"กลาโหม"ชงปฏิรูป"สื่อ"ทำงานใต้อำนาจทุน ผู้ประกาศเป็นดาราหรู-นักข่าวไส้แห้ง
เปิดรายงานข้อมูล"สื่อ" ในมือสนง.ปลัดกลาโหม ชง"สปช."เริ่มงานปฏิรูปทางการ พบปัญหาสำคัญเพียบ ไม่ทำหน้าที่สาธารณะ ตรวจสอบผู้มีอำนาจ"เลือกข้าง"สนับสนุนนายทุน รับใช้นักการเมือง เห็นเงินสำคัญกว่า "จรรณยาบรรณ" กลายเป็นเครื่องมือโฆษณา ผู้ประกาศกลายเป็นดาราแสดงบท"อ่านข่าว" เข้าสังคมหรูหรา นักข่าวทำงานจริงไส้แห้ง "เด็กใหม่ประสบการณ์น้อย"-"Social media" พื้นที่ระบายอารมณ์ ปลุก "ระดมพล"
ไม่ว่าการปฎิรูป "สื่อสารมวลชน" ซึ่งถูกระบุชัดเจนให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายการปฏิรูปประเทศไทย 11 ด้าน ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะกำลังเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎชัดเจนในขณะนี้แล้ว คือ ในมุมมองของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม "สื่อมวลชน" คือจุดเริ่มต้นสำคัญสำคัญอย่างในปัญหาความขัดแย้งของประเทศที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของสื่อกระแสหลักที่ไม่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะ ตรวจสอบผู้มีอำนาจรัฐ เพราะถูกครอบงำทางโครงสร้างความเป็นเจ้าของ หรือถูกควบคุมโดยรัฐ นายทุน และนักการเมือง
ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์ถูกใช้เป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ไปจนถึงระดมพลในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าจะมีหน้าที่ใดๆ ต่อสังคมโดยภาพรวม วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ส่วนสื่อสารมวลชนบางกลุ่มทำตัวเป็นดาราค่าตัวแพง ผู้ประกาศข่าวกลายเป็นดาราที่แสดงเพียงบทอ่านข่าว ขณะที่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานหนักจริงจังมีรายได้น้อยแทบเลี้ยงครอบครัวไม่รอด
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ภายใต้การดำเนินงานของคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ของ คสช. ได้สรุปผลการศึกษาข้อมูลการทำงานของสื่อมวลชน สภาพปัญหา และกรอบความเห็นร่วมของประชาชน เพื่อนำเสนอเป็นทางเลือกให้ สปช. นำไปใช้เป็นข้อมูลในการศึกษา และข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชนที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของประเทศไทยในปัจจุบันและอนาคต ใช้ชื่อว่า "กรอบความเห็น ปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน" มีความยาวประมาณ 78 หน้า
มีข้อมูลสำคัญหลายส่วน อาทิ สภาพปัญหา โครงสร้างการทำงานของสื่อยุคปัจจุบัน เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อ การปรับปรุงบทบาทของสื่อ องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลสื่อ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในเอกสารดังกล่าว ได้ระบุสภาพปัญหาด้านสื่อสารมวลชน ว่า ในห้วงวิกฤติความขัดแย้งที่ผ่านมา เริ่มจากสื่อสารมวลชนกระแสหลักที่ไม่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะ เนื่องจากไม่พยายามแสวงหาความจริงหรือตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ระดับชาติซึ่งถูกครอบงำทางโครงสร้างจากความเป็นเจ้าของ หรือการควบคุมโดยรัฐ นายทุน และนักการเมือง
ขณะที่หนังสือพิมพ์ระดับชาติก็ถูกมองว่า “เลือกข้าง” ด้วยอคติหรือผลประโยชน์แอบแฝง ตามมาด้วย สื่อกระแสรองอย่างโทรทัศน์ดาวเทียมเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และวิทยุธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่เป็นกลางให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียว แถมยังเผยแพร่ความเกลียดชังให้สังคมแบ่งแยกกันมากขึ้น
