นิด้าโมเดลปฏิรูปสื่อเสนอตั้ง 'ผู้ตรวจการแผ่นดินด้านสื่อ'หน้าที่คล้ายดีเอสไอ
นิด้าโมเดลปฏิรูปสื่อมวลชน ‘ดร.วรัชญ์ ครุจิต’ ชี้นักข่าวขาดจรรยาบรรณวิชาชีพ องค์กรควบคุมขาดประสิทธิภาพจัดการ เร่งชงออกนโยบายกำกับดูแลร่วมระหว่างองค์กรวิชาชีพ-รัฐ ‘ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ’ จวก กสทช.ทำงานล่าช้า วันต่อวัน ไร้ดันงบฯ พัฒนาวิจัยยกระดับสื่อจริงจัง แนะดันกรอบกระบวนการสรรหาใหม่ ปัดฝุ่น กม. 2 ฉบับ
เร็ว ๆ นี้ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดแถลงข่าว ‘นิด้าโมเดลปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3:กางแผนปฏิรูปโครงสร้างสังคม’ ณ ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี นิด้า โดยในหัวข้อการปฏิรูปด้านข้อมูลข่าวสาร (สื่อสารมวลชน)
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดี ฝ่ายสื่อสารองค์กร และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวถึงปัญหาของสื่อมวลชนไทยเกิดจากการนำเสนอข่าวสารผิดกฎหมายหรือจริยธรรมวิชาชีพมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสื่อที่ผลิตเนื้อหาเป็นประโยชน์ จรรโลงใจ และสร้างสรรค์สังคมสัดส่วนกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่ที่พบในละครแต่ละเรื่องจะต้องมีฉากบังคับพระเอกนางเอกล้มทับกันโดยบังเอิญ พระเอกข่มขืนนางเอก โดยไม่มีความผิด ซึ่งหากเด็กได้รับสารนี้บ่อยครั้งจะเกิดการตอกย้ำเลียนแบบได้
นอกจากนี้สื่อมักนำเสนอภาพข่าวสยดสยองเพื่อนำมาลงหน้าหนึ่ง บางครั้งใช้ภาษาไม่เหมาะสม โดยเฉพาะในโซเซียลมีเดีย ตลอดจนเรื่องราวทางไสยศาสตร์ที่มักถูกนำเสนอช่วงใกล้วันหวยออก แม้จะมีคำเตือนว่า เป็นความเชื่อส่วนบุคคลก็ตาม แต่ทุกครั้งสื่อสารออกมาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์และเชื่อถือได้
สำหรับหน่วยงานรับผิดชอบมีหน้าที่กำกับดูแล นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า เป็นปัญหาที่มีเสียงครหาถึงการจัดการขาดประสิทธิภาพและไร้อำนาจเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หรือกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเปรียบได้กับยักษ์ไม่มีกระบอง ทำได้เพียงการขู่เท่านั้น
“องค์กรสื่อถูกแทรกแซงจากภาคการเมือง กลายเป็นสื่อของรัฐบาล ทั้งที่ความจริงควรทำเพื่อประชาชน หรือถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุนในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หากมีเงินทุนมาก องค์กรสื่อจะเกิดความเกรงใจในการทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา” ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าว และว่า อีกปัญหาหนึ่ง คือ ระบบสวัสดิการและความมั่นคงของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน โดยเฉพาะช่วงเกิดภาวะวิกฤติ มักไม่ได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยดีมากพอ นักข่าวคุณภาพบางส่วนจึงเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอย่างอื่นที่มีรายได้ดีกว่าแทน
กันนักข่าวเถื่อน เสนอทุกองค์กรสื่อเข้าสังกัดองค์กรวิชาชีพ
นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ นิด้า มีข้อเสนอในการปฏิรูปว่า ควรออกกฎหมายและนโยบายในการกำกับดูแลร่วม (CO-REGULATION) โดยสร้างความร่วมมือกำกับดูแลกันระหว่างองค์กรวิชาชีพกับหน่วยงานภาครัฐ ฉะนั้นทุกองค์กรสื่อจะต้องเข้าสังกัดเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพ เพื่อป้องกันการมีนักข่าวเถื่อน เช่น สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เป็นต้น
