เปิดยุทธศาสตร์ คสช.ดับไฟใต้ใน 1 ปี
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 ต.ค.57 พล.ท.ปราการ ชลยุทธ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผอ.รมน.ภาค 4 สน.) คนใหม่ เป็นประธานประชุมผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจและสั่งเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งแผนเสริมสร้างสันติสุขในพื้นที่
หลังการประชุม พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) แถลงว่า นโยบายที่แม่ทัพภาคที่ 4 เน้นย้ำ คือ ต้องการให้ปี 2558 เป็นปีแห่งการปฏิบัติการเชิงรุกในทุกมิติ ทั้งการเมืองและการสร้างความเข้าใจ
ทั้งนี้ เพื่อขยายผลและดำรงความต่อเนื่องจากปี 2557 ให้ประชาชนมีความพอใจ ให้ทหารเป็นที่พึ่งและได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชนภายใต้แนวคิด "ชนะจิตใจ นำไปสู่การเอาชนะความคิด" โดยใช้แนวทางสันติวิธีภายใต้หลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มุ่งเน้นงานด้านการข่าวเชิงรุกที่จะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ด้านยุทธการและการสนับสนุน
อย่างไรก็ดี หากต้องการทราบว่าทหารจะ "รุกทุกมิติ" กันอย่างไร ต้องย้อนไปจับจังหวะความเคลื่อนไหวในระดับนโยบาย เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงกับประกาศด้วยความมั่นใจว่าปัญหาใต้จะต้องทำให้จบภายใน 1 ปีนับจากนี้!
ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ก็แถลงสอดคล้องกันว่า ภายใน 1 ปีจะต้องควบคุมสถานการณ์ในพื้นที่ให้ได้ อย่างน้อยต้องลดเหตุรุนแรงลงเหลือ 50%
ย้อนดูผลการปฏิบัติตลอดห้วงเวลา 4 เดือนหลังจากที่ คสช.เข้าควบคุมอำนาจการปกครองเมือ 22 พ.ค.57 จนถึงสิ้นเดือน ก.ย.57 พบว่าสถิติเหตุรุนแรงและความสูญเสียลดลงเป็นลำดับ
เคล็ดลับของความสำเร็จคืออะไร และสิ่งที่กองทัพกำลังดำเนินการใน 1 ปีข้างหน้ามีอะไรบ้าง? ถอดรหัสยุทธศาสตร์ได้จากคำกล่าวของ พล.อ.อุดมเดช เองที่ว่าจะมุ่ง "สร้างความสงบสุขในระดับหมู่บ้าน" โดยเน้นการพูดคุยทำความเข้าใจ แทนทิศทางเดิมที่ว่าจะ "เอาชนะทุกหมู่บ้าน" ซึ่งให้อารมณ์ในเรื่องของการรบและการต่อสู้
ยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ถูกดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ได้แก่
1. เคลียร์ริ่ง แอนด์ โฮลดิ้ง (clearing & holding) คือ ทำให้พื้นที่ปราศจากอิทธิพลของกลุ่มก่อความไม่สงบ ใช้มาตรการเชิงรุกเข้าไปตรวจค้นแหล่งต้องสงสัย ทำให้ผู้ก่อเหตุรุนแรงต้องหลบหนีออกนอกพื้นที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้าควบคุมพื้นที่แทน เบื้องต้นใช้ทหารกับทหารพราน จากนั้นถ่ายโอนให้ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) หรืออาสาสมัครรักษาหมู่บ้าน (อรบ.) เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทดูแลพื้นที่ตนเอง
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พล.อ.วลิต โรจนภักดี สามารถปฏิบัติการตามแผนได้อย่างเข้มงวด และบูรณาการกับฝ่ายตำรวจได้ดี มีการปิดล้อม ตรวจค้น และจับกุมเป้าหมายระดับสูงได้หลายครั้ง ทำให้สถานการณ์ ณ ปัจจุบัน ทหารสามารถควบคุมพื้นที่ลึกถึงระดับหมู่บ้าน คือ เข้าได้ทุกแห่ง แม้จะยังไม่ปลอดภัย 100% แต่ก็ดีกว่าสมัยก่อนที่หลายพื้นที่เข้าไม่ได้เลย
เมื่อคุมพื้นที่ได้มากขึ้น ทหารก็จะโอนภารกิจให้ทหารพราน ชรบ. และ อรบ. โดยถอนกำลังจากกองทัพภาคที่ 1-3 ออกไป แล้วให้กองทัพภาค 4 และกองทัพน้อยที่ 4 รับผิดชอบภารกิจทั้งหมด โดยมีฝ่ายตำรวจและฝ่ายปกครอง ตลอดจนส่วนราชการต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้เต็มที่
2. winning heart and mind คือ เอาชนะจิตใจประชาชน ด้วยการนำโครงการพัฒนาลงไปในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมามีปัญหา คือ แผนโครงการและงบประมาณไม่บูรณาการ มีลักษณะต่างคนต่างทำ จึงไม่เกิดผลในเชิงความมั่นคง แต่ปัจจุบัน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็นและความต้องการจากประชาชนในทุกพื้นที่ โดยได้สรุปความต้องการของประชาชนส่งให้ กอ.รมน.ส่วนกลางและรัฐบาล เป็นเอกสารความหนาถึง 8 เล่ม!
ความคืบหน้าขณะนี้ คือ จัดโครงการและงบประมาณให้ตรงตามความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง และให้ส่วนราชการต่างๆ ลงไปขับเคลื่อนงานตามแผนที่ฝ่ายความมั่นคงชี้นำ โดยในพื้นที่ให้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เป็นศูนย์กลางเพื่อความเป็นเอกภาพ
3. won คือ ได้ใจประชาชนแล้ว กองกำลังประจำถิ่นซึ่งเป็นคนในพื้นที่สามารถควบคุมหมู่บ้านได้ ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบกลับเข้าหมู่บ้านไม่ได้ ที่ยืนก็น้อยลง แต่ละหมู่บ้านมีโครงการพัฒนาตามความต้องการของประชาชน
จากจุดนี้ก็เริ่มกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งเมื่อฝ่ายผู้ก่อเหตุรุนแรงไม่สามารถคุมพื้นที่ได้ ก่อเหตุร้ายได้ยากขึ้น ก็จะทำให้ไม่สามารถใช้ความรุนแรงเป็นเครื่องต่อรองได้เหมือนเก่า การพูดคุยก็จะประสบผลขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ดี ประเด็นอ่อนไหวของยุทธศาสตร์นี้ที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ความประพฤติของกองกำลังประจำถิ่น ทั้งทหารพราน ชรบ. อรบ. ต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย หากพลาดกระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะเข้าทางฝ่ายก่อความไม่สงบทันที
และต้องจับตาการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ตอบโต้เป็นระยะเมื่อมาตรการเฝ้าระวังของรัฐหย่อนยาน!