ล่าสุดวิกฤติใหม่ที่อยู่ในช่วงความขัดแย้ง คือ “สื่อใหม่ (New Media) อย่างสื่อสังคมออนไลน์ (Social Network) ซึ่งเกิดจากสื่อสังคม(Social media)” ซึ่งมักถูกใช้เป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ไปจนถึงระดมพล ในหมู่ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากกว่าจะมีหน้าที่ใดๆ ต่อสังคมโดยภาพรวม วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ศักยภาพทางการเมืองของสื่อใหม่นี้ปรากฏทั้งในแง่บวกและลบ เอื้ออำนวยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ควบคู่ไปกับการขยายความเข้มข้นของการแบ่งขั้วทางการเมือง
ความคาดหวังจากประชาชนต่อการปฏิรูปสื่อสารมวลชน พบว่าสื่อสารมวลชนจะต้องรักษาจรรยาบรรณ มีความเป็นกลาง มีหน่วยงานเฝ้าระวังการนาเสนอข่าวของสื่อสารมวลชน ไม่ให้สร้างความขัดแย้ง แตกแยก ควรมีบทลงโทษสื่อสารมวลชนที่นาเสนอข้อมูลเท็จ บิดเบือน หรือสร้างกระแสปลุกปั่น เพื่อให้สื่อสารมวลชนได้ทาหน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสาธารณะ ให้การศึกษา และให้ความบันเทิงในกรอบมาตรฐานวิชาชีพ
หลายฝ่ายก็ยังตั้งความหวัง จะให้สื่อสารมวลชนเป็นผู้หาทางออกให้สังคม เพราะสื่อสารมวลชนยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ตรงกลางของสังคมอยู่ดี แต่เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ถือกำเนิดมาและเริ่มแพร่กระจายกว้างขวาง การเข้าไปใช้สื่อใหม่นี้ เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็เริ่มปรากฏเค้าลางของความหวังทางการเมืองแบบใหม่ที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ เพราะผู้ใช้สื่อสามารถกาหนดวาระข่าวสารได้เอง และเลือกที่จะสื่อสารกับเครือข่ายที่คิดเห็นเหมือนๆ กันได้ สามารถสร้างการรับรู้ตัวตนสู่สาธารณะผ่านสื่อใหม่ได้
กรอบความเห็นร่วมเพื่อการปฏิรูปด้านสื่อสารมวลชน ในการปฏิรูปสื่อสารมวลชนปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นไม่ให้เกิดความแตกแยก หรือทำให้ความขัดแย้งในสังคม จนยกระดับเป็นความรุนแรง เนื่องจากการนำเสนอข้อมูล และการใช้ภาษาที่ปลุกเร้าและกระตุ้นให้เกิดความเกลียดชัง (Hate speech) หรือการโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda)และปลุกระดมให้มวลชนคู่ขัดแย้งใช้ความรุนแรงต่อกัน การเผยแพร่ข้อมูลเท็จ บิดเบือนไม่รอบด้าน ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด
ทั้งนี้ เพราะสื่อสารมวลชนขาดความรับผิดชอบต่อสังคม องค์กรวิชาชีพสื่อและหน่วยงานที่รับผิดชอบขาดการควบคุมกำกับดูแล ไม่ดำเนินการอย่างจริงจังให้บุคลากรและสื่ออยู่ในกรอบ มาตรฐานจรรยาบรรณของวิชาชีพ และบทบาท อิทธิพลของเจ้าของกิจการสื่อรวมถึงประชาชนผู้บริโภคสื่อ ขาดวิจารณญาณ เหล่านี้เป็นสาเหตุส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมขยายตัวเป็นการใช้ความรุนแรงที่ควบคุมไม่ได้
ฉะนั้นสื่อสารมวลชนจึงจาเป็นต้องเปลี่ยนแปลงกระบวนการสื่อสารมวลชนทั้งระบบให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพื่อตอบสนองความคาดหวังของประชาชน ถึงความผาสุก สงบร่มเย็นและความเจริญก้าวหน้าของสังคมไทยอย่างยั่งยืน คณะเตรียมการปฏิรูปฯ ได้ดำเนินการสรุป กรอบความเห็นร่วมจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับออกมาเป็น 3 ประเด็นหลัก คือ (1.) การปฏิรูปกิจการและการประกอบการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทุกรูปแบบ (2.) เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อ และ (3.) คุณธรรมและจริยธรรมของสื่อ
รายงานการศึกษาข้อมูลด้านสื่อ ยังระบุด้วยว่า การปฏิรูปสื่อสารมวลชน คือ การปรับตัวของสื่อสารมวลชน และผู้เสพสื่อ(ผู้บริโภคสื่อ) ไปพร้อมๆกันให้สมดุลสมกัน สื่อไม่หลอกผู้เสพสื่อ และผู้เสพสื่อไม่โดนจูงใจหรือมีภูมิป้องกันความเสี่ยงไม่โดนหลอกง่าย
