นักวิชาการ ชี้สังคมไทยยังไม่เปิดกว้าง ผูกติดครอบครัวแค่ 'ชาย-หญิง'
ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร แนะรื้อร่างกม.อุ้มบุญใหม่ให้ครอบคลุมเพศที่3 เสนอเปิดพื้นที่ให้คนที่ได้รับผลกระทบมานั่งพูดคุย
วันที่ 2 ตุลาคม 2557 คณะอนุกรรมการสื่อสารสิทธิมนุษยชนในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับคณะทำงานเพื่อการขับเคลื่อนความเสมอภาคและสิทธิความหลากหลายทางเพศ ตาม ร่างกฏหมายที่ เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ สนับสนุนโดย มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ จัดเสวนา “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ : กฏหมายที่ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ” ณ บงกชรัตน์ บี โรงแรมรอยัลรีเวอร์
นางสาวนัยนา สุภาพึ่ง ผู้อำนวยการมูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวถึงร่างพรบ.ดังกล่าวถือเป็นเจตนาที่ดี แต่เนื้อหาที่ระบุในกฎหมายไม่มีเนื้อหาครอบคุลมถึงเพศทางเลือก โดยครอบคลุมเฉพาะเพศหญิงและชายเท่านั้น
"สังคมไทยถูกเรียนรู้จากสังคม ประเพณี วัฒนธรรมที่มีแต่ดังเดิมว่า ครอบครัวที่สมบรูณ์ต้องมาจากครอบครัวที่ประกอบด้วย พ่อแม่ลูกที่มีเพศหญิงชาย และเด็กที่เกิดมาจะต้องได้รับการดูแลมาจากเพศต่างกันเท่านั้น ซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิในการดูแลเด็กของเพศที่มีความหลากหลายทางเพศ"
ผอ.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร กล่าวว่า สังคมต้องสร้างองค์ความรู้และนิยามขึ้นใหม่ โดยครอบครัวที่มีความอบอุ่น ไม่ได้มีเฉพาะพ่อแม่ลูกที่มีเพศชายหญิง แต่เพศที่มีความหลากหลายก็สามารถสร้างความสมบรูณ์ของครอบครัว สามารถให้ความอบอุ่นกับเด็กที่เกิดมาได้ และควรจะสนับสนุนส่งเสริมให้ครอบครัวมีความหลากหลายและครอบครัวที่มีความแตกต่างให้ได้รับการยอมรับ รวมทั้งจะต้องไม่เลือกปฏิบัติต่อคนที่ต้องการจะใช้ชีวิตคู่ที่มีความแตกต่างหลากหลายด้วย
นางสาวนัยนา กล่าวต่อว่า ร่างกฎหมายอุ้มบุญฉบับนี้ยังไม่สมบรูณ์ เพราไม่ครอบคลุมกับเพศทางเลือก จึงควรที่จะร่างขึ้นใหม่โดยเสนอให้เปิดพื้นที่ให้คนที่ได้รับผลกระทบมานั่งพูดคุย หากกฎหมายที่ครอบคลุมและเป็นธรรมต่อทุกเพศและทุกคน
ด้านรศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งหมายให้ครอบครัวที่ไม่สามารถมีบุตรหรือมีบุตรยากสามารถมีบุตรได้ โดยต้องจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่ครอบคลุมถึงเพศทางเลือก จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเรียกร้องและร่วมกันเสนอให้ร่างกฎหมายขึ้นใหม่ ให้ครอบคลุมและเข้าใจเพศทางเลือกมากขึ้น
“ระบบครอบครัวในสังคมไทย มีการผูกติดกับคู่รักต่างเพศคู่ชายหญิง ระบบครอบครัวที่สมบรูณ์ต้องพ่อแม่ลูก ถามว่า ตัวร่าง กม.ออกมาได้อย่างไร คืออกมาจากคนในสังคม โดยการผลักดันตามความเชื่อของที่มีอยู่ และเชื่อว่า ระบบครอบครัวเป็นแบบนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเข้าใจของสังคมระบบครอบครัวยังไม่กว้างขว้าง” รศ.สมชาย กล่าว พร้อมกับยกตัวอย่างกลุ่มอนุรักษ์นิยมที่ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ไม่เข้าใจและยึดติดกับเพศเดิมๆ อาทิ แพทย์และนักกฎหมาย เป็นต้น
อาจารย์นิติศาสตร์ มช. กล่าวด้วยว่า การสร้างความเข้าใจควรเริ่มจากจุดเล็กๆ โดยสังคมต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงของเพศที่หลากหลายมากขึ้น ตลอดจนถึงการพิจารณาข้อเรียกร้องของกลุ่มเพศที่มีความหลากหลายที่มีความพยายามผลักดันให้ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต ซึ่งเพศทางเลือกมีสิทธิในการแต่งงานหรือการรับรองการเปลี่ยนเพศในทางกฎหมาย รวมทั้งการให้เพศที่สามสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีในการเจริญพันธุ์ได้ ซึ่งในต่างประเทศยอมรับและเข้าใจในเรื่องดังกล่าวมากขึ้นแล้ว