"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" กับนโยบายดับไฟใต้ที่เคยให้สัญญา
หลังจากพรรคเพื่อไทยพ่ายเลือกตั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งในวันแถลงนโยบาย 23-24 ส.ค.ที่ผ่านมา แกนนำของพรรคอย่าง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยังปฏิเสธการเดินหน้านโยบายจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษที่เรียกว่า “นครปัตตานี” ตามที่เคยหาเสียงเอาไว้ด้วย ทำให้เครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ซึ่งเรียกร้องรณรงค์ในเรื่องนี้ ออกมาเคลื่อนไหวทวงสัญญา
อุสตาซอับดุชชะกูรฺ บิน ชาฟิอีย์ (อับดุลสุโก ดินอะ) ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนจริยธรรมศึกษามูลนิธิ อ.จะนะ จ.สงขลา เขียนบทความบอกเล่าจุดยืนของการทวงสัญญา และเหตุผลสนับสนุนว่าเหตุใดรัฐบาลชุดใหม่จึงควรเดินหน้าผลักดันการจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษให้เกิดขึ้นจริง
“ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” กับนโยบายแก้ปัญหาไฟใต้ที่เคยสัญญาไว้
ยังจำภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใส่ผ้าคลุมผมสีแดง อุ้มเด็กและแวดล้อมด้วยสตรีมลายูมุสลิมชายแดนใต้ พร้อมคณะ อาทิ นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นายนิติภูมิ นวรัตน์ เดินทางลงพื้นที่หาเสียงที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นครั้งแรก และประกาศนโยบายให้จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษ คล้ายกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) หรือเมืองพัทยา
ที่สำคัญ พรรคเพื่อไทยจะไม่เน้นเรื่องความรุนแรง จะใช้วิธีพูดคุย ส่งเสริมและพัฒนามากกว่า
แต่ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าคนของพรรคเพื่อไทยไม่ผ่านการเลือกตั้งแม้แต่คนเดียวในสนามการเลือกตั้งภาคใต้ ทำให้เกิดวาทกรรมว่า “พรรคเพื่อไทยไม่มีความชอบธรรมที่จะนำนโยบายเขตปกครองท้องถิ่นพิเศษมาใช้เป็นนโยบายการเมืองนำการทหาร” โดยถูกต่อต้านจากฝ่ายความมั่นคง ข้าราชการ และพรรคอนุรักษ์นิยมอย่างประชาธิปัตย์
สำหรับผู้เขียนมองว่า หากพรรคเพื่อไทยไม่มีความชอบธรรมที่จะนำนโยบายการกระจายอำนาจมาใช้ในภาคใต้ตามที่เคยสัญญาไว้จริง พรรคเพื่อไทยก็ไม่มีความชอบธรรมในการทำทุกนโยบายในภาคใต้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท, ค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน, ข้าวเปลือกขาวเกวียน 15,000 บาท, ข้าวหอมมะลิเกวียนละ 20,000 บาท และอื่นๆ
ฉะนั้นการเดินหน้านำนโยบายการกระจายอำนาจที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใช้ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ควรให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอโมเดล (รูปแบบ) การปกครองก่อนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย และควรกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนเอาไว้ด้วย
ในขณะที่การบริหารภายใต้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่พรรคประชาธิปัตย์คุยนักคุยหนาว่าเป็นการกระจายอำนาจให้คนพื้นที่มีอำนาจในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมเสนอ ร่วมอนุมัตินั้น ก็ให้ดำเนินต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลง
สำหรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษดังกล่าว รัฐบาลควรนำองค์ความรู้มาศึกษาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์จากนักวิชาการที่ได้ศึกษาโมเดลต่างๆ เอาไว้แล้ว โดยเฉพาะร่างของ “คณะทำงานการศึกษาการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย” ภายใต้ความร่วมมือของเครือข่ายประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ 23 องค์กร, เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น, ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้, สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, คณะกรรมการภาคประชาสังคม สภาพัฒนาการเมือง, สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า เพราะร่างดังกล่าวผ่านกระบวนการทางวิชาการและการลงพื้้นที่กว่า 50 เวทีในจังหวัดชายแดนภาคใต้
เพราะจะเป็นการสร้างความชอบธรรมต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้นในการนำนโยบายมาใช้ หากเกิดความผิดพลาดประชาชนในพื้นที่ก็จะช่วยเป็นเกราะกำบังให้กับรัฐบาล
