ภาคเอกชนชูทฤษฎีสร้างคน ‘พนักงานเป็นพระเจ้า’ ยกเครื่องราชการไทย
ภาคเอกชนแนะยกเครื่องระบบราชการต้องยืดหยุ่น ลดขั้นตอน เพื่อทำงานคล่องตัว เน้นทฤษฎีสร้างคนมีความสามารถ ‘พนักงานเป็นพระเจ้า’ ซีอีโออุตฯ ปาล์ม เผยหากฝ่ายการเมืองยังหวังครองอำนาจ การปฏิรูปจะไม่เกิด
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) จัดสัมมนา ‘ระบบราชการกับการปฏิรูปประเทศในมุมมองของภาคเอกชน’ ภายใต้งานวิชาการระบบราชการกับการปฏิรูปประเทศ ณ หอประชุมกองทัพเรือ โดยมีม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นประธาน
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงแนวทางการปฏิรูปประเทศในมุมมองเชิงธุรกิจว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก เราจึงต้องปรับตัวหันมาป้อนสินค้าในตลาดตามความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น โดยตนเองได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจากทฤษฎีคลื่น ซึ่งปัจจุบัน คือ คลื่นสังคมแห่งความดี
ส่วนจะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอย่างไรนั้น ประธานกรรมการ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ กล่าวว่า เมื่อโลกมีความซับซ้อนจนทำให้ไทยต้องปรับตัวมากขึ้น ดังนั้นเราจึงอยู่คนเดียวไม่ได้ แม้ประเทศจะมีรัฐบาลจากอำนาจรัฐประหาร แต่หลายฝ่ายได้เรียกร้องให้ถ่ายโอนอำนาจจากองค์กรของรัฐไปสู่ภาคประชาชน เพราะทุกคนต้องการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะประเทศตะวันตก ฉะนั้นจึงมีผลกระทบต่อประเทศเชิงเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ อาทิ น้ำมัน น้ำ เริ่มมีปริมาณน้อยลง แต่สิ่งที่สำคัญสุด คือ ทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งขาดแคลนเสมอ ตนเองจึงมองว่า หากมีการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลในระบบราชการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องศึกษาให้ดี
“ความต้องการคนจะมีเพิ่มมากขึ้น ทว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นระบบราชการปัจจุบันจะมีส่วนบริหารจัดการคนอย่างไร” นายสนั่น กล่าว และว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จเชิงธุรกิจ คือ ‘ลูกค้าเป็นพระเจ้า’ ถือเป็นทฤษฎีใช้ไม่ได้แล้วในปัจจุบัน แต่ต้องทำให้ ‘พนักงานเป็นพระเจ้า’ ซึ่งควรนำหลักการนี้ไปประยุกต์ใช้กับระบบราชการ ดังนั้น พนักงานจึงถือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญเท่าลูกค้า เพราะหากไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถจะสู้กับคู่แข่งไม่ได้
นายสนั่น ยังระบุถึงการปฏิรูปประเทศภาครัฐและเอกชนต้องขับเคลื่อนร่วมกันอย่างใกล้ชิด รวมถึงต้องเตรียมความพร้อมแก่บุคลากร ด้วยระยะหลังคนเก่งเริ่มถูกซื้อตัวหรือหันไปประกอบอาชีพอื่นแทนรับราชการ ทำให้ขณะนี้มีคนรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ ผมจึงเห็นควรให้เร่งบริหารจัดการ
“ระบบราชการต้องสร้างความยืดหยุ่น เพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ก็ต้องไม่เละเทะ” ประธานกรรมการ บมจ.ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ กล่าว และว่าต้องเรียงลำดับความสำคัญสิ่งที่จะแก้ไข และสนับสนุนให้ดึงความร่วมมือจากภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม จะได้มีความน่าเชื่อถือและเกิดความเข้มแข็งได้
ด้านนายกฤษดา ชวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม กล่าวถึงข้อบกพร่องของระบบราชการไทยยุคหลังว่า มักเปลี่ยนหลักการจากทำ ‘ถูกต้อง’ เป็น ‘ถูกใจ’ ซึ่งตนเองก็เกิดความเห็นใจ เนื่องจากทุกคนมีครอบครัวต้องเลี้ยงดู และต้องการความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน จึงนำมาสู่การทำถูกใจ โดยโครงการต่าง ๆ เริ่มมีการตั้งธงลงมาจากฝ่ายการเมือง
“ระบบราชการไทยมีขอบเขตการทำงาน ผิดกับภาคเอกชนที่ไม่มี เพราะถือเป็นกรอบกำแพงกั้น ยิ่งมีกรอบเยอะมากเท่าไหร่ จะทำให้ขั้นตอนเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งตนเองเชื่อว่า ก.พ.ร.กำลังพยายามลดกรอบจำกัดส่วนนี้อยู่”
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม ยังมองการปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องนามธรรม เชื่อว่าไม่เสร็จในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด ระบบราชการจะดีขึ้นได้ ภาคการเมืองต้องมีส่วนร่วม แต่เมื่อใดที่ยังต้องการครองอำนาจ การปฏิรูปคงยากที่จะเกิดขึ้น
ขณะที่นายทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเอ็ดยูเคชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงระบบราชการจะปฏิรูปได้ต้องกำหนดเป้าหมายสูงสุดให้ผู้รับบริการได้ประโยชน์ แต่ที่ผ่านมาส่วนใหญ่มักขาดตรงส่วนนี้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ล้วนต้องมีค่าใช้จ่ายแตกต่างกัน แน่นอนว่า การให้บริการใช้เวลา 10 นาที ย่อมเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1 ชั่วโมง ดังนั้น เราจึงต้องคิดคำนวณหาจุดคุ้มค่าในระดับที่คนยอมรับได้
ส่วนการกำหนดยุทธศาสตร์นั้น กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซีเอ็ดยูเคชัน ระบุว่า มีความจำเป็น มิฉะนั้นจะต้องทำทุกเรื่อง โดยไม่รู้สิ่งใดคือหัวใจสำคัญ แต่หากการดำเนินงานใดไม่ส่งผลให้เกิดความต่อเนื่อง นั่นก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์
“ภายใต้กรอบจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ จะต้องตั้งโจทย์การทำงานให้ถูกต้อง เพื่อเป็นยุทธศาสตร์ระดับแรก ก่อนจะขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะช่วยเหลือข้าราชการได้มาก” นายทนง กล่าว .