'กรณ์- นิพนธ์' สะท้อน เเจก 4 หมื่นล. ช่วยชาวนา กระตุ้นศก.หรือประชานิยม
‘นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน’ ชี้รัฐบาลหนุนงบฯ 4 หมื่นล้านบ. ช่วยชาวนา เปรียบเหมือนยาแก้ปวด แนะขับเคลื่อนพร้อมกันทุกห่วงโซ่แก้ยั่งยืน ชวนเวียดนาม-พม่า-อินเดีย ฮั้วราคาข้าว หวังยกระดับสูงเกินเงินเฟ้อโลก ‘กรณ์ จาติกวนิช’ แนะปรับโครงสร้างพัฒนาแหล่งน้ำ ระบุหลักคิดไม่ต่างจากประชานิยม
ภายหลังมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนาวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ คิดเป็น 15,000 บาท/ครัวเรือน
นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงประเด็นข้อสังเกตกรณีอนุมัติงบฯ กระตุ้นเศรษฐกิจอาจเข้าข่ายประชานิยมว่า ตนเองไม่สนใจจะเป็นประชานิยมหรือไม่ แต่ขอเปรียบนโยบายเป็น "ยาแก้ปวดชั่วคราว" มากกว่า
พร้อมยกทฤษฎีเสรีนิยมแบบกำกับที่รัฐบาลต้องคิดช่วยเหลือเฉพาะหน้า เพราะภาวะกลไกราคาข้าวไม่เอื้อให้ชาวนามีรายได้คุ้มการลงทุนแล้ว ทั้งนี้ ต้องยอมรับไม่สามารถแก้ปัญหายั่งยืนได้
ส่วนนโยบายจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่รัฐบาลคาดหวังหรือไม่ อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะชาวนาจะนำเงิน 1,000 บาท/ไร่ ที่ได้รับไปใช้หนี้เก่าที่สะสมมานาน จนไม่เหลือสำหรับใช้สอย แต่ควรใช้งบฯ อีกก้อนหนึ่งจ้างขุดคลองวันละ 300 บาท เพื่อให้มาตรการเสริมเหล่านี้ช่วยกระตุ้น
“การแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำต้องขับเคลื่อนเหมือน "การเดินเกมหมากรุก" โดยจะคว้าชัยชนะต้องเดินพร้อมกันหลายหมาก”
นายนิพนธ์ กล่าวถึงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (กษ.) พยายามปรับโครงสร้างการผลิต แต่เมื่อลงลึกรายละเอียดกลับเกาไม่ถูกที่คัน ส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้น
อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวเสริมถึงปัญหาชาวนาใน 4 ประเด็น คือ
1.พื้นที่ทำกิน โดยค้านการนำพื้นที่ราชพัสดุมาให้ชาวนา เพราะล้วนมีคุณภาพดินไม่สมบูรณ์ หากปล่อยให้ปลูกข้าวจะเจ๊งได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำ ต้องให้กรมพัฒนาที่ดินลงพื้นที่พัฒนาให้เหมาะสม
2.เมล็ดพันธุ์ข้าว รัฐบาลเข้าใจผิดหมดเมล็ดพันธุ์ข้าวไทยไม่ดี ทำให้มีผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทั้งที่ความจริงเกิดจากขาดระบบชลประทาน จึงต้องแก้ไขด้วยการหาน้ำ ซึ่งการขุดลอกคูคลองขณะนี้ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็ควรขุดคลองไส้ไก่ส่งไปนาด้วย
3.ปุ๋ย ต้องยอมรับชาวนายังใช้ปุ๋ยเคมีอยู่ จึงต้องหาวิธีลดต้นทุนการผลิต ส่วนการที่รัฐบาลร้องขอให้พ่อค้าลดราคาปุ๋ยเคมีเป็นไปไม่ได้ เพราะพ่อค้าไม่ใช่กรมประชาสงเคราะห์ ฉะนั้น จึงควรสร้างการแข่งขันให้เกิดในกลไกตลาด โดยให้องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อตก.) สั่งปุ๋ยเข้ามาขายแข่งกับพ่อค้า เพราะอตก.ไม่มีหน้าที่ทำกำไร เมื่อพ่อค้ากลัวว่าจะขายไม่ได้ก็จะลดราคาให้ถูกลงเอง
4.ความรู้ ภาครัฐต้องส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ ทั้งก่อนและหลังเก็บเกี่ยว และเพิ่มอำนาจการต่อรองทางการตลาดเพื่อช่วยเหลือชาวนา ตลอดจนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง เพราะชาวนาแต่ละคนอยากรวย แต่ไม่ทราบว่าราคาข้าวขึ้นลงเมื่อไหร่
นายนิพนธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลายประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอาหาร เนื่องจากมีสัดส่วนชาวนาทั่วโลกลดน้อยลง เพราะอาชีพดังกล่าวเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ฉะนั้น เราต้องขายข้าวราคาแพงให้แก่ประเทศที่ร่ำรวย และนำกำไรส่วนหนึ่งมาขายให้แก่ประเทศที่ยากจนแถบแอฟริกา เพื่อจะสามารถรักษาอาชีพทำนาต่อไป
เมื่อถามถึงโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ระบุว่า เป็นโครงการเชื่อมโยงเพื่อรวบรวมข้าวเปลือก ถือเป็นนโยบายที่ดี แต่กลไกดังกล่าวมีขนาดเล็กไม่สามารถช่วยยกระดับราคาข้าวให้คุ้มทุนได้ อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ลืมตำรา แล้วหันมาชวนเวียดนาม พม่า และอินเดีย ฮั้วราคาข้าว เพื่อราคาจะได้สูงขึ้น แต่ต้องไม่น้อยกว่าเงินเฟ้อของโลก ชาวนาจึงอยู่รอดได้
นายนิพนธ์ ยังกล่าวถึงข้อกังวลการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาลเดินมาผิดทางมาก เพราะเมื่อฟิลิปปินส์หรืออินโดนีเซียได้สั่งซื้อสินค้าจากรัฐบาลแล้ว จะทำให้พ่อค้าขายข้าวไม่ได้ สุดท้ายก็จะส่งผลกระทบต่อข้าวเปลือกนาปีที่จะเก็บเกี่ยวช่วงพฤศจิกายน 2557 ที่ไม่มีตลาดรองรับ
“การทำให้ราคาข้าวในตลาดอยู่ที่ 9,000 บาท/ตัน ต้องขับเคลื่อนพร้อมกันทุกมาตรการ แต่รัฐบาลยังทำไม่ครบห่วงโซ่ แก้ตรงนี้ก็เกิดปัญหาอื่นอีก เหมือนกับลิงแก้แห สาเหตุเกิดจากคนในรัฐบาลขาดความรู้ทั้งระบบ ซึ่งแท้จริงแล้วมีความรู้ แต่กลับปิดบัง ซ่อนเร้น เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทตนเอง” อดีตนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ทิ้งท้าย
'กรณ์' ชี้ไม่ต่าง 'เช็คช่วยชาติ-กองทุน SML'
ด้านนายกรณ์ จาติกวนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว (Korn Chatikavanij) ว่า วันนี้มีคนถามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะได้ผลหรือไม่ เท่าที่ประกาศมาส่วนใหญ่คือการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบรัฐบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่จำเป็น และถ้าสำเร็จก็คงจะช่วยอยู่บ้าง แต่หัวใจของเศรษฐกิจไทย คือ การบริโภคภาคประชาชนบวกกับการค้าระหว่างประเทศ ทั้งสองหมวดยังน่าเป็นห่วงมาก กำลังซื้อและการจับจ่ายของประชาชนเทียบกับปีที่แล้วยังติดลบอยู่
ส่วนการส่งออกแทบจะไม่มีการขยายตัวเลย การลงทุนโดยภาคเอกชนก็ลดลง สืบเนื่องจากการใช้กำลังการผลิตยังตํ่ามากที่ประมาณ 60% จึงทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มเติม ดังนั้นถ้ารัฐเบิกจ่ายได้จริงก็คงส่งผลบ้างแต่ไม่ถึงกับกระตุ้นให้เศรษฐกิจคึกคักได้ ส่วนตัวจึงคิดว่าในหนึ่งปีถ้ารัฐบาลทำได้ตามที่นำเสนอ ถือว่าโอเคแล้ว
