สปช. “บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์”ตอบโจทย์ การเมือง-สิ่งแวดล้อม ที่ควรปฏิรูป
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์” ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม(ธ.พ.ส.ส.) ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. และเข้าไปรายงานตัวที่รัฐสภามาเรียบร้อยแล้วเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ “ดร.บัณฑูร” เคยทำงานเป็นผู้ชำนาญการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรกที่มี “ดร.เสน่ห์ จามริก” เป็นประธาน ต่อมา เขาเป็นแนวร่วมแถวหน้าในการก่อตั้งเครือเดินหน้าปฏิรูป(Reform Now Network) หลังเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยเมื่อปีก่อน และทำงานด้านนโยบายสาธารณะเชิงลึกกับประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ เขายังเป็นดร.ด้านรัฐศาสตร์ ที่อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองและสิ่งแวดล้อมให้เชื่อมโยง เข้าใจได้ง่ายอย่างเป็นระบบ เขาบอกว่า “...จริงๆแล้วเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นการปฏิรูปการเมืองโดยแท้”
สำนักข่าวอิศรา จับเข่าคุยกับ “ดร.บัณฑูร” ว่าด้วยแนวคิดการปฏิรูปที่ควรจะเป็น ในหลายประเด็นดังนี้
.............
มีการมอบหมายงานจากคสช.ไหมครับว่า คุณต้องเข้ามาทำงานด้านใดบ้าง
คสช.ไม่ได้ติดต่อมอบหมายงานอะไร แต่คงเป็นไปตามกรอบหน้าที่ ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดบทบาทหน้าที่ของสปช. ซึ่งในแง่การทำงานหน้าจะมี 2 ประเด็นคือ เนื้อหากับวิธีทำงาน สำหรับวิธีทำงาน ผมพูดกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานอยู่ด้วยกันว่า สปช.ไม่น่าจะเป็นคนที่รับเหมาการปฏิรูป ไม่ใช่คน 250 คน คิดหรือตัดสินใจแทนประชาชนทั้งประเทศ
สปช.น่าจะเป็นแค่หนึ่งกลไกของการปฏิรูปและทำหน้าที่เปิดหรือขยายพื้นที่การมีส่วนร่วมให้มีความตื่นตัว ซึ่งปัจจุบันมีบุคคล องค์กร เครือข่ายที่ทำเรื่องปฏิรูปและรู้กันอยู่ว่าใครทำอะไรที่ไหน เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกันในวาระการปฏิรูป
ที่สำคัญจะเป็นหลักประกันว่า เมื่อมีผลสรุปหรือข้อเสนอที่ออกมาจากสปช.ในอนาคต จะได้เป็นความมั่นคงของข้อเสนอหรือข้อสรุปเหล่านั้นว่าไม่ได้เกิดจากคน 250 คน คิดกันเอง เขียนกันเอง แต่มาจากการมีส่วนร่วมของสังคมที่ตัดสินใจร่วมกัน
ฉะนั้น เมื่อมีรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะพรรคใด ก็จะได้ไม่มาฉีกสิ่งที่ออกแรงร่วมทำกันมา ในทางกลับกันหากเป็นเรื่องของ250 คน ขีดเขียนขึ้นมาเอง ไม่ยากเลยที่รัฐบาลใหม่จะโยนทิ้ง ดังนั้น สปช.ต้องไม่ใช่ผู้รับเหมาการปฏิรูป แต่จะเป็นกลไกลที่ช่วยขยายพื้นที่ทางการเมือง พื้นที่การมีส่วนร่วม ดึงพลังทางสังคมมาเสริมให้การปฏิรูปครั้งนี้ก้าวหน้า ไม่ซ้ำรอบหรือเสียของเหมือนที่ผ่านมา
ส่วนในแง่เนื้อหา โจทย์เบื้องต้นมี 10 เรื่องแน่ๆ แต่ที่ได้คุยกับสปช.หลายท่านก็คงจะเป็น 10+XX ไม่ใช่ 10+1 ยกตัวอย่างให้ชัดคือ เรื่องเกษตร แรงงาน ศิลปวัฒนธรรม เรื่องเหล่านี้เริ่มมีคนส่งเสียงว่าประเด็นเหล่านี้หายไปไหน แล้วจะอยู่ตรงไหน ฉะนั้นต้องมาดูว่าเรื่องอะไรบ้างเป็นเรื่องสำคัญ มีคนสนใจ เรียกร้อง และจะไม่ตกหล่นไปจากการปฏิรูป
