นักวิชาการนิด้า ชง คสช.แก้สังคมเหลื่อมล้ำ เน้นกระจายอำนาจท้องถิ่น
กางแผนปฏิรูปโครงสร้างสังคม นักวิชาการนิด้า ชงแก้เหลื่อมล้ำต้องสร้างสถาบันเศรษฐกิจ การเมือง สังคม เข้มแข็ง เน้นกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น สร้างการเมืองชุมชนเติบโต ลดอำนาจผู้มีอิทธิพล สังคมสืบสถานะ ‘รศ.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์’ หนุนใช้โอกาสยกเครื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งศาลเฉพาะด้าน รื้อกระบวนการ EIA-EHIA-SIA ชอบธรรม
วันที่ 10 ตุลาคม 2557 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดแถลงข่าว ‘นิด้าโมเดล ปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 3:กางแผนปฏิรูปโครงสร้างทางสังคม’ ณ ชั้น 2 อาคารสยามบรมราชกุมารี นิด้า
ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า กล่าวถึงแนวทางปฏิรูปความเหลื่อมล้ำว่า ตลอดการพัฒนาของไทยร่วม 60 ปี ประเทศคงมีสภาพสังคมสืบสถานะ คนจะมีชื่อเสียงหรืออำนาจยังคงเกี่ยวพันกับชาติตระกูลและสภาพครอบครัวมากกว่าความสามารถแท้จริง ประกอบกับการบังคับใช้กฎหมายขาดประสิทธิภาพ จึงทำให้ชีวิตคนที่ไม่มีพรรคพวกได้รับความย่ำแย่
โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากสถาบันเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ไม่สามารถทำหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขเชิงนโยบายและบริหารงานตามมาตรการได้เต็มที่ ส่วนใหญ่มักเอื้อต่อคนที่มีสถานะเหนือกว่า เพราะฉะนั้นโครงสร้างทางสังคมลักษณะนี้ทำให้นโยบายที่ดีหายไป จึงต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการทำให้สังคมเกิดการตัดสินใจที่ไม่อิงกับชาติตระกูลหรือโครงข่าย มิเช่นนั้นความเหลื่อมล้ำจะนำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชัน จนเกิดความล้มสลาย
นักวิชาการด้านสังคม กล่าวถึงการจะลดความเหลื่อมล้ำได้ คณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ต้องพิจารณากระจายอำนาจให้องค์กรชุมชน ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยขอให้เลิกถกเถียงกันเรื่องโครงสร้าง แต่อยากให้มุ่งเน้นลดเหลื่อมล้ำก่อน เพราะประเด็นโครงสร้างนั้นอาจทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในชุมชนมากขึ้นก็ได้
นอกจากนี้ต้องจัดทำนโยบายและแผนงานโครงการกระจายทรัพยากรของรัฐไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น โดยเน้นการสร้างโอกาสให้คนชั้นล่าง เพื่อสามารถขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นนโยบายประชานิยมที่ให้คนคิดหวังพึ่งพาความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศเก่งในการต่อรองกับภาครัฐ
“ความเหลื่อมล้ำในอำนาจเป็นสิ่งสำคัญต้องเร่งแก้ไข ขณะนี้คนสองกลุ่มไม่มีพื้นที่ใช้สื่อสารกัน ต่างคนต่างเรียนรู้ หากเราไม่มีพื้นที่ทางสังคมในชุมชนให้คนมาพูดคุยกัน คงไม่มีโอกาสสานฝัน นอกจากจะฟันกัน” ศ.ดร.ชาติชาย กล่าว และว่า สื่อมวลชนมีบทบาทสำคัญมากในการจัดเวทีสาธารณะพูดคุยในแนวนอนมากขึ้น ทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและคิดกฎกติการ่วมกัน จะช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ได้
ส่วนการลดอำนาจผู้มีอิทธิพลของนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการด้านสังคม ระบุว่า ต้องทำให้ศูนย์ดำรงธรรมผลักดันให้เกิดการลดอิทธิพลเหล่านี้ เพราะคนทั่วไปสู้ไม่ได้ มิเช่นนั้นความคิดจะลดเหลื่อมล้ำเกิดยาก รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการเพิ่มภาษีคนรวย เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดก ภาษีกำไร เป็นต้น พร้อมปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษี โดยเสนอให้กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บภาษีแทน อปท.
“ส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่นให้มาก เพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวอยู่ที่ส่วนกลาง และพื้นที่การเมืองในท้องถิ่นจะได้โตขึ้น ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการเมืองได้” ศ.ดร.ชาติชาย กล่าว
ด้านรศ.ดร.ธวัชชัย ศุภดิษฐ์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและอาจารย์ประจำคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปสิ่งแวดล้อมตอนหนึ่งว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะต้องไม่มีปัญหาขยะ น้ำเสีย และพื้นที่ป่า มิเช่นนั้นจะถือเป็นประเทศด้อยพัฒนา ซึ่งไทยมีปัญหาเหล่านี้ทั้งสิ้น และมองข้ามการจัดการมาโดยตลอด เพราะนักการเมืองระดับชาติและท้องถิ่นไม่อยากทำ ด้วยหวั่นจะกระทบฐานเสียง ยกตัวอย่าง การจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ จะต้องหันมาใช้มาตรการทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เช่น ภาษีที่ดิน สิ่งแวดล้อม การจัดการของเสีย น้ำเสีย เป็นต้น โดยเน้นผู้ผลิตเป็นผู้จ่าย และทำอย่างไรให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมไม่จำกัดในตำรา แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดการปฏิบัติได้ ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาบังคับ และใช้ช่วงการปฏิรูปครั้งนี้เร่งรัดขั้นตอนรวดเร็วขึ้น
ส่วนการปฏิรูปกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรม นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ต้องสร้างให้ชัดเจน และมีผู้รับผิดชอบ โดยเสนอตั้งศาลสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาคดี ทั้งนี้ ผู้พิพากษาต้องมีความรู้เกี่ยวกับผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมด้วย และมีระบบการชดเชยผลกระทบรวดเร็วผ่านกองทุนเยียวยาเบื้องต้น
รศ.ดร.ธวัชชัย ยังกล่าวว่า ต้องปฏิรูปกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment:EIA) รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment:EHIA) และการประเมินผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA) ให้เกิดความเป็นธรรม มีกระบวนการติดตามผลภายหลังการทำชัดเจน
“หากไม่เร่งให้เกิดการปฏิรูปครั้งนี้คงไม่มีโอกาสอีกแล้ว แม้อนาคตรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจะมีโอกาสแก้ไขแนวทาง แต่ก็ต้องต่อสู้ทางความคิดกัน” นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าว .