นักวิชาการ ฉะ 'รถคันแรก' เหยียบย่ำ ขยี้ นโยบายสิ่งแวดล้อม
นักวิชาการ ดันท้องถิ่นร่วมจัดการ ปลุกกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม แนะ 4กลุยทธ์ 9 แนวทางปฏิบัติ มุ่งสู่ "เทศบาลคาร์บอนต่ำ"
วันที่ 3 ตุลาคม 2557 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาเรื่อง “การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ :จากนโยบายสู่การปฏิบัติจริง”ณ ห้องประชุม ชั้น 2 อาคารสถาบัน 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางธารี กาเมือง ผู้จัดการโครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำ กล่าวถึงโครงการเมืองคาร์บอนต่ำว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาเพราะตระหนักถึงสถานการณ์พื้นที่ธรรมชาติในประเทศไทยเริ่มลดลงและลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่คอนกรีตกลับเพิ่มขึ้น เพราะอยู่ในสังคมบริโภคนิยม คนกินอยู่อย่างฟุ่มเฟือยโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้รัฐแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทั้งไฟฟ้า น้ำมันในแต่ละเดือนสูง อีกทั้งปัญหาขยะที่มีล้นเมือง น้ำเสีย และอากาศเสีย เป็นต้น โจทย์สำคัญของโครงการจึงมองเห็นว่าจะทำอย่างไรให้มนุษย์ตระหนักและเห็นความสำคัญของผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งหาวิธีดูแลและป้องกัน
“แม้สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีนโยบายในการดูแลสิ่งแวดล้อมก็จริง แต่นโยบายอีกส่วนหนึ่ง คือ นโยบายรถคันแรก กลับไปสวนทางทำให้คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น นโยบายนี้เป็นการเหยียบย่ำ ขยี้นโยบายสิ่งแวดล้อม และไม่ทราบว่านโยบายของแผนชาติที่ออกมาถูกตั้งไว้ตรงไหนเวลารัฐบาลจะอภิปราย” นางธารี กล่าว
นางธารี กล่าวอีกว่า ขณะที่นโยบายสิ่งแวดล้อมระดับประเทศถูกเหยียบย่ำไปกับนโยบายรถคันแรกแล้ว ตอนนี้หน่วยงานที่สามารถจะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกระแสภายในพื้นที่ คือ ท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นมีศักยภาพ มีคน และมีความพยายามที่ดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับการทำให้เมืองเป็นเทศบาลคาร์บอนต่ำได้ โดยใช้ "4 กลยุทธ์ 9 แนวทางปฏิบัติ" ของโครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนจาการกิจกรรมต่างๆ ภายในเมืองออกสู่บรรยากาศให้น้อยที่สุด ได้แก่
1.เมืองแห่งต้นไม้ โดยการอนุรักษ์ต้นไม้และพื้นที่สีเขียวที่มีอยู่เดิมและเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่ขึ้นมา
2.เมืองไร้มลพิษ ลดการผลิตของเสียภายในเมือง อาทิ น้ำ อากาศ ฯลฯ แต่ให้ใช้ประโยชน์จากของเสีย
3.เมืองพิชิตพลังงาน โดยการประหยัดพลังงานและคิดการใช้พลังงานทดแทนขึ้นมา
และ 4.เมืองแห่งบริโภคยั่งยืนบริโภคในท้องถิ่น คือลดการบริโภค ลดบริโภคในท้องถิ่น หันมาบริโภคสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“แนวคิดนี้จะกลายเป็นกระแส เพราะจำง่าย อยากให้ท้องถิ่นตอบให้ได้เท่านั้นเองว่าทำไมต้องเป็นเมืองไร้มลพิษ”
สำหรับเทศบาลนำร่องของโครงการเทศบาลคาร์บอนต่ำที่ได้ดำเนินการแล้ว เช่น เทศบาล นครสวรรค์ มุ่งมั่นสู่เมืองจักรยาน เทศบาลนครเชียงรายกับการประกวดต้นไม้ใหญ่และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เทศบาลเมืองสุราษฎร์ธานีสู่ชุมชนจักยาน เป็นต้น
ผู้จัดการโครงการคาร์บอนต่ำ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นสำหรับ 4 ยุทธศาสตร์ 9 แนวทางปฏิบัตินี้ท้องถิ่นต้องมีการมีการเรียนรู้พัฒนา และการบริการจัดการภายในองค์กร ที่สำคัญคือ เมืองคาร์บอนต่ำไม่ใช้งานหรือภาระที่เทศบาล แต่งานนี้สามารถบูรณาการเข้ากับภารกิจของหน่วยงานและพื้นที่ได้ อาทิ การควบคุมสุสานและฌาปนสถาน โดยแนะนำกับชาวบ้านว่า พวงรีดเป็นสิ่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนจากพวงรีดให้กลายเป็นสิ่งที่ใช้สอยประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ อาทิ พัดลม จักรยาน ต้นไม้ เป็นต้น
“แม้ว่านโยบายชาติในปัจจุบันจะมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ แต่พบว่ายังไม่มีนิยาม กรอบแนวคิด แนวทางปฏิบัติ มาตรฐานและเกณฑ์ หรือตัวชี้วัดที่ชัดเจนต่อการขับเคลื่อนระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งในระดับ องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มา เพราะ อปท.เห็นว่า ยังไกลตัว และไม่มีนโยบายจากหน่วยงานตรง ทั้งยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน” นางธารี กล่าว พร้อมเสนอการขับเคลื่อนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและมุ่งสู่เมืองคาร์บอนต่ำ โดยให้รัฐบาลหรือหน่วยงานเกี่ยวเกี่ยวข้องประกาศนโยบาย “เมืองคาร์บอนต่ำ” ที่ไม่ใช่เน้นแค่เรื่องขยะเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ ผู้จัดการโครงการคาร์บอนต่ำ กล่าวด้วยว่า การที่ท้องถิ่นขาดแรงจูงใจในการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จำเป็นที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจและความเชื่อมโยงลงสู่ท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง เช่น จัดการรณรงค์ยกย่องเชิดชู หรือให้รางวัลท้องถิ่นที่ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็เป็นส่วนสำคัญในผลักดันเช่นกัน