แนวทางการทำงานจะเป็นแบบไหน
ในแต่ละเรื่องต้องทำออกมาในเชิงโรดแมป หมายความว่า มีลำดับความสำคัญของตัวมันเอง ทั้งในแง่กฏหมายและไม่ใช่กฏหมาย จะต้องบอกให้ได้ว่าใน 1 ปี อะไรบ้างที่ต้องเห็นความสำเร็จที่ชี้วัดได้ และเรื่องอะไรบ้างทำหลัง 1 ปีก็ได้ เพราะหากนำทุกเรื่องมาทำใน 1 ปี พร้อมกัน ไม่เสร็จสักเรื่อง แล้วก็จะล้มเหลว
บางเรื่องเป็นข้อเสนอไปสู่รัฐธรรมนูญ สู่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ไปสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) บางเรื่องเป็นปฏิบัติการของภาคประชาสังคมด้วยกันเอง บางเรื่องนักวิชาการต้องออกแรง เพราะถ้าทุกอย่างในการปฏิรูปขึ้นอยู่กับภาคการเมืองจะนำมาสู่ความเสี่ยง แต่ต้องมีข้อเสนอสู่ภาคการเมืองและภาคสังคมอื่นๆ
แล้วอะไรบ้างที่ต้องเร่งปฏิรูปให้ได้ใน 1 ปี
แต่ละกลุ่มใน 11 ด้านต้องไปหาคำตอบกันมา ยกตัวอย่างในมุมสิ่งแวดล้อมที่ผมทำอยู่ เช่น ถ้าไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ผมเห็นความสำคัญของเครื่องมือในการตัดสินใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เครื่องมือที่เราใช้อยู่มี EIA (Environmental Impact Assessment ) และ EHIA (Environment and Health Impact Assessment) ซึ่งวันนี้กลายเป็นกับดักของความขัดแย้ง ไม่เชื่อใจกัน นำไปสู่การแบ่งฝ่ายคั้นค้าน อันนี้ต้องปฏิรูปให้ได้ใน 1 ปี
ขณะเดียวกันต้องมีเครื่องมือใหม่มาใช้ คือ สิ่งที่เรียกว่าการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์หรือSEA (Strategic Environmental Assessment) เหตุผลก็คือ ตัว EIA และ EHIA เป็นเครื่องมือที่ช่วยตัดสินใจในระดับโครงการ แต่ไม่ได้ช่วยมองในเชิงนโยบาย การพัฒนาเชิงพื้นที่ การวางแผนพัฒนาในระดับลุ่มน้ำ หรือมองเป็นภูมิภาค
อีกส่วนคือเรื่องชุดกฎหมาย อย่างน้อย 2 ฉบับที่สำคัญ คือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม ปี2535 หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ใช้มา 22 ปีแล้ว ตอนมีรัฐธรรมนูญ2540 กฎหมายนี้ก็ช้าไปหลายเรื่อง ไม่ก้าวหน้า พอมีรัฐธรรมนูญ2550 ยิ่งไปกันใหญ่ ไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมที่มีระดับความรุนแรงสูงขึ้น และสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปลี่ยนไป
ฉะนั้น พ.ร.บ. ที่ร่างไว้เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ต้องปรับเยอะเพราะล้าหลังไปแล้ว เพราะนี่คือกฎหมายหลักเป็นแกนกลางที่มีผลต่อการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ปัจจุบันกฎหมายทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของไทยมีกว่า 50 ฉบับ แต่หากจะนำ 50 ฉบับมาแก้กันใน 1ปี ไม่ทันแน่