โดยรากฐานปัญหาส่วนหนึ่ง มาจากสื่อสารมวลชน และการสร้างความเข้าใจที่มีผลต่อระบบแนวความคิดของคนในชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีสื่อสารมวลชนที่ทาหน้าที่ของสื่ออย่างที่ควรจะเป็น คือ การให้ข่าวสารที่มุ่งสร้างความปรองดองให้คนในชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และพัฒนาไปในแนวทางที่ยั่งยืนเหมาะสมกับมิติพื้นฐานวัฒนธรรมและ
จิตวิญญาณประเทศไทยในขณะที่สื่อรับใช้สังคมด้วยการนำความจริงมารายงานตามที่ได้เห็น ได้ยินการทำหน้าที่ของสื่ออย่างซื่อตรงต่ออุดมการณ์วิชาชีพ ก็เท่ากับร่วมกันปฏิรูปสิ่งต่างๆนั้นให้สำเร็จ ดังนั้น สื่อสารมวลชนทั้งระบบ ควรทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาที่ดีแก่สังคม เสมือนเป็นอีกกลไกพิเศษ ตรวจสอบบุคคล องค์กรต่างๆและกลุ่มก้อนผลประโยชน์ โดยคนปกติไม่อยากหูหนวกตาบอด แม้เกิดมาพิการก็ต้องหาทางชดเชยฉันใดก็ฉันนั้น สื่อควรเป็นตาที่ให้ความสว่างทางปัญญาแก่สังคม ไม่ใช่ครอบงำด้วยความไม่รู้หรือโฆษณาชวนเชื่อจนแสงสว่างแห่ง
"ปัญญานั้นถูกบดบังให้มืดมิด สื่อควรเป็นหูที่ได้ยินชัดเจนแก่สังคม การรับรู้ของประชาชนต้องไม่คลุมเครือ ครึ่งๆกลางๆจริงปนเท็จ หรือถูกบิดเบือน และต้องไม่แปลความผิดๆแนวทางการทำงานของสื่อสารมวลชนทั้งระบบ จึงเป็นหัวใจ ควรทำงานอย่างสอดคล้อง ยึดหลักวิชาการและกรอบจรรยาบรรณวิชาชีพ เป็นพื้นฐาน เช่น การเข้าสู่ระบบธุรกิจของระบบทุนนิยม คือ ปัญหาใหญ่ หนังสือพิมพ์วิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ต้องทำรายได้ตามที่เจ้าของกิจการ และผู้ถือหุ้นสั่งการพนักงาน นักข่าว และผู้ทำงาน"
"สื่อสารมวลชนทั้งหลายก็เริ่มคิดว่าเงิน คือผลตอบแทนสาคัญในอาชีพ จรรยาบรรณที่ว่ายอมเสียเงินและค่าใช้จ่ายทุกอย่างเพื่อความจริง กลายเป็นการขายเนื้อที่โฆษณา และขายข่าวประชาสัมพันธ์ให้กับลูกค้าและสินค้า จึงกลายเป็นเครื่องมือโฆษณาประชาสัมพันธ์ชวนเชื่อในที่สุด"
เหล่าบรรณาธิการข่าว หันเหความสนใจไปจากงานของสื่อสารมวลชนที่เคยยึดเป้าหมาย ของการทำหน้าที่พลเมืองดีต่อสังคมไป เป็นการทำลายความจงรักภักดีที่สื่อสารมวลชนเคยมีต่อผู้อ่าน และทำลายความมั่นคงเติบโตของธุรกิจสื่อสารมวลชนในระยะยาว
ความเสื่อมของนักสื่อสารมวลชน ทั้งนักหนังสือพิมพ์ นักวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ เกิดจากสาเหตุอื่นๆอีกมาก สื่อสารมวลชนทำตัวเป็นดาราค่าตัวแพง ผู้ประกาศข่าวกลายเป็นดาราที่แสดงเพียงบทอ่านข่าว ส่วนผู้สื่อข่าวที่ทำงานหนักจริงจังมีรายได้น้อยแทบเลี้ยงครอบครัวไม่รอด ผู้สื่อข่าวสงครามบาดเจ็บล้มตายไปมากมาย ส่วนดาราอ่านข่าวหน้ากล้องเข้าสังคมหรูหรา
"นักข่าวรุ่นใหม่เด็กเกินไป งานมากเกินไปเกินกว่าจะเข้าหาความจริงได้ลึกซึ้ง ประสบการณ์น้อยเกินไปจนตกเป็นเครื่องมือของนักประชาสัมพันธ์ได้ก็มีมาก นักข่าวที่ร่วมมือกับนักการเมืองก็มีไม่น้อยเช่นกัน ทำให้มุมมองความจริงเรื่องประชาธิปไตยเปลี่ยนไป นักข่าวรุ่นแรกเริ่มที่เคยเป็นหัวใจของพลังสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในอดีตหายไป ดังที่กล่าวข้างต้นจึงเห็นว่างานสื่อสารมวลชนนั้นมีความสำคัญมากกว่าความเป็นธุรกิจสุดท้ายนักสื่อสารมวลชน ก็คือปุถุชน เพียงแต่ว่าพวกเขาเหล่านั้นมีความสามารถ มุ่งมั่นและมีโอกาส ที่จะได้ทำหน้าที่สื่อสารมวลชน"
"ส่วนจะเป็นนักสื่อสารมวลชนที่ดีมีคุณภาพ ได้จริงและนานแค่ไหน ขึ้นอยู่ที่จิตสานึกส่วนตัวและตัวตนที่แท้จริงในความเป็นคนๆนั้น สรุปได้ว่า ขอให้สื่อสารมวลชนได้เกิดความตระหนักถึงหน้าที่และบทบาทของสื่อสารมวลชน มองไปพร้อมๆ กัน"