“สิ่งที่อยากให้รัฐบาลทำมากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น คือ การปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้างที่มีผลต่ออนาคต อย่างเช่นทางการเกษตรในเรื่องของการบริหารแหล่งนํ้าและวิธีการใช้นํ้า รวมถึงทำอย่างไรให้เกษตรกรปลูกพืชที่เหมาะสมตามสภาพของพื้นที่ เป็นต้น”
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ในภาคอุตสาหกรรม นักลงทุนข้ามชาติอยากใช้ไทยเป็นฐานการผลิตให้กับอาเซียน จึงอยากเห็นการเชื่อมโยงทางการขนส่งที่ชัดเจนขึ้น มียักษ์ใหญ่เจ้าหนึ่งบอกว่าถ้ามีรถไฟขนสินค้าวิ่งไปเวียดนามได้ด้วยความเร็วเพียง 100 กม./ชั่วโมง เขาคงพร้อมรวมศูนย์การผลิตไว้ที่ไทยหมด หรือในภาคการศึกษา เราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยพูดภาษาอังกฤษได้ ซึ่งจะมีผลอย่างมากกับอนาคตลูกหลานและเศรษฐกิจของเรา ฯลฯ
“หลายเรื่องเชื่อว่ารัฐคิดอยู่แล้ว ดังนั้นในขั้นต่อไปรัฐบาลควรลำดับความสำคัญให้เราได้เห็นว่าในหนึ่งปีข้างหน้านั้น รัฐจะปูพื้นในเรื่องอะไรบ้างที่จะมีผลในระยะยาวต่อการพัฒนาประเทศ เมื่อเราเห็นทิศทางสู่อนาคตที่ชัดเจน ต่อเมื่อเศรษฐกิจจะฝืดเคืองไปอีกระยะหนึ่งเชื่อว่าเราก็ทนได้”
ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งคำถามนโยบายช่วยเหลือชาวนาเข้าข่ายประชานิยม นายกรณ์ ระบุว่า ทุกนโยบายรัฐบาลมีทั้งข้อดีข้อเสีย ส่วนนโยบายแจกเงินให้ชาวนา วัดโดย 'ขนาดพื้นที่นา' ที่รัฐบาลประกาศมาก็เช่นเดียวกัน
ปัญหาปัจจุบันคือราคาพืชผลตํ่า ชาวนาไม่มีพอจะกิน รัฐบาลจึงหาวิธีบรรเทาความเดือดร้อนให้ชาวนา และวิธีที่รัฐบาลเลือกนั้นตรงไปตรงมาที่สุด คือแจกเงินสด ไร่ละ 1,000 บาท สูงสุด 15 ไร่หรือ 15,000 บาท ใช้เงิน 40,000 ล้านบาท เนื่องจากถ้าเราคำนวณจากราคาข้าวปัจจุบัน ชาวนามีกำไรเพียงประมาณไร่ละ 1,000 บาท ดังนั้นนโยบายนี้มีผลในการเพิ่มกำไรต่อไร่ให้เขาถึงเท่าตัว
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอีกว่า ว่าไปแล้วหลักคิดไม่ต่างกับ 'เช็คช่วยชาติ' ในสมัยวิกฤตเศรษฐกิจปี 2552 ที่ให้ 2,000 บาทกับผู้มีรายได้ตํ่ากว่า 15,000 ต่อเดือน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและกระตุ้นการบริโภค และคล้าย 'กองทุน SML' ของรัฐบาลพลังประชาชนที่มีเจตนาเป็นทุนให้หมู่บ้านไปทำโครงการที่เป็นประโยชน์
แต่ข้อด้อยในทางปฏิบัติ คือ ตามข้อเท็จจริงมีชาวนายากจนที่ไม่มีที่ทำกินของตนเองเกือบ 800,000 ครอบครัว
คำถาม คือ เขาเหล่านี้จะรับเงินช่วยเหลือได้หรือไม่ และจะมีเกณฑ์รับอย่างไร
“แน่นอนที่สุดรัฐบาลนี้ก็พูดเหมือนในปี 2552 ว่า 'ครั้งนี้ครั้งเดียวนะ' ซึ่งในกรณีเราก็ทำครั้งเดียวจริง แต่วันนี้ชาวนายังคงต้องการความช่วยเหลืออยู่ ดังนั้นคำถามยังคงอยู่ว่ารัฐจะช่วยเหลืออย่างยั่งยืนอย่างไรต่อไป" นายกรณ์ กล่าว เเละว่า ส่วนการอ้างว่าแบบนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่ถ้าเป็นนักการเมืองทำเหมือนกันถือว่า ใช่
"อันนี้ผมว่าท่านคงเข้าใจแล้วว่าอะไรที่ทำแล้วเป็นประโยชน์ ประเทศไม่เสียหายก็ต้องทำ อย่ามาว่ากันเลย"
ภาพประกอบ:กรณ์ จาติกวนิช (เว็บไซต์ ผู้จัดการออนไลน์)-นิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน (เว็บไซต์ ทีนิวส์)