สมบัติ โยธาทิพย์...คำถามและข้อเสนอต่อ "ปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ"
“น่าผิดหวัง” คือคำตอบแบบตรงไปตรงมาของ ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เมื่อถูกถามความเห็นเกี่ยวกับการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเฉพาะนโยบายดับไฟใต้
นักวิชาการผู้นี้มองว่า รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญกับปัญหาภาคใต้น้อยเกินไป ซ้ำยังจัดคนมาดูแลรับผิดชอบในลักษณะเน้นงานความมั่นคงมากเกินไป โดยเฉพาะ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ในฐานะนักวิชาการในพื้นที่ เขามีข้อเสนอในแง่นโยบายต่อรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย รวมทั้งคำถามที่ต้องตอบให้ได้เสียก่อน หากต้องการเดินหน้าผลักดันองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นโมเดล “นครปัตตานี” หรือโมเดลอื่นใด
O มองทิศทางปัญหาภาคใต้ ณ วันนี้อย่างไร?
เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นเป็นปัญหาที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องคิดให้จงหนัก เพื่อไม่ให้ผิดซ้ำสอง โดยหากไล่เรียงเหตุการณ์ต่างๆ จะเห็นได้ว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่นี้เกิดขึ้นมาอย่างช้านาน ตั้งแต่ปี 2521-2522 ก็มีเหตุการณ์ขึ้นแล้ว ซ้ำยังทวีความรุนแรงและมีขบวนการต่างๆ เช่น พูโล บีอาร์เอ็น จนกระทั่งปี 2524 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้จัดตั้ง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) และ พตท.43 (กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหารที่ 43) ทำให้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น จนถึงสมัย นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2539 ได้ให้หน่วยงาน พตท.43 และ ศอ.บต. ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จจนแทบไม่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นเลย
แต่แล้วในปี 2544 เหตุการณ์เริ่มก่อตัวขึ้นใหม่ ข่าวในเชิงลึกเชื่อว่าเป็นการขบเหลี่ยมระหว่างหน่วยราชการด้านความมั่นคง 2 หน่วยงานหลัก และในวันที่ 1 พ.ค.2545 รัฐบาลในขณะนั้นก็ได้ยุบ พตท.43 และ ศอ.บต. ทำให้หน่วยกำลังต้องถอนออก และ ศอ.บต.ก็ได้ให้ข้าราชการไปปฏิบัติในส่วนราชการต้นสังกัดเดิม
ตอนนั้นรัฐบาลคาดหมายว่าจะทำให้เหตุการณ์สงบลง เพราะอาจเชื่อว่าสถานการณ์เกิดจากฝ่ายรัฐเอง แต่ปัญหาก็ยังคงอยู่ และหนักหน่วงรุนแรงขึ้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหน่วยงานแก้ไขปัญหามาหลายครั้งจนกระทั่งถึงปัจจุบันที่มอบให้ฝ่ายทหารดูแลด้านความมั่นคง และให้ ศอ.บต.ซึ่งฟื้นขึ้นมาภายหลัง ดูแลงานด้านการพัฒนา
ผมหวังว่าเราจะไม่ลืมปฐมบทของปัญหาที่เกิดจากรัฐบาลในอดีต รัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบายที่ส่งผลต่อเหตุการณ์ คือการปฏิรูประบบราชการ ยุบหน่วยงาน และถอนกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและพลเรือนออกจากพื้นที่ โดยให้ตำรวจดูแลแทน ผนวกกับการให้ยุบ ศอ.บต.ซึ่งเป็นกลไกดูแลข้าราชในพื้นที่อย่างใกล้ชิดในขณะนั้น วลีเด็ดของใครบางคนที่ว่า “โจรกระจอก” หวังว่าคงยังไม่ลืม
เหตุการณ์ที่เป็นลำดับมาเหล่านี้ทำให้เกิดสุญญากาศของภาครัฐในพื้นที่ ทำให้เกิดการก่อตัวและแย่งชิงมวลชน พร้อมสร้างขุมกำลังที่มีความเห็นแย้งกับรัฐไทย ก่อให้เกิดปัญหาบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน
O แนวทางแก้ไขจะต้องทำอย่างไร เริ่มตรงจุดไหน?