จึงต้องหากฎหมายที่เป็นตัวกลางแล้วเชื่อหรือยึดโยงกับกฎหมายอื่นๆ ส่วนกฎหมาย 50 ฉบับนั้นถ้ามีแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ ขัดแย้งหรือต่ำกว่ามาตรฐานกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่เราจะแก้กันใหม่ ก็มายึดโยงใช้กฎหมายฉบับนี้ นี่เป็นแนวทางที่จะสามารถเดินไปข้างหน้าได้ แล้วกฎหมายอีก50 ฉบับมาแก้ภายหลังได้ ส่วนอีกกฎหมายที่ต้องทำคือ พ.ร.บ.ผังเมือง
ถ้าทำ 2 เรื่องนี้ก็จะเชื่อมกับการบริหารจัดการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนามบิน ท่าเรือ โรงไฟฟ้า โรงงานอุตสาหกรรม ทรัพยากรที่ดิน ทั้งป่า ประมง น้ำ แรธาตุ ซึ่งยึดโยงกับกฎหมาย 2ฉบับนี้ทั้งนั้น
ในเวทีเครือข่ายปฏิรูป มีข้อเสนอแบบนี้ไหม แล้วจะนำไปใช้ให้เกิดมรรคผลได้อย่างไร
มีครับ แต่ข้อสนับสนุนที่สปช.จะกำหนดหรือวางลำดับความสำคัญ จะเป็นตัวเช็คได้ว่าสอดคล้องกับโจทย์ของประชาชนจริงมั๊ย ก็จะนำข้อมูลจากเวทีต่างๆที่จัดมาแล้วและจะจัดต่อไปมาเป็นตัวเช็ค กับอีกส่วนหนึ่งจะมีข้อเสนอดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับโจทย์ปฏิรูปทั้ง 11 เรื่อง ที่เกิดจากเวทีต่างๆ สามารถดึงมาใช้ประโยชน์ได้เลย
เช่นข้อเสนออะไรบ้าง ที่เป็นรูปธรรมที่น่าสนใจ
ยกตัวอย่างเรื่อง EIA และ EHIA ในระบบเดิมเจ้าของโครงการไม่ว่ารัฐหรือเอกชนจะเป็นผู้ว่าจ้างคนทำรายงานโดยตรง จนนำมาสู่ความไม่ไว้วางใจว่าคนทำรายงานกล้ารายงานตรงไปตรงมาหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการผ่านหรือไม่ผ่านโครงการ
มีข้อเสนอจากการจัดเวทีสาธารณะหลายครั้งยืนยันตรงกันว่า จะต้องแยกความสำคัญตรงนี้ อย่าให้เจ้าของโครงการเป็นผู้จ้างตรง ให้ออกแบบระบบใหม่โดยมีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ทำหน้าที่ matching ระหว่างโครงการที่ต้องประเมินกับคนที่ทำ อย่าให้เจ้าของโครงการจ้างตรง แต่เอาเงินจากเจ้าของโครงการมาไว้กองกลาง แล้วหาผู้จัดทำรายงานให้เหมาะกับโครงการแต่ละประเภท
ผมมองว่า 10+xx ไม่ได้แยกขาดจากกันแต่มีความเชื่อมโยงกันหมด อย่างเรื่องคอร์รัปชั่นชัดเจนมากว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องการศึกษา การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปการเมือง และเกี่ยวโยงกับการปฏิรูปสิ่งแวดล้อม การอนุมัติอนุญาต การใช้ที่ดิน ป่าไม้ หรือให้สัมปทานเหมือง
เชื่อมโยงกันอย่างไร
ปฏิรูปการศึกษาก็เกี่ยวโยงกับการปฎิรูปเศรษฐกิจ เราจะปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เรายังไม่มีบุคลากรที่มีคุณภาพจากการศึกษาที่ตอบโจทย์กับทิศทางการปฏิรูปเศรษฐกิจแบบนี้ ซึ่งในแง่การทำงานคงต้องมีคณะหรือกรรมาธิการที่ลงลึกในแต่ละประเด็น แต่ต้องมองถึงความเชื่อมโยงระหว่างโจทย์ปฏิรูปที่มีผลต่อกัน ผมอาจจะดูเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลักแต่ก็อาจจะมีเชื่อมโยงกับบางเรื่องที่เคยทำมา เช่น การปฏิรูปการเมือง ซึ่งจริงแล้วๆเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นการปฏิรูปการเมืองโดยแท้นะครับ
มีเหตุผลอะไรรองรับที่ทำให้คิดแบบนั้น
นิยามพื้นฐานการเมืองในวิชารัฐศาสตร์คือการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร ตรงกับเรื่องนี้เลย ป่า ที่ดิน น้ำ เหมืองแร่ ที่มีอยู่ จะจัดสรรให้ใครใช้ ไม่ให้ใครใช้ เรื่องน้ำที่เกิดปัญหาน้ำท่วมจะให้ตรงไหนท่วม ตรงไหนไม่ท่วม ด้วยเหตุผลอะไร ตัดสินใจอย่างไรนี่คือเรื่องการใช้อำนาจทางการเมือง
