ภาษีมรดกไม่ตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำ ดร.บัณฑิต หวั่นภาระตกอยู่กับคนชั้นกลาง
ดร.บัณฑิต นิจถาวร ยันภาษีมรดก ไม่ตอบโจทย์ลดความเหลื่อมล้ำ เสนอทำคู่ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แนะเก็บจริงอัตราเริ่มต้นน่าจะต่ำกว่า 10% ไปเพิ่มมูลค่ามรดกให้สูงกว่า 50 ล้านบาท
ดร.บัณฑิต นิจถาวร กรรมการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) ให้สัมภาษณ์ถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษี โดยเฉพาการจัดเก็บภาษีมรดกในอนาคตว่า โดยตัวภาษีเองนั้นค่อนข้างดี เพราะภาระภาษีจะตกโดยตรงกับผู้มีความสามารถในการจ่ายภาษีจริง แต่ในทางปฏิบัติหากจะให้ตอบโจทย์การหารายได้นั้น ภาษีมรดกนับว่า ยังมีข้อจำกัดมาก ทั้งการจัดเก็บยาก ผู้มีความรู้ความสามารถทางด้านภาษีอาจจะหลบเลี่ยงได้ ดังนั้น การนำภาษีมรดกมาใช้จึงต้องตระหนักถึงจุดนี้ด้วย
ส่วนอัตราภาษีมรดกที่จะจัดเก็บอยู่ที่ 10% และจัดเก็บจาก “ผู้รับมรดก” ที่มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไปนั้น ดร.บัณฑิต กล่าวว่า เป็นการเริ่มต้นที่อาจทำให้ประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษียิ่งมีน้อยลงไปอีก ภาระภาษีจะตกกับคนที่ไม่สามารถมีวิธีการหลบหลีกภาษีได้
"หากเป้าหมายของรัฐต้องการหารายได้ และลดความเหลื่อมล้ำ อัตราเริ่มต้นน่าจะต่ำกว่าที่ประกาศไว้ คือ ต่ำกว่า 10% และมูลค่ามรดกเริ่มต้นอาจจะต้องสูงกว่า 50 ล้านบาท เพื่อให้คนมีภาระภาษีจริงๆ สามารถให้ได้ง่ายขึ้น หากอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำ ภาระภาษีอาจตกอยู่กับคนชั้นกลาง ที่มีฐานะแต่ไม่ได้ร่ำรวยมาก" ดร.บัณฑิต กล่าว และว่า จุดเริ่มต้นการเก็บภาษีมรดกจึงอยากให้เริ่มในอัตราภาระภาษีไม่ตกเป็นภาระให้กับคนชั้นกลาง ให้ตกอยู่กับผู้มีมรดกจำนวนมากจริงๆ เช่น มูลค่ามรดกขั้นต่ำอาจเป็น 100 ล้านบาท เป็นต้น
กรรมการผู้อำนวยการ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวอีกว่า หากเราต้องการใช้ภาษีมรดกเป็นเครื่องมือ น่าจะพยายามไปในระดับที่คนมีความสามารถจ่ายภาษีได้จริง
เมื่อถามว่า ภาษีมรดกจะสามารถตอบโจทย์เรื่องลดความเหลื่อมล้ำได้หรือไม่ ดร.บัณฑิต กล่าวด้วยว่า ต้องทำไปพร้อมกับอีกหลายเครื่องมือ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ ควบคู่กัน แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด คือการใช้จ่ายของภาครัฐ เพื่อให้คนในสังคมเข้าถึงโอกาสต่างๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งด้านการศึกษา สินเชื่อ การบริการสาธารณะ และการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกัน