'ม.ร.ว.ปรีดิยาธร' ฝันอยากเห็นราชการไทยเป็นที่หนึ่งอาเซียน
“ผมอาจจะฝันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 100% แต่ถ้าได้เพียง 60% ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมเชื่อในพลังของข้าราชการไทยว่า ทำได้ และทุกคนที่มาต่างมีใจช่วยทำ แต่สิ่งสำคัญ ต้องเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องดิจิตอล”
“...ผมอยากเห็นไทยครองความเป็นหนึ่งในอาเซียนด้านระบบราชการเหมือนกับเศรษฐกิจที่เป็นผู้รุกตลาดการลงทุนมากที่สุดขณะนี้...”
‘ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล’ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ปาฐกถาเรื่อง ‘การพัฒนาระบบข้าราชการไทยกับการพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน’ ภายในงานสัมมนาวิชาการ ระบบราชการกับการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ณ หอประชุมกองทัพเรือ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวถึงระบบราชการ กับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ระบบการทำงานที่เคยเหมาะสม วันนี้อาจจะไม่เหมาะสมแล้ว เช่น กรณีการทำหนังสือเดินทาง จากเดิมต้องทำที่กระทรวงการต่างประเทศ แต่เมื่อมีจำนวนผู้ขอรับบริการมากขึ้น จึงต้องปรับระบบโดยการตั้งศูนย์ให้บริการเพิ่มแทน
ขณะที่ความจำเป็นต้องแข่งขันก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่ง รวมถึงแรงกดดันจากสังคม โดยเฉพาะจากภาคเอกชน ทำให้ระบบราชการต้องเพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการเทียบเท่า สุดท้าย วิวัฒนาการของโลกเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ความจำเป็นบางอย่างหมดไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ขณะนี้ระบบราชการไทยกำลังล้าหลัง สวนทางกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะทำอย่างไรให้งานราชการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยทำงาน แม้จะมีบางหน่วยงานใช้แล้วบ้าง แต่ก็ยังไปได้ไม่ไกลนัก
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ระบบราชการไทยต้องปรับปรุงการทำงาน 2 ด้าน 1.การปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการทำงาน เเละ 2.การปรับปรุงโครงสร้างส่วนงาน
การปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการทำงาน ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและดำเนินการได้ตลอดเวลา จะมีวิธีการรูปแบบใดขึ้นอยู่กับลักษณะ โดยเฉพาะการให้บริการที่รวดเร็ว ต้องปรับปรุงขั้นตอนการทำงาน ควรให้มีการลดขั้นตอนเสนองานสั้นลง และนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาหนุนเสริม แต่ต้องปรับขั้นตอนการทำงานของมนุษย์ให้เข้ากับซอฟต์แวร์นั้น ๆ อย่าคิดว่าซอฟต์แวร์จะปรับตัวได้เก่งกว่ามนุษย์
“หากมีการนำระบบคอมพิวเตอร์ให้บริการ ประชาชนจะสัมผัสได้ว่าระบบราชการมีความก้าวหน้า เพราะเทคโนโลยีช่วยลดเวลาเดินทางของกระดาษ รวมถึงประเทศชาติประหยัดงบประมาณด้วย"
การปรับปรุงขั้นตอนและวิธีการทำงานนั้น ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการได้เอง โดยไม่ต้องศึกษา ทุกท่านมีมันสมองที่จะปรับปรุงขั้นตอน ทว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ‘หัวหน้า’ ต้องมีภาวะผู้นำ ถ้าไม่นำจะไม่เกิด และไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้องมานั่งด้านหลังเวลาประชุมเพื่อเสริมบารมี ควรปล่อยให้เขาเหล่านั้นทำงานมากกว่า
“ทำอย่างไรให้หัวหน้าทั้งหมดเกิดจิตสำนึกและความเข้าใจอย่างถูกต้องเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบและลดขั้นตอนการทำงาน ซึ่งถือเป็นหน้าที่พึงกระทำอย่างยิ่ง” รองนายกรัฐมนตรี ชวนทุกฝ่ายคิด ก่อนเสนอให้ ก.พ.ร.จัดมอบรางวัลแก่หน่วยงานที่มีการปรับปรุงระบบอย่างจริงจัง โดยนำเข้ามาอยู่ในดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่ง ซึ่งจะมีผลต่อการปรับเลื่อนตำแหน่งและขึ้นเงินเดือนต่อไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวด้วยว่า ก.พ.ร.ต้องกระตุ้นให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างระบบราชการขนานใหญ่ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิตอล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเตรียมพัฒนาโครงสร้างระดับประเทศอยู่ แต่ขอไม่ลงลึกรายละเอียด เนื่องจากต้องมีการเสนอกฎหมายอีกครั้ง หากผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็จะนำไปสู่การขับเคลื่อนทั้งประเทศ เพื่อให้คนไทยใช้ได้ในราคาถูก
“หน่วยงานราชการต้องปรับตัวมาใช้ระบบดิจิตอลมากขึ้น มิเช่นนั้นจะถูกแรงกดดันจากสังคมให้ปรับตัวแน่นอน ซึ่งกลไกระดับสูงต้องจัดให้มีการเตรียมตัวเรื่องต่าง ๆ เช่น โครงสร้างฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เพื่อรองรับการใช้งาน ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาผลิตกำลังคน เพื่อแข่งขันเวทีโลกได้"
รองนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องเริ่มคิดให้บริการระบบดิจิตอล เพื่อให้ทันเหตุการณ์ตั้งแต่บัดนี้ เเต่คำถาม คือ ก.พ.ร.จะมีส่วนช่วยสนับสนุนเรื่องเหล่านี้ได้มากน้อยเพียงใด
ช่วงท้าย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร สรุปว่า ประเทศอื่นมีการพัฒนาระบบดิจิตอลใช้เพื่อปรับปรุงการทำงานของระบบราชการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งหากเราช่วยกันคิดและทำ เสียเวลาออกแรงพร้อมกันสักครั้ง ในที่สุดก็จะมีระบบราชการที่ทันสมัย
“ผมอาจจะฝันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 100% แต่ถ้าได้เพียง 60% ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ผมเชื่อในพลังของข้าราชการไทยว่าทำได้ และทุกคนที่มาต่างมีใจช่วยทำ แต่สิ่งสำคัญ ต้องเตรียมความพร้อมให้แก่บุคลากรมีความรู้และความเข้าใจเรื่องดิจิตอล” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว .