มติข้างมากป.ป.ช.ส่งสนช.ถอด“ปู”คดีข้าว ชี้คนละคดีกับ"สมศักดิ์-นิคม"
ป.ป.ช. มีมติเสียงข้างมาก ส่งสำนวนไต่สวนถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” คดีโครงการรับจำนำข้าวต่อ สนช. ตามมติเดิม ชี้ สนช. หน้าที่เหมือนสภาผู้แทนฯ-วุฒิสภา-รัฐสภา ถอดถอนได้ตามข้อบังคับ มาตรา 6 – “สรรเสริญ” ชี้คนละเคสกับ “สมศักดิ์-นิคม” เหตุผิดตาม พ.ร.บ.ระเบียบริหารราชการแผ่นดินฯอีกหนึ่งกระทงด้วย
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเสียงข้างมากให้ส่งรายงานการไต่สวนสวนข้อเท็จจริง เรื่องถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมเอกสารและความเห็นไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่ามีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 178 และส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) กรณีไม่ระงับยับยั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโรงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล อันเป็นมูลเหตุให้ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 270 ประกอบ พ.ร.บ.ป.ป.ช. แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 58 ให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภาเพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 273 ต่อไปนั้น
ในระหว่างการจัดทำรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อส่งไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อให้ดำเนินการถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นั้น คสช. ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีประกาศให้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 จะสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ยังมีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งต่อมาได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ซึ่งมาตรา 6 ได้บัญญัติให้มี สนช. ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา โดย สนช. ได้มีข้อบังคับการประชุม สนช. พ.ศ.2557 กำหนดให้ สนช. มีอำนาจหน้าที่ถออดถอนผู้ดำรงตำแหน่งตามกฎหมาย พ.ร.บ.ป.ป.ช.
นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 8 ต่อ 1 ในการส่งถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อ สนช. ทั้งนี้หากทำหนังสือเสร็จในวันนี้ และให้ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เซ็นในวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ก็จะส่งเรื่องให้กับประธาน สนช. ทันที ส่วนกรณีการถอดถอน ส.ว. จำนวน 39 ราย กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. นั้น เจ้าหน้าที่ยังสรุปในข้อเท็จจริงยังไม่เสร็จ และเตรียมจะพิจารณาในสัปดาห์หน้า ซึ่งรวมไปถึงคดีถอดถอนอื่น ๆ ด้วย โดยขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่สรุปคดีถอดถอนทั้งหมดว่า มีกี่เรื่อง และทำผิดกฎหมายใดบ้าง จึงจะส่งให้ที่ประชุมพิจารณาอีกครั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เกิดข้อโต้แย้งว่าถอดถอนไม่ได้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แตกต่างจากกรณีของนายสมศักดิ์ และนายนิคม เนื่องจากผิดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อย่างเดียว แต่กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ นอกจากผิดตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ถูกยกเลิกไปแล้ว ยังผิดตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลใดมาบริหารประเทศจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายนี้ ดังนั้นเป็นเรื่องของ สนช. ว่าจะพิจารณาถอดถอนได้หรือไม่