ป.ป.ช.ใช้ต้นทุน 172 ล.สอบทรัพย์สินเหลือค้าง 8 หมื่นบัญชีทั่วประเทศ
ป.ป.ช. เหลือบัญชียังไม่สอบทั้งหมดเฉียด 8 หมื่น ของใหม่ปี 57 3.1 หมื่น ของเก่า 4.8 หมื่น ต้องใช้งบตรวจสอบ 172 ล้าน ต้นทุน 2.1 พันบาท/บัญชี จนท.ทำงานแค่ 187 คน วินิจฉัยแล้ว 14 คดี – “วรวิทย์” เผยล่าช้าเพราะต้องสอบทั้งประเทศ กำลังคิดวิธีการแก้ไข ระบุต่อไปต้นทุนอาจน้อยลงเพราะให้ ป.ป.ช. จังหวัดสอบท้องถิ่นเอง
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยการสภาพปัจจุบันของภารกิจตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554
โดยในปีงบประมาณ 2557 ระบุว่า มีบัญชีรับใหม่ จำนวน 31,187 บัญชี ขณะที่มีบัญชีค้างเก่า จำนวน 48,776 บัญชี รวม 79,963 บัญชี สามารถดำเนินการแล้ว 17,937 บัญชี คิดเป็นความสำเร็จร้อยละ 22.43 มีคดีที่มีคำวินิจฉัยแล้วทั้งหมด 14 คดี มีเจ้าพนักงานตรวจสอบทรัพย์สิน จำนวน 187 คน มีต้นทุนประมาณการอยู่ที่ 2,152 บาทต่อบัญชี
เมื่อคิดคำนวณจากต้นทุนประมาณการในการสอบ 2,152 บาท/บัญชี คูณกับบัญชีที่เหลืออยู่ทั้งหมด 79,963 บัญชี เท่ากับว่า สำนักงาน ป.ป.ช. ต้องใช้งบประมาณในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินในทั้งหมด 172,080,376 บาท
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2557 นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีดังกล่าวว่า คดีค้างเก่าที่เหลืออยู่กว่า 4.8 หมื่นคดีนั้น ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ตรวจสอบมาตั้งแต่ปี 2540 ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งก็ลดหลั่นลงไปในแต่ละปี ส่วนสาเหตุที่ยังค้างอยู่เป็นจำนวนมากนั้น เพราะต้องตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการ ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯตามกฎหมายทั้งหมด โดยส่วนมากจะอยู่ในตำแหน่งประมาณ 4 ปี และก็ค้างไว้อย่างนั้น รออีก 4 ปีค่อยมาตรวจ อะไรแบบนี้ ซึ่งขณะนี้กำลังคิดหาวิธีใหม่อยู่ ส่วนคดีที่มีการวินิจฉัยแล้ว 14 คดีนั้น เข้าใจว่าน่าเฉพาะในปี 2557
“เราสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด นั่นรวมถึง ส.ส. ส.ว. และท้องถิ่นทั่วประเทศ แค่ท้องถิ่นก็มีประมาณ 8 พันกว่าแห่งแล้ว” นายวรวิทย์ กล่าว
นายวรวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับต้นทุนในการตรวจสอบนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. กำลังคิดคำนวณใหม่อยู่ เนื่องจากต้นทุนเดิมเปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนส่วนกลางจะเป็นผู้ตรวจสอบ ต้นทุนจึงอาจสูงอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันเรามีสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดแล้ว ดังนั้นต้นทุนอาจจะลดลง
“ปัจจุบันเราก็ให้สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองท้องถิ่น สถานการณ์ก็เปลี่ยนไป เนื่องจากต้นทุนในการตรวจสอบอาจจะลดลงเพราะให้ ป.ป.ช. จังหวัดสอบเอง แต่ค่าสำนักงานอาจจะเพิ่มขึ้น ก็ต้องว่ากันไป” นายวรวิทย์ กล่าว