"หากพบการกระทำผิดต้องส่งเรื่องไปยังหน่วยงานรัฐเพื่อลงโทษต่อไป และให้นำค่าปรับจากการกระทำผิดนั้นอุดหนุนแก่องค์กรวิชาชีพ สำหรับการพัฒนาความเข้มแข็งและกิจกรรมสร้างสรรค์แก่สังคม ทั้งนี้ ต้องจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินด้านสื่อสารมวลชน (Media Ombudsman) เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานขององค์กรสื่อ กรณีรับเรื่องร้องเรียนพิเศษ คล้ายกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)"
สำหรับคุณภาพมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณในองค์กรสื่อของไทย ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุว่า ต้องเร่งผลักดันให้เกิดการปฏิรูป เพราะขณะนี้จรรยาบรรณเริ่มถดถอยลงมาก เนื่องจากการแข่งขันและธุรกิจ เพราะฉะนั้น กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแลต้องจัดทำเกณฑ์ประเมินผลที่ชัดเจน มีมาตรฐานตัวชี้วัด การจัดเรตติ้ง ค่าจ้าง และสวัสดิการ เป็นส่วนประกอบด้วย
นอกจากนั้นควรเพิ่มทุนการศึกษาสาขาวารสารศาสตร์ เพื่อคัดเลือกคนดีและเก่งเข้ามาอยู่ในวงการสื่อสารมวลชน โดยมีการควบคุมระบบประกันคุณภาพ และจัดตั้งนโยบายสื่อมวลชนสร้างสรรค์ เช่น การลดหย่อนภาษี และจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ขึ้นด้วย ซึ่งเข้าใจว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนพัฒนาสื่อฯ ฉบับนี้ กำลังได้รับการพิจารณาเร่งด่วนจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ชี้กสทช.ยังติดอยู่กับระบบราชการ
ด้านศ.ดร.ยุบล เบ็ญจรงค์กิจ คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ นิด้า กล่าวถึงการปฏิรูปด้านสื่อมวลชน โดยในประเด็นการปรับโครงสร้าง กสทช.ให้มีประสิทธิภาพว่า ที่ผ่านมาการทำงานมีความล่าช้า ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ไขปัญหาในอดีต เพราะมีสาเหตุจากโครงสร้างการสรรหาคณะกรรมการที่ผ่านมาอุ้ยอ้ายมาก ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ดังนั้น ในอนาคตต้องปฏิรูปใหม่ให้ผู้สมัครรับการคัดสรรต้องตัดสินใจเองจะสมัครคุณสมบัติใด
“การทำงานที่ผ่านมาของ กสทช.ยังติดอยู่กับระบบราชการ ทำให้ไม่มีความพร้อมในการกำกับดูแลสื่อมากนั้น อีกทั้งไม่มีหน่วยงานมอนิเตอร์การทำงานขององค์กรสื่อ จึงต้องเร่งสร้างเครือข่ายโดยด่วน เพราะขณะนี้ไม่มีความชัดเจนด้านข้อมูล การประเมินผลจะทำโดยใคร” นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ กล่าว และว่า งบประมาณที่ได้รับจากการออกใบอนุญาตประกอบกิจการจำนวนมหาศาลควรจัดระบบการใช้จ่ายให้โปร่งใสและสังคมยอมรับ ผ่านการจัดตั้งระบบงบประมาณ เกิดการตรวจสอบได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังมีการใช้จ่ายสะเปะสะปะมาก ไม่ใช่เป็นองค์กรอิสระแล้วจะใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ
ศ.ดร.ยุบล กล่าวถึงพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ.2553 ต้องได้รับการปัดฝุ่นใหม่ ซึ่งทำอย่างไรให้มีการให้สัมปทาน ไม่ใช่เงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องประกวดคุณสมบัติ หรือบิวตี้คอนเทสต์ประกอบด้วย โดยต้องบรรจุเป็นกฎหมายเลย ทั้งนี้ รวมถึงพ.ร.บ.การประกอบกิจการวิทยุเเละกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ด้วย
“ยังไม่เห็น กสทช.ใช้งบประมาณสนับสนุนการวิจัยและปฏิรูปสื่อมากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นการมุ่งเน้นเฉพาะการต่อใบอนุญาตประกอบกิจการฯ จึงถือว่าทำงานล่าช้า ไม่ค่อยมองไปข้างหน้า เปรียบเหมือนทำงานวันต่อวัน” นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ กล่าว .