หกตุลา: ขอจงมาร่วมกันแก้ไข
"ทุกครั้งที่ประชาชนต่อสู้จนรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ผู้ปกครองที่เข้ามาใหม่ ล้วนมองข้ามหัวประชาชน มองข้ามความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของนักต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพื่อรักษาธรรมะไว้ในบ้านเมือง แล้วหันไปพึ่งเทคโนแครตกับข้าราชการบางกลุ่มที่ดูเผินๆเหมือนวางตัวเป็นกลาง"
วันที่ 6 ตุลาคม ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟชบุค เรื่อง "หกตุลา: ขอจงมาร่วมกันแก้ไข"
วันนี้เมื่อ 38 ปีมาแล้ว ได้เกิดอาชญากรรมจากกลไกของรัฐขึ้น มีการเตรียมการล่วงหน้า มีการสร้างสถานการณ์ข่มขู่คุกคามถึงขั้นเอาชีวิต มีการประทุษร้ายทุกรูปแบบ
เหยื่ออาชญากรรมครั้งนั้นก็คือบรรดาคนรุ่นหนุ่มสาวที่เรียกร้องให้รักษาเอกราชของชาติอย่าให้มหาอำนาจครอบงำได้ เรียกร้องให้สร้างสรรค์ประชาธิปไตยด้วยการรับฟังเสียงฟังเหตุฟังผลของคนส่วนใหญ่อย่างจริงจัง เรียกร้องให้ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่อย่างแท้จริง และวิงวอนให้ผู้หลักผู้ใหญ่ใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมาย ให้รักษาความเป็นธรรมทางสังคม อย่างเสมอภาคและอย่างทั่วถึง ถึงทุกวันนี้ ข้อเรียกร้องเหล่านั้นยังดังก้องเหมือนเดิม
แต่นอกจากจะไม่มีคำตอบรับใดๆจากผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแล้ว ดูเหมือนท่ามกลางการนิ่งงันของเจ้าหน้าที่รัฐ กลับเต็มไปด้วยการโต้ตอบกลับจากกลุ่มอันธพาลในรูปการลอบสังหาร การรุมทำร้าย การยิงระเบิดใส่ผู้ชุมนุมเรียกร้อง และการลงมือฆ่าและประจานศพอย่างโหดเหี้ยมอุดจาดผิดมนุษย์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ตามมาด้วยการใส่ร้ายป้ายสี ยุยงให้เกลียดชังนักเรียนนักศึกษาที่ร้องหาความเป็นธรรม แพร่อคติไปทั่วประเทศอย่างหลับหูหลับตา
อาชญากรรมครั้งนั้น ไม่ใช่การทำความผิดอุกฉกรรจ์ธรรมดา ที่จริงต้องนับว่าเข้าองค์ประกอบการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างตรงตัว แต่กลับไม่มีใครแตะต้องผู้มีส่วนยุยงและออกคำสั่งรวมทั้งร่วมลงมือในการฆ่ากันครั้งใหญ่นี้ คนเหล่านี้หลายคนได้เป็นผู้มีอำนาจในบ้านเมือง บ้างได้เป็นรัฐมนตรี บางคนได้เป็นนายกรัฐมนตรี เหมือนครั้งนั้นพระสยามเทวาธิราชมิได้อยู่ประจำอยู่ในพระนคร ความไม่ตระหนักในการแยกแยะผิดถูกให้กระจ่างนี้ เป็นกรรมรวมหมู่ที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
แต่เราก็ได้เห็นประจักษ์ในเวลาต่อมาว่า ธรรมชาติก็มีการลงโทษในตัวเอง คนส่วนใหญ่ที่ร่วมก่อกรรมทำเข็ญในคราว 6 ตุลา ล้วนแต่สิ้นชีวิตลงด้วยโรคร้ายที่กัดกร่อนทรมานทั้งร่างกายและจิตใจเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี เหมือนกฏแห่งกรรมที่แสดงตัวออกมาให้เห็นทีละน้อย ถ้าเขายังมีความเป็นมนุษย์ที่ยังพอมีสำนึกผิดชอบเหลืออยู่ เขาย่อมได้รับความทรมาณที่สัมผัสได้ถึงเจ้ากรรมนายเวรที่คืบคลานเข้ามาตลอดเวลา
