กรีนพีซชี้โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ปชช.ไม่มีสิทธิแม้แต่จะปกป้องบ้านตัวเอง
กรีนพีซ ชี้ การต่อสู่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดกระบี่ ประชาชนไม่มีแม้แต่สิทธิที่จะปกป้องบ้านของตัวเอง แนะจับตาการจัดทำผังเมืองใหม่บางจังหวัดเป็นกรณีพิเศษ
ขอบคุณภาพข่าวจาก www.manger.co.th
ภายหลังกรีนพีซร่วมกับเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน จัดเวทีนำเสนอรายงานวิจัยวิถีชีวิตและความหลากหลายทางชีวภาพชายฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดกระบี่ ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวระบุว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินคือหายนะของความหลากหลายทางชีวภาพพื้นที่ชุ่มน้ำ พร้อมทั้งเรียกร้องให้อนุกรรมการการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำดำเนินตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Convention) เพื่อปกป้องคุ้มครอง ปากแม่น้ำกระบี่ให้สมกับเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Wetland of International Importance)
อีกทั้งเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557 ก่อนการจัดเวทีทบทวนร่างรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่หรือ ค.3 (Public Review) 1 วัน กลุ่มค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร่วมกันจุดเทียนวางเรียงกันเป็นข้อความ “NO COAL” พร้อมทั้งอ่านจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนของการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน
นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษร์สำนักข่าวอิศรา ถึงการดำเนินการต่อสู้และคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินว่า จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีให้เห็นเป็นตัวอย่างในหลายๆประเทศ ปัญหาตอนนี้จึงไม่ใช่เพียงแค่สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ส่งผลถึงสุขภาพของคนในพื้นที่และใกล้เคียง
"เสียงจากประชาชนที่ดังขึ้นเพราะกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือการให้ข้อมูลเป็นการให้ข้อมูลเพียงด้านเดียว ที่ระบุถึงเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสามารถจัดการได้ทุกอย่าง แต่ความสงสัยคือไม่มีการอธิบายถึงผลกระทบที่ตามมาอีกทั้งการโฆษณาที่ไม่เป็น Zero waste
“สิ่งที่การไฟฟ้าฯ นำเสนอที่บอกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่เห็นมลพิษออกมา เพราะจะดักจับได้หมด ซึ่งจริงๆแล้วไม่สามารถดักจับหมด อีกทั้งการไฟฟ้าไม่ได้บอกชาวบ้านว่า การปล่อยสารพิษออกมาเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งชนิดไหนบ้างที่ต้องอยู่ในนั้น โดยเฉพาะเรื่องใหญ่ของประเทศไทย คือ สารปรอทไม่มีมาตรการในการจัดการร่วมถึงเรื่องในเรื่องกฎหมายด้วย”นางสาวจริยากล่าว และว่า ไทยไม่เหมือนต่างประเทศที่ค่อนข้างจะเข้มงวดในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการตรวจจับ ซึ่งมาตรการการตรวจสารปนเปื้อนไม่มีอยู่ใน EIA หรือ การตรวจสอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เลย
เมื่อถามถึงการที่ กฟผ. ระบุถึงเหตุที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะว่าภาคใต้มีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอนั้น นางสาวจริยา กล่าวว่า ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ แต่ที่ กฟฝ.บอกว่าไม่เพียงพอนั้นไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งหมดในอนาคต ขณะเดียวกันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าฯที่มีผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคน แต่ไม่มีความพยายามในการสร้างพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานชีวมวล เป็นต้น
นางสาวจริยา กล่าวถึงจุดอ่อนของประเทศไทยคือการมีนโยบายมาจากระดับบนว่าจะนำถ่านหินมาใช้ แต่การนำมาใช้นั้นจะต้องสำรวจในแต่ละจังหวัดว่า มีพลังงานอื่นที่สามารถเข้ามาทดแทนได้หรือไม่ ในกรณีของกระบี่ข้อมูลในการสำรวจระบุอย่างชัดเจนว่า สามารถนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ได้ในพื้นที่ภายในเวลา 2 ปี แต่ไม่มีหน่วยงานไหนดำเนินการ
“สิ่งที่ต้องจับตาคือเร็วๆนี้จะมีการจัดทำผังเมืองใหม่บางจังหวัดเป็นกรณีพิเศษ จะมีทีมผังเมืองในระดับนโยบายลงไปทำงานกับผังเมืองแต่ละจังหวัดและเปลี่ยนสี ผังเมืองของจังหวัดนั้นๆให้เป็นผังเมืองสีของที่จะใช้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมได้ ”
เมื่อถามถึงการต่อสู้ของภาคประชาชนต่อจากนี้ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ กล่าวว่า การปฏิรูปพลังงานที่ภาคประชาชนต่อสู้มาตลอด ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตามถือว่าหนักขึ้นกว่าการต่อสู้ที่ผ่านมา ยิ่งในปัจจุบันประชาชนไม่มีสิทธิหรือประชาธิปไตยในเรื่องของสิ่งแวดล้อมเลย ไม่มีสิทธิที่จะปกป้องบ้านของตัวเอง อย่างที่เห็นล่าสุดที่เกิดขึ้นที่กระบี่
อ่านข่าวประกอบ กลุ่มค้านถ่านหินกระบี่จุดเทียนไล่ความมืด เขียนจม.วิพากษ์“ประยุทธ์”เลือกข้างกลุ่มทุน