เผยอีก 10 ปีข้างหน้า วงการศึกษาไทยอ่วม ครูเกษียณสูง 1.8 แสนคน
10 ปีข้างหน้าวงการศึกษาไทยครูเกษียณสูง 40% รมช.ศึกษาฯ ชี้ต้องเร่งทบทวนการลงทุนอาชีพครูครั้งใหญ่ แนะร่วมหามาตรการพัฒนาครูเข้าสู่ระบบ
2 ตุลาคม 2557 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมจัดแถลงข่าวรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเพื่อค้นหา “ครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงแก่ศิษย์ สร้างแรงบันดาลใจและคุณูปการแก่วงการศึกษาไทย” โดยมีดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ณ ห้องประชุมจันทรเกษม หอประชุมคุรุสภา
ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จะทรงมีพระชนมายุ 60 พรรษา ในปี 2558 สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสสค.ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการปฏิบัติงาน ได้ขอพระราชทานพระราชานุญาตจัดตั้งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” (Princess Maha Chakri Award) รางวัลเกียรติยศแห่งความเป็นครูที่ยิ่งใหญ่ครั้งแรกที่จัดขึ้นในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกันทั้ง 11 ประเทศ ซึ่งเกิดจากความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาแก่ประชาชนชาวไทยตลอดมา โดยตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมามีการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกระบวนการคัดเลือก และคุณสมบัติครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีแก่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด 4 ภูมิภาค จึงเห็นสมควรจัดงานแถลงข่าวในส่วนกลางเพื่อสร้างกระแสการมีส่วนร่วมในการ เสนอชื่อครูผู้สมควรได้รับรางวัลนี้ขึ้น
ดร.กฤษณพงศ์ กล่าวว่า ในปี 2558 พบว่า ทั่วโลกจะต้องการครูจำนวน 5.24 ล้านคน ทดแทนครูที่ออกจากระบบ 3.66 ล้านคน และครูที่จะมารองรับการขยายตัวทางการศึกษาอีก 1.58 ล้านคน ทั้งนี้ทวีปแอฟริกา เป็นภูมิภาคที่มีความต้องการครูสูงสุดในโลก คือ ต้องการครูจำนวน 9 แสนคน หรือ 63% ของความต้องการครูทั้งหมดทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเองภายใน 10 ปีข้างหน้านี้ รมช.ศธ. กล่าวว่า เราจะมีครูเกษียณรวมกันสูงถึง 180,000 คนเป็นอย่างน้อย 40% ของจำนวนครูในระบบการศึกษาในปัจจุบัน ด้วยจำนวนโรงเรียนของรัฐทั่วประเทศราว 32,000 โรงเรียน ทุกโรงเรียนจึงจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครูโดยเฉลี่ย 6 ตำแหน่งตลอด 10 ปีข้างหน้านี้ ดังนั้นจึงต้องทบทวนการลงทุนเรื่องครูครั้งยิ่งใหญ่และจำเป็นที่จะต้องหามาตรการทดแทนครูที่กำลังจะเกษียณจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งในระบบการศึกษา
"นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของทุกระบบการศึกษาทั่วโลกที่จะผลิตและพัฒนาครูแห่งศตวรรษที่21 ที่สามารถตอบสนองต่อความท้าทายในระบบการศึกษาในอนาคต”
ทั้งนี้ภายในงานยังมีเสวนาในหัวข้อ “สังคมไทยจะร่วมเป็นหนึ่งในการค้นหาครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี..ครูแบบใดที่คนไทยโหยหาได้อย่างไร?”
ดร.ประมวล เพ็งจันทร์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการอิสระ กล่าวถึงค่านิยมของคนหนุ่มสาวในปัจจุบันจะพูดถึงเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตคือการมีรายได้สูง แต่นิยามความสำเร็จของการเป็นครูคือความสามารถที่จะเป็นผู้ “ให้” ความรู้แก่ลูกศิษย์ ชุมชน และสังคม ฉะนั้นคนหนุ่มสาวที่เลือกประกอบวิชาชีพครูต้องนิยามความหมายของชีวิตใหม่ ความรู้สึกเหล่านี้เมื่อไม่มีกระแสหลักเข้ามาหนุนเสริมการจะเพียรพยายามสร้างขึ้นมาก็ไม่ง่ายเห็นได้ชัดเจนว่า วิชาชีพหรือสาขาอาชีพครูมีเป้าหมายความสำเร็จของชีวิต ซึ่งไม่สนองต่อความอยากได้อยากมี ฉะนั้นหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ของครูคือผู้สร้างแรงบันดาลใจ ปลูกฝังและบ่มเพาะให้ลูกศิษย์มีความวิริยะ พากเพียร เกิดศรัทธา ความเชื่อมั่นต่อการศึกษาที่ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้ จนสามารถพัฒนาและก้าวสู่การเป็นผู้เรียน นักศึกษาที่ดีได้
“ครูที่ดีมักไม่พูด ไม่แสดงตน เพราะหน้าที่ของครูคือความสุขในการเห็นศิษย์มุ่งมั่นตั้งใจเกิดพลังในการเรียนรู้ ซึ่งครูประเภทนี้มักจะอยู่เงียบๆ ถูกซุกซ่อนไว้ในโรงเรียนเล็กๆ ตามชนบท จึงเป็นภาระของพวกเราที่จะช่วยกันแสวงหา ค้นหาครูดีให้ได้ แล้วนำมาเปิดเผยให้สังคมได้มองเห็น เพราะการเรียนรู้ที่จะเป็นครูที่ดี บางครั้งต้องเริ่มต้นจากการพบเจอครูที่ดีก่อน”
ด้านดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีเป็น รางวัลที่จัดขึ้นเพื่อมอบให้กับครูที่ทุ่มเทเพื่อศิษย์ในระดับนานาชาติเป็น ครั้งแรก รางวัลนี้จึงเปิดโอกาสให้กับครูทุกคนไม่จำเป็นจะต้องเป็นครูในระบบเท่านั้น โดยเห็นว่า จุดแข็งครูไทยที่สามารถสู้ได้ทัดเทียมครูระดับนานาชาติก็คือ ความเอื้ออาทร โอบอ้อมอารี นับญาติพี่น้อง โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่ขาดที่พึ่ง บางครั้งครูเปรียบเสมือนกับแม่คนที่หนึ่ง
"การเสนอชื่อครูจึงเป็นโอกาสที่ทำให้สังคม และคนทั่วโลกได้รับรู้ว่าประเทศไทยยังมีครูดีที่ให้ชีวิต สร้างแรงบันดาลใจแก่ศิษย์"
ขณะที่นายเอกชัย วรรณแก้ว อดีตบัณฑิตไร้แขนที่ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า อาชีพครูเป็นอาชีพที่ยิ่งใหญ่ ครูจึงเปรียบเหมือนเกษตรกร คือถ้าไม่บำรุงต้นไม้ไม่ให้ความรักไม่เอาใจใส่ต้นไม้ก็ไม่สามารถที่จะเจริญเติบโตได้ ถึงจะประกอบอาชีพครูมาเพียง 10 ปี ถึงจะเป็นครูรุ่นใหม่ก็เข้าใจคุณครูที่ตั้งใจสอนลูกศิษย์และเชื่อว่า ลูกศิษย์หลายคนอยากให้รางวัลนี้กับครูที่เรารู้จักและนับว่า รางวัลนี้เป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ แม้จะได้รับรางวัลนี้หรือไม่ได้รับหากมีลูกศิษย์บางคนที่รักครูเสนอชื่อเข้ามาก็ถือว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่แล้ว