นักเรียนนักศึกษาเมื่อ 38 ปีก่อน คนร่วมสมัยและคนหนุ่มสาวยุค 14 ตุลา 6 ตุลา และผู้ผ่านเหตุการณ์ในยุคหลังมา ได้ผ่านเหตุการณ์ 17 พฤษภา 2535 ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองในช่วงปี 52, 53 และ 56-57 ควรสรุปได้ว่า ทุกครั้งที่ประชาชนต่อสู้จนรักษาบ้านเมืองไว้ได้ ผู้ปกครองที่เข้ามาใหม่ ล้วนมองข้ามหัวประชาชน มองข้ามความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของนักต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อรักษาธรรมะไว้ในบ้านเมือง แล้วหันไปพึ่งเทคโนแครตกับข้าราชการบางกลุ่มที่ดูเผินๆเหมือนวางตัวเป็นกลาง หรือพวกที่ไม่มีอะไรเป็นแก่นสารนอกจากประจบผู้มีอำนาจเพื่อประโยชน์ของตัว
และในที่สุดบ้านเมืองที่กีดกันเจ้าของออกไป ก็จะถูกทอดทิ้งจนกลับเข้าสู่วัฏจักรแห่งมิจฉาคติและฉ้อฉลเช่นเดิม รอวันการลุกฮือของประชาชนทวงความถูกต้องกลับคืนมา
รัฐบาลหลัง 14 ตุลา หลัง 17 พฤษภา และหลังเหตุการณ์เผาเมือง ผู้ถืออำนาจหลังพ้นวิกฤต ถ้าไม่แยกแยะระหว่างพลังรักบ้านเมืองที่แข็งขันกับพลังฉวยโอกาสที่เข้ามาพะเน้าพะนอให้ดี แล้วเลือกทางเดินที่ตนคิดว่าง่าย ในที่สุดจะเดินทางผิดซ้ำซาก กลายเป็นผู้พายเรือให้โจรปล้นบ้านตนเอง แต่นั่นแหละ เราก็อาจมีส่วนผิด ตรงที่ยืนรอดูความผิดพลาดจนกลายเป็นความล้มเหลวนั้นโดยไม่ได้ทำอะไรเพื่อช่วยแก้ไขอย่างจริงจัง
ทางออกของชาติมีทางเดียว คือต้องรวมกันเข้าอย่างจริงจัง แยกแยะดีชั่วให้ถ่องแท้ และลงมือด้วยการทำทุกอย่างให้อำนาจแห่งเหตุผล และการรักษาประโยชน์ส่วนรวมเข้มแข็ง และเอาชนะอำนาจฉ้อฉล เห็นแก่ตัวให้ได้ ใช้สติปัญญา ใช้เทคโนโลยี ใช้เครือข่ายที่มีลงมือทำ อย่าปล่อยให้การแก้ปัญหาแบบฉาบฉวย ไว้ใจระบบที่เน่าเฟะแบบหลับหูหลับตานำพาบ้านเมืองไปสู่วังวนแห่งการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่จนตกเป็นเหยื่ออันโอชะของคนฉ้อฉลต่อไปเลย อย่าปล่อยให้คนที่ได้ดีเพราะไม่ลงมือทำอะไร ดีแต่กวาดขยะไว้ใต้พรมรอวันพังทลายของบ้านเมืองไ้ด้เสวยอำนาจแบบไม่รับผิดชอบอะไรนอกจากนั่งกินเมืองต่อไปเลย
มาร่วมมือกันสร้างเครือข่ายสอดส่อง ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐ แบ่งกันทำเป็นกลุ่มๆตามความถนัด ใช้เทคโนโลยี และใช้กลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเข้ากำกับตรวจสอบ และผลักดันการบริหารบ้านเมืองให้ไปในทางที่ควรกันเถิด
ทั้งนี้ก็เพื่อว่า เราจะไม่ต้องมาสำนึกเสียใจต่อการเสียสละของผู้อื่นที่ต้องกลายเป็นเหยื่ออธรรมไปโดยเราไม่ได้ทำอะไรเพื่อป้องกันอย่างเต็มกำลังจริงจัง
ที่สำคัญ ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิของคนรุ่นเรา เราก็เป็นส่วนหนึ่งของระบบอันเสื่อมโทรมที่ว่านั้นด้วย ถ้าเราไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหา เราก็อาจเป็นตัวปัญหาเสียเอง