การเมืองมีทั้งเรื่องการออกแบบสถาบันการเมืองว่าเราต้องปฏิรูปกันใหม่ เช่น กลไกลการเข้าสู่อำนาจ ระบบการเลือกตั้ง การใช้อำนาจทางการเมือง และการเมืองเรื่องสิ่งแวดล้อม จะตรวจสอบการใช้อำนาจเรื่องสิ่งแวดล้อมจากมิติของการปฏิรูปการเมือง จะการใช้อำนาจทางการเมืองอย่างไรที่ไม่ให้กระทบกับสิทธิประชาชนหรือสิทธิของชุมชนที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมทรัพยากร นี่คือโจทย์ที่เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองโดยตรง เป็นหัวใจเลย ผมพูดในเวทีสาธารณะเสมอว่า การปฏิรูปสิ่งแวดล้อมคือ การปฏิรูปการเมืองว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อม การใช้อำนาจ จัดสรรอำนาจการเข้าถึงทรัพยากร
นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ในเชิงการเมืองมิติอื่นๆ มีอะไรที่ควรจะต้องปฏิรูปบ้างใน 1 ปี
ที่ผมมีส่วนเกี่ยวข้องและทำงานช่วงที่ผ่านมาคือ การกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งเชื่อมโยงกับการปฏิรูปการเมือง เช่น ในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยระบบเลือกตั้ง วันนี้ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกตั้ง 1.คือ นโยบายหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งจะออกแบบให้กติกา การกำหนดนโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งอย่างไร เป็นโจทย์หนึ่งในการปฏิรูปกติกาและระบบการเลือกตั้ง เชื่อมโยงกับการกำหนดนโยบายสาธารณะ
พูดให้เห็นภาพก็คือ เราต้องทำให้เห็นความต่างระหว่างนโยบายยุทธศาสตร์ชาติกับนโยบายของรัฐบาล นโยบายยุทธศาสตร์ชาติควรเป็นเรื่องระยะยาว และไม่ควรเปลี่ยนแปลงไปตามวาระของรัฐบาล หรือแม้แต่การเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีแต่ละครั้ง
ในประเทศสแกนดิเนเวีย มีนโยบายยุทธศาสตร์ชาติว่า ต้องให้พ่อ แม่ ลูก อยู่ด้วยกันในช่วง 6 เดือนแรก เลี้ยงลูกด้วยกันตั้งแต่แรกเกิด เพราะมีงานวิจัยระบุยืนยันว่าการที่พ่อ แม่ ลูก อยู่ด้วยกัน มีทั้งไอคิวและอีคิว สามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้ เป็นกำลังของการพัฒนาประเทศต่อไปได้ เขาตั้งธงไว้เลยว่าประเทศเขาต้องทำแบบนี้ให้ได้
ดังนั้น รัฐบาลที่เข้ามาไม่มีสิทธิเปลี่ยนเรื่องนี้ ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตามและต้องไปหายุทธศาสตร์หรือมาตรการที่มาส่งเสริมเรื่องนี้ จะให้แรงจูงใจ เช่น ลดภาษีให้กับบริษัทเอกชนที่อนุญาตให้พ่อมาเลี้ยงลูกกับแม่ หรือมีนโยบายให้หน่วยงานราชการอนุญาตให้ข้าราชการผู้ชายผู้หญิงไปเลี้ยงลูกด้วยกัน ให้ถือเป็นวันลา นี่คือเรื่องที่รัฐบาลต้องไปคิด แต่ต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติให้ได้ ห้ามเปลี่ยน
แต่ของไทยเราเปลี่ยนทุกครั้ง ทั้งรัฐบาลและรัฐมนตรี นี่จึงเป็นสิ่งที่เราเห็นจากกระทรวงศึกษาฯว่าทำไมในไม่กี่ปีเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยเหลือเกิน จึงเห็นความล้มเหลวของนโยบายยุทธศาสตร์เรื่องการศึกษาของประเทศ ตรงนี้ผมพูดเพื่อให้เห็นภาพว่านโยบายหาเสียงเลือกตั้งจะต้องมีแนวทางสอดคล้องกับนโยบายยุทธศาสตร์ชาติ