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยต้องมีความรอบคอบและละเอียดอ่อนในเชิงนโยบายต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การกระจายอำนาจอย่างเต็มรูปแบบคือการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น เป็นเรื่องถวิลหาของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่โดยหลักการของการกระจายอำนาจลักษณะที่ว่านั้นในปัจจุบัน ถามว่าเพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาแล้วหรือยัง การจะมีรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่กระจายอำนาจอย่างเต็มที่ที่ถูกนำเสนอผ่านเวทีสาธารณะหลายต่อหลายครั้ง พบว่ายังมีประเด็นที่ไม่ตกผลึกอยู่หลายประเด็น
O อาจารย์ช่วยขยายความได้หรือไม่ว่ามีประเด็นอะไรบ้าง?
เริ่มจากโมเดลองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษที่เสนอโดยคณะทำงานของสถาบันพระปกเกล้าและภาคประชาสังคมในพื้นที่ ผมเห็นว่ายังมีประเด็นที่ไม่ตกผลึกในหมู่คนส่วนใหญ่ในพื้นที่ นั่นคือทิศทางการพัฒนาโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคนส่วนหนึ่งมีความต้องการให้ปรับรูปแบบการปกครองให้เป็นการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษ คล้ายๆ กับกรุงเทพมหานคร ในแง่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งมีความเห็นว่ารูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) นั้น มีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว หากต้องการจะปรับปรุงในแง่โครงสร้างก็ควรเป็นเพียงการแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นไปตามแผนการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น หรือเพิ่มเติมประเด็นอื่นๆ เข้ามา เช่น การบังคับใช้กฎหมายอิสลามกับคนมุสลิมในพื้นที่ ลักษณะของหลักสูตรการศึกษาที่บูรณาการระหว่างสายสามัญและสายศาสนา การใช้ภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี เป็นต้น นี่คือคำถามว่าความเห็นของคนในพื้นที่ตกผลึกเป็นไปในทางเดียวกันหรือยัง คำตอบก็คือยัง...นี่คือประเด็นที่หนึ่ง
ประเด็นที่สอง คือ ความพร้อมของประชาชนที่เข้าถึงจิตวิญญาณประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง สิ่งทีน่าคิดก็คือขณะนี้มีกลไกที่สามารถคัดกรองผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีคุณธรรมและจริยธรรม ซื่อสัตย์สุจริต และเป็นผู้ที่ทำงานเพื่อคนส่วนใหญ่ของสังคมหรือยัง เนื่องจากระบบการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันโดยภาพรวมนอกจากจะก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในชุมชนแล้ว ยังไม่เอื้อให้ผู้มีคุณธรรมสามารถเข้าสู่ระบบการเมืองได้อีกด้วย เพราะผู้เสนอตัวเข้าสู่ระบบการเมืองส่วนหนึ่งใช้เงินทุนเป็นปัจจัยหลักในการแข่งขัน ทำให้ปัจจัยชี้ขาดในการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับเงินทุน ไม่ใช่คุณธรรมและความรู้ความสามารถตามที่ควรจะเป็น ความทับซ้อนกันอยู่ระหว่างรูปแบบปัจจุบันกับรูปแบบใหม่ที่นำเสนอจะหาทางออกอย่างไร
ประเด็นที่สาม คือ เรื่องงบประมาณและความพร้อมด้านการศึกษา ถามว่าการจะเป็นท้องถิ่นดูแลตนเองได้นั้น ต้องไม่ลืมว่าท้องถิ่นนั้นๆ ต้องเลี้ยงตนเองได้เสียก่อน เหมือนกรุงเทพมหานคร ขณะนี้มีหลายจังหวัดที่มีความพร้อมและศักยภาพโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการศึกษาของคนในพื้นที่ เช่น ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น ที่มีการเรียกร้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง ถามว่าพื้นที่นี้มีความพร้อมขนาดนั้นหรือยัง
ประเด็นที่สี่ ผลการเลือกตั้งที่ผ่านมา ประชาชนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เลือกตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยที่ชูนโยบายนครปัตตานี ก็เป็นประเด็นที่คิดไม่ตกว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร
O หากรัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญของการกระจายอำนาจเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบอย่างยั่งยืน โดยมีการตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อาจารย์คิดว่าขั้นตอนหรือการเตรียมการเพื่อก้าวไปสู่จุดนั้นควรเป็นอย่างไร?