ในขณะเดียวกัน ก็ต้องอธิบายให้คนนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน แต่เป็นการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญ หรืออยู่ภายแนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง”
แนวคิด “ท้องถิ่นดูแลตัวเอง” ไม่ใช่การปฏิเสธอำนาจรัฐ และไม่ใช่ก้าวแรกของการแบ่งแยกดินแดน การให้ท้องถิ่นดูแลหรือปกครองตนเองนั้น หมายถึง การให้ประชาชนในท้องถิ่นมีอำนาจในการดำเนินกิจการของท้องถิ่นให้เป็นไปตามความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริง ซึ่งทำให้แต่ละท้องถิ่นสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โดยที่สามารถ “ออกแบบบ้านของตัวเอง” ได้บนผืนแผ่นดินไทยแห่งนี้
เพราะหัวใจของประชาธิปไตย คือ การที่ประชาชนได้ปกครองตนเอง (Self Government) มิใช่เป็นเพียงผู้ถูกปกครองเท่านั้น
การจะหวนกลับคืนสู่สาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยเพื่อมิให้อำนาจของประชาชนมีเพียง 4 วินาทีใน 4 ปีที่คูหาเลือกตั้ง จึงจำเป็นต้องผลักดันให้ประชาชนในท้องถิ่นมีบทบาทในการปกครองตนเองมากขึ้น ซึ่งแนวคิดการปกครองตนเองนี้มิได้ปฏิเสธนักการเมืองหรือสภาผู้แทนราษฎร หากแต่โจทย์สำคัญคือทำอย่างไรที่จะให้คนในท้องถิ่นมีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมคิดร่วมทำในการดูแลบ้านเมืองของตนเองมากกว่าเดิม มิใช่ทำหน้าที่เพียงเป็นผู้รอรับบริการหรือรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมือง อันมีความหมายรวมถึงการมีอำนาจในการต่อรองและการตัดสินใจเพื่อให้คนในท้องถิ่นสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหาร การปกครอง การศึกษา วัฒนธรรม การสาธารณสุข หรือการพัฒนาชุมชน
หลักการปกครองตนเองที่ว่านี้ได้รับการประกาศรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 อย่างชัดเจนในมาตรา 281 ว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ”
เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญระบุให้รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมและมีอิสระในการดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นภายใต้หลักบูรณภาพแห่งดินแดนอันแบ่งแยกไม่ได้ โดยราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะต้องไม่แทรกแซงการบริหารกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กล่าวคือ รัฐจะต้องกระจายอำนาจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ อำนาจการตัดสินใจ และอำนาจการบริหารจัดการให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และปรับลดบทบาท ตลอดจนลดการกำกับดูแลของราชการบริหารส่วนกลางและส่วนภูมิภาคลง เพื่อให้เป็นไปตามหลักความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยจะคงไว้ก็แต่กิจการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การพิจารณาพิพากษาคดี การต่างประเทศ และการเงินการคลังของประเทศโดยรวมเท่านั้น
ในทางปฏิบัติ รัฐจะต้องจัดให้มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยคำนึงถึงการกระจายอำนาจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น และลดความซ้ำซ้อนและขัดแย้งระหว่างส่วนต่างๆ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้อง “ก้าวให้พ้นไปจากการควบคุมกำกับ ไปสู่ความร่วมมือที่เท่าเทียมกัน ต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์แนวตั้งระหว่างรัฐและภูมิภาคที่อยู่ในฐานะควบคุม กำกับ สั่งการ มาเป็นความสัมพันธ์แบบพันธสัญญาที่มีความเท่าเทียมกันในแนวนอนแทน โดยจะต้องแก้กฎหมาย กฎระเบียบใหม่”
กฎหมายที่ให้อำนาจแก่ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในการกำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นและของประเทศชาติ แต่จะกระทบต่อสาระสำคัญแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นไม่ได้ ซึ่งหากขัดต่อหลักการปกครองตนเอง รัฐก็จะต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งระบุว่าหลักเกณฑ์ของการกำกับดูแลควรต้องสอดคล้องและเหมาะสมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แตกต่างกันในหลายรูปแบบ เพื่อให้แต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถเลือกไปปฏิบัติเองตามความเหมาะสม
ฉะนั้นการกระจายอำนาจในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรทำไปพร้อมกับจังหวัดจัดการตนเองอื่นๆ ที่มีความพร้อม เช่น เชียงใหม่มหานคร ที่กำลังเรียกร้องอยู่เช่นกัน!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจากเว็บไซต์พรรคเพื่อไทย http://www.ptp.or.th/pic/m-pic.aspx?pic_id=587