ถามว่า นโยบายยุทธศาสตร์ชาติมาจากไหน หนึ่งคือแนวพื้นฐานนโยบายของรัฐในรัฐธรรมนูญมีอยู่ เช่น เดิมเขียนว่ารัฐจะต้องมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม นี่คือยุทธศาสตร์ชาติ รัฐบาลต้องเข้ามาทำเรื่องนี้
จะใช้เรื่องภาษีปฏิรูปที่ดิน หรือใช้เครื่องมืออะไรเป็นเรื่องที่คุณหาเสียงได้ แต่ต้องตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ในสภาพัฒน์ฯ ขณะเดียวกันเรายังมีแผนแม่บทการพัฒนาด้านต่างๆทั้งเรื่องสาธารณะสุข เกษตร แผนแม่บทเรื่องยาง พลังงาน
สิ่งเหล่านี้คือทิศทางที่นำมาเป็นกรอบยุทธศาสตร์ชาติได้ แล้วไปคิดนโยบายหาเสียงเลือกตั้งมาตอบโจทย์เหล่านี้ และต้องพูดด้วยว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 8 เป็นต้นมาที่ท่านดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เป็นเลขาฯ ไม่ใช่สภาพัฒน์ฯเขียนนะครับ แต่ประชาชนร่วมกันเขียน
ฉะนั้นนี่คือแผนของประชาชน แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่า ประชาชนร่วมกันเขียนแผนไว้ แต่เมื่อมีรัฐบาลเข้ามา รัฐบาลก็ไปออกนโยบายที่ไม่ได้สอดคล้องกับแผนชาติหรือแผนประชาชนเลย เราปล่อยให้เป็นอย่างนี้มานาน แล้วก็สร้างปัญหาตามมา เช่น นโยบายประชานิยม
แผนสภาพัฒน์ฯบอกว่า เราจะพัฒนาสังคมไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่บางรัฐบาลเข้ามาส่งเสริมรถยนต์คันแรก นี่เป็นตัวอย่างว่าเราจะปฏิรูปการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวโยงกับมิติการหาเสียงเลือกตั้งได้ย่างไร
เมื่อเข้าสู่อำนาจทางการเมืองแล้ว การออกนโยบายก็ออกมาทางคณะรัฐมนตรี(ครม.)กรรมการแห่งชาติทั้งหลาย ตรงนี้เป็นกลไกการใช้อำนาจ นายกฯ รัฐมนตรี ก็มานั่งในหน่วยงานเหล่านี้ เราก็ต้องปฏิรูปกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะของกรรมการเหล่านี้
ตั้งแต่ที่มา องค์ประกอบของกรรมการ วิธีตัดสินใจ อย่างที่มาก็จะเป็นรัฐมนตรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐมนตรีเป็นเจ้าของเรื่องแต่งตั้งมา ถามว่าประชาชนอยู่ที่ไหน การมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ตรงไหน ก็ต้องจัดองค์ประกอบที่มากันใหม่ เป็นไปได้ไหมที่ให้มีตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนซึ่งเป็นคนที่ทำงานในเรื่องนั้นๆ ที่ประชาชนเลือกเข้าไป
สำหรับวิธีการตัดสินใจ ที่ผ่านมากรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็ไปคุยกันในทำเนียบฯ ปิดห้องคุยกัน ข้อมูลที่มาจากภาคประชาชนที่จะไปร่วมเสนอด้วยไม่มี ก็ต้องเปลี่ยนกระบวนการตรงนี้ นี่คือการปฏิรูปการใช้อำนาจที่ผ่านการกำหนดนโยบายสาธารณะ
ที่พูดมานี้เป็นประโยชน์ทั้งสิ้น แต่จะนำไปถกเถียงในสปช.ให้เกิดเป็นรูปธรรมได้มากน้อยแค่ไหน
