ฟังวิสัยทัศน์ 'นพ.พลเดช-ดร.ธรณ์' สมาชิก สปช. ใหม่ถอดด้าม
2 สมาชิก สปช. ชูวิสัยทัศน์ปฏิรูปประเทศ 'นพ.พลเดช' เชื่อมั่น 1 ปี รวบรวมข้อเสนอทุกฝ่ายคลอดเเผนเเม่บทชาติ 'ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์' ชงเเก้กม.ประมง อุดช่องโหว่กระทำผิดเรือพาณิชย์
ภายหลังราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน ซึ่งจะครอบคลุมภารกิจเบื้องต้นอย่างน้อย 11 ด้าน เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า โดยคาดว่าจะมีการเปิดประชุม เพื่อลงมติเลือกประธานเเละรองประธาน สปช.ในวันที่ 21 ตุลาคม 2557
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงกระบวนการทำงานว่า เบื้องต้นจะมีการคัดเลือกสมาชิก 250 คน ตามความสนใจแต่ละด้านใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งน่าจะขยายมากสุด 15 ด้าน จากเดิม 11 ด้าน ทั้งนี้ เข้าใจว่าสมาชิกหนึ่งคนสามารถอยู่ได้หลายด้าน หลังจากนั้นจะมีการใช้กลไกผ่านคณะกรรมาธิการ เพื่อจัดประชุม ค้นคว้า ศึกษาเพิ่มเติม กระทั่งมีข้อสรุปออกมาในรูปแบบแผนแม่บทการปฏิรูปแต่ละด้าน และนำเข้าสู่ที่ประชุม สปช. เพื่อพิจารณาลงมติเห็นชอบเป็นขั้นตอนสุดท้าย
“ภายใน 1 ปี สิ่งที่ สปช.สามารถทำได้ คือ เอกสาร ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ในฐานะที่ปรึกษาทางวิชาการ โดยจะมีแผนแม่บทที่รัฐบาลสามารถนำไปดำเนินงานต่อได้เลย แต่เนื้อหาภายในคงไม่เหมือนคณะกรรมการปฏิรูปชุดนายอานันท์ ปันยารชุน และศ.นพ.ประเวศ วะสี แต่ครั้งนี้จะเป็นการรวบรวมข้อเสนอการปฏิรูปของทุกฝ่ายเป็นอาหารสำเร็จรูปแทน”
ส่วนข้อเสนอแผนแม่บทการปฏิรูปนั้น นพ.พลเดช ยกตัวอย่างด้านสังคมว่า จะครอบคลุมกลุ่มคนยากจน เกษตรกร แรงงาน กลุ่มเด็ก สตรี คนชรา ซึ่งอาจจะมีแผนปฏิรูปสังคมระยะยาวในลักษณะเอกสารยื่นต่อรัฐบาล เพื่อดำเนินการต่อไป ส่วนระยะสั้น รัฐบาลสามารถดำเนินงานได้เลย โดยไม่ต้องรอ สปช. อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีนโยบายรวมกองทุนเบี้ยหัวแตกต่าง ๆ เป็นกองทุนเดียว
ด้านผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลัก ๆ คือ ความขัดแย้งระหว่างประมงพื้นบ้านและพาณิชย์ โดยเฉพาะกรณีประมงโพงพาง เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีข้อด้อยและครอบคลุมคำสั่งรื้อถอนทุกพื้นที่ ทำให้บางแห่งประสบปัญหา ฉะนั้นต้องปรับปรุงกฎหมายให้แคบลง ครอบคลุมการจัดการเฉพาะบางพื้นที่ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการขับเคลื่อนมาโดยตลอดแล้ว
ทั้งนี้ การตรวจสอบการกระทำผิดของเรือประมงพาณิชย์เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ จึงควรนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้มากที่สุด ยกตัวอย่างการติดสัญญาณจีพีเอส เพื่อตรวจสอบการกระทำผิดในน่านน้ำได้ง่าย แทนการนำเรือภาครัฐแล่นออกคอยจับกุม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการรับสินบน เป็นบ่อเกิดปัญหาคอร์รัปชัน หากดำเนินการได้จะช่วยลดปัญหาอีกทางหนึ่ง
“หากรัฐบาลนำข้อเสนอของ สปช.ไปปฏิบัติอย่างเต็มที่ เชื่อว่าจะมีโครงการดี ๆ เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมามักติดขั้นตอนต่าง ๆ” ดร.ธรณ์ กล่าว และว่าต้องเร่งขับเคลื่อนมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้ทัดเทียมกับมาตรฐานอาเซียนให้ได้ ก่อนจะรวมตัวเป็นประชาคมในปี 2558
ภาพประกอบ:นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เว็บไซต์ deepsouthwatch-ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