นักวิชาการ ถอดบทเรียนเก็บภาษีมรดกฟิลิปปินส์ หลบเลี่ยงยากเหตุกม.เข้ม
รศ.สีดา สอนศรี ถอดบทเรียนเก็บภาษีมรดกที่ฟิลิปปินส์ ระบุกฎหมายทำให้ยากหลบหลี่ยงภาษี แถมการจัดเก็บภาษีมรดก ก็ไม่ได้นำเข้าคลังเพียงอย่างเดียว แต่จะแบ่งเป็นส่วนอย่างชัดเจน นำไปช่วยพัฒนาประเทศ
จากผลการศึกษาของสถาบันอนาคตไทยศึกษา เรื่องการจัดเก็บภาษีมรดก ที่พบว่า มีเพียง 13 ประเทศจาก 45 ประเทศ ที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกอยู่ในปัจจุบัน และส่วนใหญ่ประเทศที่เก็บภาษีมรดกเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ขณะที่มีเพียง 2 ประเทศในเอเชียที่ยังเก็บภาษีมรดก คือ ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ โดยเฉพาะ ประเทศประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1939 ขณะที่ไทยจะเป็นการเก็บจากผู้ได้รับมรดก (Inheritance Tax)
รศ.สีดา สอนศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิลิปปินส์ศึกษา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศฟิลิปปินส์ ว่า เป็นการเก็บภาษีกองมรดก (Estate Tax) ผู้ที่ประสงค์จะถ่ายโอนมรดกจะต้องเสียภาษีก่อนโอนมรดกให้กับผู้ที่รับมรดก โดยบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในประเทศ และไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้
“ในกรณีของผู้เสียชีวิต มรดกจะต้องตกไปอยู่กับบุคคลที่เป็นญาตินั้นก็จะต้องมีการตรวจสอบและเสียภาษีก่อนว่า มีการเลี่ยงการจ่ายภาษีหรือไม่ หากไม่มีการเลี่ยงภาษีก็จะทำการถ่ายโอนให้ผู้รับมรดกทันที แต่หากมีการเลี่ยงก็จะต้องจัดเก็บภาษีย้อนหลังตามที่กฎหมายกำหนด โดยจะมีหน่วยงานของฟิลิปปินส์เป็นผู้ดำเนินการตรวจเช็ครายชื่อย้อนหลัง และเรียกเก็บภาษีในที่สุด”
นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเทศฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ผู้รับมรดกจะต้องเสียภาษี ซึ่งแบ่งตามจำนวนมรดกที่ได้รับมา เช่น ผู้ที่มีมรดกไม่ถึง 200,000 เปโซ ไม่มีการจัดเก็บภาษี 200,001-500,000 ต้องเสีย 15,000 เปโซ + 8% กรณีเกิน 500,000 เปโซ เช่น 560,000 เปโซ ให้นำ 60,000 เปโซ มาเก็บภาษีอีก 8% เกิน 500,000-2,000,000 เปโซ ต้องเสีย 135,000 เปโซ + 11%กรณีเกิน 2,000,000 เปโซ เช่น 2,600,000 ให้นำ 600,000 มาเก็บภาษีอีก 11% เป็นต้น
รศ.สีดา กล่าวด้วยว่า การเก็บภาษีมรดกของฟิลิปปินส์ กรณีที่จะถ่ายโอนมรดกผู้โอนจะถามผู้รับก่อนว่า จ่ายภาษีไหวไหม หากจ่ายไม่ไหวผู้โอนจะต้องจะยกมรดกให้รัฐบาล และรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการต่อ และจัดการทั้งหมด ซึ่งถือเป็นการบริจาคให้กับรัฐบาลไป อันนี้คือข้อบังคับของกฎหมาย
เมื่อถามถึงการการจัดเก็บภาษีมรดกที่ฟิลิปปินส์ ช่วยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้หรือไม่นั้น รศ.สีดา กล่าวว่า การเก็บภาษีก็สามารถช่วยขจัดคอร์รัปชั่นได้อีกทางหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะต้องอาศัยหลายด้านในการดำเนินการ อีกทั้งคอร์รัปชั่นในฟิลิปปินส์ตอนนี้ถือว่าน้อยกว่าประเทศไทยมาก เพราะนายเบนิกโน อาคีโน ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ประกาศการขจัดคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ
“ทำไมฟิลิปปินส์ไม่อายประเทศอื่นที่จะมีวาระแห่งชาติในการปราบปรามคอร์รัปชั่น เพราะต้องการให้ประเทศสะอาดและการทำแบบนั้นทำให้ประเทศฟิลิปปินส์สามารถที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ วาระแห่งชาติของฟิลิปปินส์ตอนนี้มีอยู่ 3 อย่างคือ ขจัดคอร์รัปชั่น พัฒนาประเทศ และขจัดความยากจนออกไป แต่สำหรับประเทศไทยไม่กล้าพูด 3 อย่างนี้”
รศ.สีดา กล่าวด้วยว่า การจะใช้คำว่า เก็บภาษีมรดกเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนกับคนรวยนั้นไม่ได้ เพราะภาษีที่เก็บไม่ได้มาใช้มาช่วยเฉพาะคนจนเท่านั้น หากแต่มาช่วยในด้านอื่นๆ ในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การศึกษา เป็นต้น ซึ่งเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมรดกในฟิลิปปินส์ไม่ได้ถูกนำไปเข้าคลังเพียงอย่างเดียว แต่จะแบ่งเป็นส่วนอย่างชัดเจนเพื่อนำไปช่วยในการพัฒนาประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติม:
http://www.bir.gov.ph/index.php/tax-information/estate-tax.html