เมื่อครู(บางคน)มองเหตุเผาโรงเรียนซับซ้อนกว่าความไม่สงบ
เป็นเรื่องที่น่าตกใจไม่น้อยเมื่อมีเสียงจากครูในพื้นที่ วิเคราะห์เหตุการณ์เผาโรงเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า บางครั้งอาจไม่ใช่เรื่องที่สรุปความง่ายๆ ว่าเป็นการกระทำของกลุ่มก่อความไม่สงบที่สื่อมวลชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐขนานนามว่า "โจรใต้" อย่างเดียวก็เป็นได้
แน่นอนว่าการสำรวจความเห็นของคนในพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์เผาโรงเรียน 6 แห่งเกือบจะพร้อมกันใน 2 อำเภอของ จ.ปัตตานี คือ อ.ทุ่งยางแดง กับ อ.มายอ เมื่อเวลา 02.30 น.ของวันอาทิตย์ที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา จะได้ยินเสียงของความเครียด หวาดกลัว ระแวงภัย และความเศร้าใจที่สถานการณ์ในสามจังหวัดยังไม่ดีขึ้นจริงอย่างที่คาด
แต่ข้อสังเกตของครูบางคนในพื้นที่ ก็อาจทำให้หลายๆ ฝ่ายต้องทบทวนถึงปัญหาอื่นๆ ที่แทรกซ้อนและซุกซ่อนอยู่ภายใต้สถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 10 ปี
ครูสาวคนหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เธอสอนหนังสืออยู่ใน จ.ปัตตานี บอกว่า รู้สึกกลัวทุกครั้งที่เกิดเหตุเผาอาคารเรียน ยิงครู หรือทำร้ายบุคลากรทางการศึกษา กลัวว่าสักวันจะมาถึงคิวของเธอเอง
อย่างไรก็ดี เธอตั้งคำถามว่า แม้การเผาอาคารโรงเรียนจะดูเป็นปัญหาที่ห่างไกลจากครู ไม่เกี่ยวกับคน เพราะเป็นการทำลายข้าวของเท่านั้น แต่ถ้ามองดี ก็น่าคิดว่าคนร้ายต้องการทำไปเพื่ออะไร แน่นอนว่าการทำให้ภาพของสถานการณ์ในพื้นที่ยังคงรุนแรงอยู่ น่าจะเป็นเป้าหมายอย่างหนึ่ง แต่นั่นเป็นเป้าหมายทั้งหมดหรือไม่
"ทุกครั้งที่เกิดการเผาอาคารเรียน สังเกตว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาคารหลังเก่าๆ อาจจะเพราะเผาง่าย แต่ก็ไม่ค่อยเกิดกับอาคารเรียนที่เพิ่งสร้างใหม่ๆ ที่ใช้งบประมาณไปแล้วจำนวนมาก เรื่องแบบนี้ถ้าใครระแคะระคายจะต้องถูกกระทำ และสุดท้ายก็ต้องมาลงที่ครู เพราะครูอยู่ในโรงเรียน บางคนอาจรู้ที่มาที่ไปของปัญหา จึงทำให้ต้องจบชีวิตลง โดยเฉพาะถ้าไปแตะต้องกับเรื่องผลประโยชน์บางอย่าง"
ครูสาวรายนี้ บอกเหมือนครูอีกหลายๆ คนว่า ปัญหาชายแดนใต้นั้น เต็มไปด้วยสถานการณ์ความไม่สงบ และอิทธิพลภายในและภายนอกโรงเรียน จึงน่ากลัว และต้องระวังตัวมาก
"จะเห็นว่าเวลาเกิดเหตุกับโรงเรียน ครูจะรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ เพราะกลัวว่าจะมีการทำลายชีวิตครูต่อ ปัญหาก็จะซับซ้อนหนักขึ้น ขณะที่โรงเรียนในพื้นที่ก็จะมีรายได้เข้ามาเยอะขึ้นจากหลายทาง โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชน"
ในขณะที่ฝ่ายความมั่นคงในส่วนกลางกำลังเร่งหามาตรการป้องกันกันขนานใหญ่ เช่น ติดสัญญาณเตือนภัยที่โรงเรียน เพื่อให้หน่วยทหารในพื้นที่ได้รับทราบอย่างทันท่วงทีว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นนั้น ครูสาวรายนี้เห็นว่านั่นไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุด
