการกำหนดบทลงโทษนักการเมืองที่ทำผิด ทุจริต ต่อการทำหน้าที่มีความเข้มข้นไม่เพียงพอที่จะยับยั้งการกระทำผิดทางการเมือง
กรอบความเห็นร่วม ข้อเสนอการปฏิรูปเพื่อประสิทธิภาพการใช้อำนาจศาลในการตรวจสอบถ่วงดุล และถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศาลฎีกาฯ ครอบคลุมในเรื่องโครงการองค์กรตุลาการทางการเมือง กระบวนการทำหน้าที่ของศาลฎีกาในการถ่วงดุล ตรวจสอบถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่
โครงสร้างองค์กรตุลาการทางการเมือง
ควรมีการจัดตั้งศาลเลือกตั้ง ควรประกอบด้วยผู้พิพากษาประจำศาลจังหวัด และ/หรือตุลาการศาลปกครองในเขตเลือกตั้ง ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้ดียิ่งขึ้น ข้อดี คือมีองค์กรศาลเฉพาะที่ทำหน้าที่โดยตรง ในการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการเลือกตั้งแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสามารถพัฒนากระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ เพราะนักการเมืองแทรกแซงได้ยาก ข้อจำกัด คือการจัดตั้งศาลเลือกตั้งหากโครงสร้าง และการกำหนดขอบเขตหน้าที่ไม่ชัดเจน ปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไข และสร้างความสับสนในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มมากขึ้น
ควรมีการจัดตั้งศาลทุจริต เพื่อทำหน้าที่ตัดสินคดีเกี่ยวกับการกระทำทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ข้อดี คือมีหน่วยงานรับผิดชอบคดีทุจริตคอร์รัปชั่นทั้งในเชิงนโยบาย หรือการเบียดบัง ฉ้อฉลอย่างจริงจัง องค์กรที่จัดตั้งใหม่ ต้องมีโครงสร้างและการกำหนดขอบเขตหน้าที่ชัดเจน ข้อจำกัด คือการจัดตั้งองค์กรขึ้นใหม่มากเกินไปอาจทำให้มีความสับสนในการทำงาน เช่น คดีที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 ศาล
องค์กรศาล ควรเป็นองค์กรเปิดที่สามารถให้ประชาชนตรวจสอบได้ เช่น การเข้าสู่ตำแหน่งของศาลในระดับสูงควรมีการแสดงทรัพย์สิน ก่อนเข้าสู่ตำแหน่ง ข้อดี คือ สร้างความมั่นใจขั้นต้นต่อผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ด้านกระบวนการยุติธรรม
บทบาทอำนาจหน้าที่ศาลฎีกา
ควรกำหนดกรอบเวลาการดำเนินคดีทางการเมือง ข้อดี คือสร้างความมั่นใจในกระบวนการทำงานของศาล ข้อจำกัด คืออาจเป็นการทำให้กระบวนการมีความรอบคอบลดลง
คดีทางการเมืองไม่ควรมีอายุความ ข้อดี คือ ทำให้กระบวนการยุติธรรมมีผลต่อทำให้ผู้กระทำผิดสร้างความเสียหายให้กับประเทศและเป็นการป้องปรามผู้ที่คิดจะละเมิดกฎหมาย
จัดทำมาตรการ หรือออกกฎหมายการลงโทษที่เข้มข้น เพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของบทลงโทษ สำหรับนักการเมืองที่ทุจริต ไม่มีคุณธรรม จริยธรรมสร้างความเสียหายร้ายแรงให้กับประเทศ และบทลงโทษควรมีผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดด้วย เช่น ยึดทรัพย์ และการตัดสิทธิทางการเมืองตลอดไป ข้อดี คือเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเป็นมาตรการที่มีความศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ให้โอกาสนักการเมือง หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่มีการทำผิดกลับเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองอีก และมีผลต่อการป้องปราม ข้อจำกัด คือกระบวนการยุติธรรมต้องมีความเป็นกลาง เพื่อไม่ให้เป็นเครื่องมือของการกลั่นแกล้งทางการเมือง
ควรยกเลิกการคุ้มครองนักการเมือง ในระหว่างสมัยประชุมสภา ข้อดี คือยุติบทบาทของนักการเมืองทันทีที่มีการฟ้องร้อง ข้อจำกัด คืออาจเกิดผลกระทบต่อการดำเนินการทางรัฐสภา
อ่านประกอบ : "กลาโหม"ชงข้อมูลปฏิรูป"สื่อ"ซัดผู้ประกาศเป็นดาราหรูหรา-นักข่าวตัวจริงไส้แห้ง