ผมคิดว่าน่าจะมีแผนสู่การปฏิบัติแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะแรก ปีที่ 1-5 เป็นระยะที่ต้องทำให้ความคิดเห็นของฝ่ายต่างๆ ตกผลึกอย่างชัดเจน พร้อมทั้งประเมินการปฏิบัติงานของโครงสร้างปัจจุบันว่าได้ผลอย่างไร พร้อมๆ หารูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสมสำหรับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการสร้างรูปแบบและกลไกในการคัดกรองผู้นำทุกระดับ
ระยะที่สอง ปีที่ 6-10 ปรับรูปแบบการบริหารราชการเฉพาะส่วนที่ปฏิบัติได้ ให้มีอำเภอหรือจังหวัดทดลองนำร่อง และใช้รูปแบบกลไกในการคัดกรองผู้นำ
ระยะที่สาม ปีที่ 11 เป็นต้นไป ประกาศใช้รูปแบบการกระจายอำนาจที่เหมาะสมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
O แล้วกลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ ศอ.บต.ที่พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งออกกฎหมายรองรับ จะเอากันอย่างไร?
ผมคิดว่าควรใช้ต่อไป เพราะมีการแยกส่วนความรับผิดชอบอย่างชัดเจนดีแล้ว คืองานความมั่นคงให้ กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) ส่วนงานด้านพัฒนาให้ ศอ.บต. ในปัจจุบันมีการปรับปรุงระบบบริหารราชการในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกฎหมายระเบียบบริหารราชการพื้นที่เป็นการเฉพาะ คือพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553
กฎหมายฉบับนี้ถ้าศึกษาในรายละเอียดจะพบว่าเป็นทั้งเรื่องนโยบาย ยุทธศาสตร์ รวมไปถึงกลไกในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพปัญหา และความต้องการของพื้นที่พอสมควร โดยที่เด่นชัดคือกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผ่านสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีที่มาจากการสรรหาจากตัวแทนประชาชนทุกภาคส่วนรวม 49 คน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายพร้อมทั้งคอยกำกับ ดูแลและติดตามการทำงานของข้าราชการในพื้นที่
โครงสร้างปัจจุบันที่ว่านี้เพิ่งเริ่มใช้ จึงต้องให้เวลาระยะหนึ่งเพื่อให้กลไกขับเคลื่อนแล้วค่อยประเมิน แต่ถ้ากลไกภายในมีปัญหา ก็ต้องมาแก้กลไกเหล่านั้น ไม่ใช่ยกกลไกทิ้งแล้วใช้กลไกใหม่อย่างฉับพลัน ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อหายนะรอบสอง ซึ่งประเทศไทยไม่ควรเสี่ยงถึงขนาดนั้น
ผมมีคำถามถึงพรรคเพื่อไทยที่ต้องหาคำตอบให้สะเด็ดน้ำก่อนจะขบคิดนโยบาย คือ 1.ถ้ามีนครปัตตานีแล้วประชาชนได้อะไร 2.กระจายอำนาจเฉพาะงานพัฒนา แต่งานความมั่นคงยังอยู่ในความรับผิดชอบของส่วนกลาง จะตอบโจทย์ความสงบได้หรือไม่ 3.การรวมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นนครปัตตานีแล้ว จ.นราธิวาส กับ จ.ยะลา จะว่าอย่างไร
4.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะที่กระบวนการเลือกตั้งยังมีปัญหา จะทำอย่างไร 5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง อบต. เทศบาล และ อบจ. รวมถึงกำนันผู้ใหญ่บ้านที่ใกล้ชิดกับประชาชน จะทำอย่างไรกับคนเหล่านี้ ผมคิดว่ายังมีอีกมากมายหลายคำถามที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องหาคำตอบก่อนโดยไม่ด่วนสรุป และตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายอย่างไม่ละเอียดรอบคอบ
เราไม่ต้องการคำขอโทษรอบ 2 รอบ 3 จากใครทั้งนั้น แต่เราต้องการความจริงใจในนโยบายที่สร้างความสันติสุขอย่างแท้จริงและยั่งยืนถาวรตลอดไป