"มีทางเดียวคือสร้างความเข้าใจกับชุมชน เพราะชุมชนย่อมเป็นเกราะป้องกัน เป็นรั้วที่ดีที่สุดให้กับครูและโรงเรียน ถ้าชุมชนรักและเข้าใจ ครูจะปลอดภัย และโรงเรียนจะปลอดเหตุ"
ด้านความรู้สึกของเด็กนักเรียนอย่าง ซุฟยาน อาบู วัย 12 ปี เขาบอกว่า ได้ข่าวว่าโรงเรียนถูกเผา แม่เห็นข่าวจากในทีวี มีข่าวเผาอาคารเรียน ก็รู้สึกสงสารเด็กๆ ในโรงเรียนเหล่านั้นที่จะไม่มีที่เรียนหนังสือ
"อยากขอว่าอย่าให้มีการเผาโรงเรียนอีกเลย อย่าทำร้ายครู สงสารครู ถ้าไม่มีครู ไม่มีโรงเรียน พวกเราจะเป็นคนเก่งได้อย่างไร เราอยากเก่ง อยากเป็นครู มาสอนน้องๆ ให้เก่ง จะได้ไม่เป็นคนไม่ดี"
ขณะที่ อาซูวรรณ สะมะแอ ผู้ใหญ่บ้านสะปาเราะ อ.ยะหา จ.ยะลา บอกว่า รู้สึกหดหู่และตกใจมากๆ เมื่อทราบข่าวการเผาโรงเรียนอีกครั้ง รู้สึกว่ายิ่งนับวันเหตุการณ์ยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม ทั้งที่ก่อนหน้านี้คิดว่าปัญหาเริ่มลดลงแล้ว แต่ในความเป็นจริงไม่ใช่เลย มันยิ่งหนักขึ้น ยิ่งซับซ้อนกว่าที่ผ่านมา
"รู้สึกสงสารเด็กๆ ที่ไม่มีที่เรียน อาจต้องเรียนในที่ที่ไม่สะดวกสบายเหมือนในห้องเรียน และแน่นอนสมาธิในการเรียนก็ย่อมไม่มีด้วย ก็ขอภาวนาให้เหตุการณ์แบบนี้เบาบางลง เราจะได้ความสุขกับการทำงานและความเป็นอยู่มากขึ้นเสียที ที่สำคัญจะได้ลดความสูญเสียในทุกๆ ด้าน แต่เมื่อเหตุการณ์ร้ายยังคงเกิดขึ้น เราก็ต้องช่วยกันป้องกันไม่ให้มันเกิด ต้องเข้มงวดเรื่องการรักษาความปลอดภัย ทั้งสามฝ่ายเลยนะ ไม่ใช่เข็มงวดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ประชาชนเองก็ควรเป็นหูเป็นตาให้ด้วย เพราะนับเป็นกำลังหลักที่สำคัญที่สุด โรงเรียนเป็นของเรา ต้องช่วยกันรักษา"
อัยเสาะ มะแซ ชาวบ้าน จ.ปัตตานี กล่าวว่า นานแล้วที่ไม่ได้ยินว่ามีการเผาโรงเรียน แต่เมื่อวันอาทิตย์ได้ดูข่าวก็ตกใจ ไม่คิดจะมาทำช่วงนี้ เพราะโรงเรียนปิดเทอมอยู่ แต่การเลือกทำช่วงปิดเทอมน่าจะง่ายกว่า
"ถ้าพวกเราร่วมมือกัน ใครก็มาทำลายของของเราไม่ได้ เราต้องประณามคนร้ายที่ทำ ต้องละหมาดขอพรเมื่อเกิดเหตุ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนที่คิดร้ายได้กลับใจบ้าง ให้พวกเขาคิดใหม่ ไม่มาทำลายข้าวของแบบนี้ เพราะโรงเรียนเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชุมชนพัฒนา เมื่อลูกหลานเรามีความรู้ ก็จะอยู่ในสังคมได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบ คิดทันคนไม่ดี คนที่มาหลอกให้ไปทำสิ่งไม่ดี แต่ถ้าไม่มีโรงเรียน ทุกคนจะไม่มีความรู้ เด็กๆ จะไม่มีอนาคต เราก็ต้องลำบากต่อไป"
หลากหลายความรู้สึกจากดินแดนปลายด้ามขวาน สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยิ่งยืดเยื้อยาวนาน ก็ยิ่งทวีความซับซ้อนขึ้นในความรู้สึกของคนในพื้นที่และชาวบ้านตาดำๆ!