เท่าที่คุยกับสมาชิกที่เคยทำงานร่วมกันแล้วเขาไปอยู่ในสปช. ก็เห็นไปในทิศทางคล้ายๆกันว่า ถ้าพูดถึงวาระการปฏิรูป มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงหรือตอบโจทย์กับสังคมในเวลานี้ ถ้าไม่เปลี่ยนเรื่องเหล่านี้ก็ไม่เรียกว่าการปฏิรูป ฉะนั้นนี่เป็นวาระและภาระที่เรียกร้องให้ทั้งสปช.และกลไกปฏิรูปภาคประชาชนมาร่วมกันออกแรงนำเสนอ ผมไม่สามารถตอบแบบฟันธงได้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น แต่ที่ผมตอบได้คือ สิ่งที่พูดมาคือที่มาของวาระการปฏิรูป ถ้าไม่ทำก็เป็นเป็นความล้มเหลวที่อธิบายไม่ได้ว่าทำไมไม่ทำให้เกิดขึ้น
ภาครัฐกับประชาชนจะหลอมรวมทำงานเป็นเนื้อเดียวกันได้จริงหรือ
ที่ผ่านมา ก็มีการหลอมรวมกันยู่ในระดับที่มากพอสมควร จากสถานการณ์ความขัดแย้งที่ผ่านมาซึ่งเป็นปัจจัยเรียกร้องและหนุนให้ภาคส่วนต่างๆ เห็นโจทย์ร่วมกันของสังคมว่าต้องปฏิรูป แต่ก็ต้องยอมรับว่ายังมีความเห็น ข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ที่ยังตรงกัน ก็เป็นเรื่องปกติ ก็ต้องเป็นกระบวนการที่จะเกิดขึ้นใน1 ปีนี้แหละที่ภาคส่วนต่างๆ ภาควิชาการ นักธุรกิจ เอ็นจีโอ หรือภาคส่วนอื่นๆที่มีพื้นที่การทำงานร่วมกันแล้ว หลอมหลวมกันมาแล้วระดับหนึ่ง จะได้นำมาสู่ทางเลือกหาคำตอบในการปฏิรูปร่วมกัน ผมคิดว่าบางเรื่องหาจุดร่วมกันได้ไม่ยาก บางเรื่องก็ยังมีข้อถกเถียง ซึ่งในช่วง 1 ปี จะค่อยๆแกะปมความคิดเห็นที่แตกต่างกัน
สิ่งที่ควรปฏิรูปเร่งด่วนสำหรับคุณมีเรื่องอะไรบ้าง
การปฏิรูปมีทั้งเรื่องที่เป็นกฎหมายและเรื่องที่ไม่ใช่กฎหมาย หรือในเชิงมาตรการและนโยบาย บางเรื่องก็ลงมือปฏิบัติได้เลย ฉะนั้นใน 1 ปี เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย ผมคาดหวังว่าจะเห็นความก้าวหน้าหรือข้อเสนอที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้เลย ไม่ต้องรอกฎหมาย ซึ่งคณะทำงาน 11 ด้านต้องไปหาจุดคลิกร่วมกันให้ได้ แล้วนำมาทำใน 1 ปี
หากได้จุดคลิกร่วมกันแล้ว อะไรที่ควรปฏิรูปทันที
เรื่องเกษตรครับ ที่ผ่านมามีข้อเสนอจากเวทีสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติที่ผ่านกระบวนการคิดอย่างกว้างขวางมาเป็นโจทย์ตั้งต้น เช่น กฎหมายเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม 4 ฉบับ ทั้งกฎหมายกองทุนยุติธรรม กฎหมายภาษีที่ดิน โฉนดชุมชน และธนาคารที่ดิน นี่คือประโยชน์ที่นำมาใช้ตั้งต้นเพื่อปฏิรูปได้เลย หรือข้อเสนอที่ไม่เกี่ยวกับกฎหมายก็มีมากมาย เช่น การเสนอให้การกลับไปสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน การจัดการการใช้สารเคมี ซึ่งก็มีข้อเสนอเรื่องการควบคุมการโฆษณาสารเคมี เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอกฏหมายเลย
หนักใจกับภารกิจนี้มั๊ยครับ
ความหนักใจมีครับ เพราะเวลามีอยู่ค่อนข้างจำกัด โจทย์เยอะ ภาระเยอะ แต่ก็ไม่กดดันนะ เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่สังคมส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าประเทศจำเป็นต้องปฏิรูป ฉะนั้นแรงหนุนจากพลังทางสังคมมีความตื่นตัวอยู่เยอะ โดยเฉพาะภาคประชาชนเขาให้ใจ ให้แรงเต็มที่ ผมจึงไม่คิดว่าสปช.จะมีความกดดันแต่จะมีแรงสนับสนุนเยอะที่เป็นวาระปฏิรูปร่วมกัน ระหว่างกลไกระดับชาติกับกลไกจากภาคประชาชน