นายกฯ โชว์โปร่งใสนำระบบCoST ประเดิม‘รถเมล์NGV-สุวรรณภูมิเฟส 2-รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน’
นายกรัฐมนตรี คาดข้าวค้างในสต๊อก 18 ล้านตัน สอบเสร็จเดือนนี้ โชว์แผนการระบายข้าว กำลังเจรจาหาตลาดใหม่ๆ เพิ่ม ทั้ง อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอิหร่าน ลั่นไม่มีปัญหาไทยอาจสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 11 ล้านตันอีกครั้ง
วันที่ 3 ตุลาคม เวลา 20.15 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงการขับเคลื่อนการทำงานว่า รัฐบาลนี้มีเวลาจำกัด ดังนั้นจึงได้วางแผนการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นรูปธรรม 3 เดือนแรก จะนำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาสานต่อ เช่น โครงการจัดซื้อหารถโดยสารเอ็นจีวี ของขสมก. โดยส่งมอบล็อตกแรกประมาณ 500 คัน ในเดือนธันวาคม 2557 โดยจะเป็นรถโดยสารแบบชานต่ำเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ การปรับโครงสร้างช่องทางด่านศุลกากร เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชาย โครงการโซนนิ่งพื้นที่เกษตร และโครงการนำร่องผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ ส่งเสริมกลไกให้มีการคัดแยกขยะ
ส่วนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯ ได้หารือแนวทางการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาทับซ้อนพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่สปก. ผลสรุปว่า จะมีมาตรการรักษาป่าให้ได้มากกว่า 3 ล้านไร่ ในพื้นที่ สปก. จัดพื้นที่เตรียมรองรับคนไร้ที่ทำกิน บนพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 3 และดำเนินการกับผู้ครอบครองที่ไม่มีสิทธิ์ โดยจัดระเบียบการใช้ที่ดิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน รวมถึง ทำอย่างไรประชาชนที่เดือดร้อนจากการจัดระเบียบจะมีความพึงพอใจและมีความสุข
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจ ที่ทุกคนกังวลโดยเฉพาะการส่งออกของไทยที่นำรายได้เข้าประเทศกว่า 60% นั้น เครื่องยนต์หลักขณะนี้ยังมีปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ฉะนั้น รัฐบาลเห็นว่า มีเพียงภาครัฐเพียงเครื่องมือเดียวที่จะประคับประคองเศรษฐกิจของประเทศได้ งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 3 เดือน ให้ภาครัฐขับเคลื่อน สั่งทุกกระทรวงเร่งรัดการเบิกจ่ายงบเดิมที่ยังไม่เบิกจ่าย คาดว่า หากเร่งเบิกจ่ายได้เร็วทันสิ้นปีจะมีเงินเข้าสู่ระบบกว่า 1.6 แสนล้านบาท รวมถึงงบลงทุนปี 2558 ให้สามารถเบิกจ่ายได้ในไตรมาสแรกของปีหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง และจำทำให้มีเงินเข้าสู่ระบบ รวมกันกว่า 2.5 แสนล้านบาท
“ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทุกสมัยมักมีคำกล่าวว่า เวลาอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ เหมือนการให้ขนม แต่มักไม่ถึงประชาชนทั้งชิ้นทั้งก้อน ประชาชนได้แต่เปลือก หรือส่วนน้อย ยันครั้งนี้ผมไม่ยอมให้ใครแกะขนมกินกลางอย่างทางเด็ดขาด”
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น โครงการลงทุนในท้องถิ่น แม้มูลค่าไม่มากนัก แต่จะสามารถยกระดับการเจริญในท้องถิ่นได้ในระยะยาวเช่น การจ้างเกษตรกรในฤดูแล้ง มากันช่วยขุดลอกคูคลอง แก้ปัญหาระบบชลประทาน การลงทุนซ่อมแซมสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญ การดูแลเส้นทาง ซ่อมแซมอาคารเรียน สร้างบ้านพักให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถานีอนามัย เป็นต้น มาตรการเหล่านี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้กว่า 2 หมื่นล้านบาท
สำหรับการให้ความช่วยเหลือชาวนานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถือว่าเป็นกระดูกสันหลังของประเทศ มีรายได้ไม่เพียงพอ มีพื้นที่น้อยผลผลิตได้จำนวนน้อย รัฐบาลดูแลคนเหล่านี้ พร้อมเกษตรกรประเภทอื่นๆ ด้วย
“รัฐบาลมีนโยบายที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงราคา จะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อเป็นการช่วยเหลือให้ชาวนาผู้มีรายได้น้อยสามารถปรับตัวได้ สำหรับมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน รัฐบาลได้มีมติผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าจะช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาผู้มีรายได้น้อย มีที่ทำกินขนาดเล็กโดยจะจัดสรรเงินจำนวน 1,000 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกิน 15,000 บาท เฉพาะนาปีเท่านั้น ตามที่ฝ่ายเศรษฐกิจเสนอมา นาปรังนั้นคงไม่ได้ เพราะปัญหาเรื่องน้ำมีอยู่และยังได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งให้ความรู้ ความช่วยเหลือในเรื่องเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ และอยากให้พี่น้องชาวนาได้ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัฐบาลเองก็จะพยายามดูแลในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงข้าวค้างในสต๊อก 18 ล้านตัน ว่า การตรวจสอบจะเสร็จในเดือนนี้ อีกทั้ง มีแผนการระบายข้าวที่ไม่เป็นปัญหา คาดว่า ใช้เวลาถึง 3 ปี รัฐบาลกำลังเจรจาหาตลาดใหม่ๆ เพิ่ม เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอิหร่าน หากปีนี้ไม่มีปัญหาไทยอาจสามารถส่งออกข้าวได้ถึง 11 ล้านตันอีกครั้ง พร้อมกับเร่งสั่งการกระทรวงพาณิชย์ เร่งช่วยผู้ส่งออกอีกทางหนึ่งด้วย” นายกรัฐมนตรี กล่าว และว่า จากปัญหาข้าวค้างสต๊อก จากโครงการจำนำข้าว และการที่ประเทศไทยไม่ได้เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลก ทำให้ไทยไม่สามารถกำหนดราคาในตลาดโลกได้ ดังนั้นมาตรการรัฐบาลจะไม่แทรกแซงเรื่องราคาโดยจะปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด
จากนั้น นายกฯ กล่าวการจัดซื้อจัดจ้างด้วยว่า มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด ได้อนุมัติการเพิ่มความโปร่งใส การลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ (CoST) ซึ่งเป็นสากล ดูตั้งแต่กระบวนการทำทีโออาร์ การจัดซื้อจัดจ้าง และการส่งมอบงาน รวมถึงข้อตกลงสัญญาคุณธรรม (Integrity Pact) มาใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ นำร่องมาใช้กับโครงการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี ก่อสร้างโครงการสุวรรณภูมิ ระยะ 2 และรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย สายสีน้ำเงินของการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และเรื่องอื่น ๆ อีกต่อไป