สคร.มั่นใจระบบ COST สร้างความโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น โครงการขนาดใหญ่
สคร.มั่นใจ ระบบ COST สร้างความโปร่งใส ไร้คอร์รัปชั่น ระบบลงทุนการจัดซื้อในภาครัฐ พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการ MSG ตรวจสอบ
วันที่ 11 ตุลาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) จัดงานประชุมสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้มีการอธิบายเกี่ยวกับระบบ COST ซึ่งเป็นการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวถึงการกำหนดแผนการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจว่า การดำเนินงานการกำหนดทิศทางปฏิรูปจะมีแนวทางที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการวางรากฐานกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจให้เป็นบรรษัทภิบาล รวมถึงการเสนอร่างกฎหมายการพัฒนาและกำกับดูรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเคยเสนอมาตั้งแต่ปี 2553-2554 ในรัฐบาลสมัยก่อน แต่ถูกนำออกเนื่องจากเหตุผลจากการแย้งอำนาจต่างๆ ในขณะนั้น
“เบื้องต้นที่กำหนดคร่าว ๆ คือจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางในการดูแลรัฐวิสาหกิจ มีการจัดตั้งกรรมการที่จะคัดสรรจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสมกับรัฐวิสาหกิจแต่ละสาขา กำหนดกระบวนการที่เป็นการจัดซื้อจัดจ้างไว้ในระบบกฎหมาย และมีกลไกการป้องกันการแทรกแซงโดยฝ่ายบริหารงาน รวมทั้งมีการบริหารความเสี่ยงและมีการสร้างระบบควบคุมภายในตามหลักสากล อีกทั้งระบบการประเมิน รวมไปถึงการสร้างกลไกลในการแก้ไขปัญหาด้านการดำเนินการของรัฐวิสากิจ”
ผอ.สคร.กล่าวถึงการสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจตามนโยบายของรัฐบาล โดยจะมีการนำระบบการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐ (Construction Sector Transparency Initiative:COST) ของประเทศอังกฤษมาใช้ และนำร่องในโครงการสุวรรณภูมิ ระยะ 2 รวมถึงการจัดซื้อรถ NGV และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายที่จะนำข้อตกลงสัญญาคุณธรรม(Integrity Pact) เข้ามาใช้เช่นกัน
"ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2557 ประเทศไทยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการของระบบ COST เข้าเป็นสมาชิกเรียบร้อยแล้ว"นายกุลิส กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามการนำระบบ COST มาดำเนินการตรวจสอบในการดำเนินการ โดยจัดตั้งทีมตรวจสอบความครบถ้วนของข้อมูลที่ต้องเปิดเผยและจัดทำรายงานสรุป ซึ่ง สคร.ร่วมกับ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทย (ACT) ศึกษาแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลของโครงการก่อสร้างว่าจะจัดทำในรูปแบบไหน มีขั้นตอนอย่างไรให้สอดคล้องกับ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งจัดคณะกรรมการร่วมของผู้มีส่วนได้เสียหรือที่เรียกว่า multi-stakeholder group (MSG) ในการตรวจสอบ ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะคัดเลือกจากตัวแทนจาก 3 กลุ่มด้วยกัน คือ ภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาชน
ส่วนระบบสัญญาคุณธรรมนั้น ผอ.สคร. กล่าวว่า จะมีการดำเนินการในเชิงของความร่วมมือการทำสัญญาของการทำงานอย่างโปร่งใส ไม่ทุจริต ไม่มีการเรียกร้องสินบน ซึ่งจะเป็นการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐและเจ้าของโครงการ ในตอนนี้นำร่องอยู่ 2 โครงการได้แก่ การจัดซื้อรถเมล์ NGV และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของส่วนต่อขยาย
"สคร. มีความมั่นใจในระบบ COST ว่าจะสามารถตรวจสอบและดำเนินการให้เกิดความโปร่งใสอย่างแน่นอน เพราะตัวอย่างจากประเทศอื่น เช่น ฟิลิปปินส์ก็ดี เวียดนามก็ดี หลังที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเช่นเดียวกับประเทศไทยการนำระบบนี้มาใช้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ลำดับในการทุจริตอร์รัปชั่นมีน้อยลงอย่างเห็นได้เห็นได้ชัด" ผอ.สคร.กล่าว