เกษตรฯ กดปุ่มสินเชื่อ 2 หมื่นล้าน ช่วยชาวนา ใช้กลไกสหกรณ์ยกระดับราคาข้าว
ปลัดกษ. กดปุ่มสินเชื่อสนับสนุนช่วยเหลือชาวนา ฤดูกาลผลิต 2557/58 วงเงิน 2 หมื่นล้านบ. หวังใช้กลไกสหกรณ์ยกระดับราคาข้าวเปลือก 4 ล้านตัน ‘ผู้จัดการ ธ.ก.ส.’ แจงปมชาวนาพิจิตรร้องนายกฯ ไม่ได้รับเงินจำนำข้าวนาน 11 เดือน เตรียมชง นบข.ผ่อนปรนช่วยเหลือ คาดรู้ผลเร็ว ๆ นี้
วันที่ 2 ตุลาคม 2557 ที่โรงแรมรามา การ์เด้น นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดตัวโครงการ ‘ขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูกาลผลิต ปี 2557/58’ ว่า โครงการนี้มีการอนุมัติสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นมาตรการเดิมตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติไว้ โดยใช้รวบรวมข้าวเปลือกประมาณ 4 ล้านตัน เข้ามาอยู่ในระบบสหกรณ์กว่า 500 แห่ง เพื่อยกระดับราคาข้าวภายใต้มาตรการที่ได้ผล ทั้งนี้ เกษตรกรเเละกลุ่มเกษตรกรต้องรับภาระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี ระยะเวลาการกู้ยืม 1 ปี
“กระทรวงพาณิชย์เคยคาดการณ์ว่าการใช้กลไกสหกรณ์จะช่วยยกระดับราคาข้าวเปลือกอยู่ที่ 8,500-9,000 บาท/ตัน” ปลัด ก.เกษตรฯ กล่าว และว่าราคาดังกล่าวได้คำนวณขึ้นก่อนคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะมีมติอนุมัติมาตรการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตแก่ชาวนาวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท”
เมื่อถามถึงมาตรการช่วยเหลือชาวนาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง นายชวลิต ระบุว่า ก.เกษตรฯ มีการช่วยเหลือชาวนามาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งโครงการนี้ถือเป็นรูปธรรมและได้ผลระดับหนึ่ง ส่วนการจ่ายสินเชื่อรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 3 นั้น ขณะนี้ได้มีการขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรราว 2.8 ล้านคน และขอสนับสนุนวงเงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว
ปลัด ก.เกษตรฯ ยังกล่าวถึงมติ ครม.อนุมัติวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้แก่ผู้มีรายได้น้อย ช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนาว่า โครงการนี้จะช่วยเหลือชาวนาด้านปัจจัยการผลิตไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ รวม 15,000 บาท/ครัวเรือน โดยขั้นตอนการดำเนินการ กรมส่งเสริมการเกษตรและธ.ก.ส.ได้เตรียมการเกี่ยวกับทะเบียนเกษตรกร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มอนุมัติเงินได้ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ผ่านระบบโอนเข้าบัญชีเท่านั้น
ด้านนายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ขอขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรแล้ว 2.8 ล้านครัวเรือน ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานดำเนินการจ่ายต่อเนื่องได้เลย ถือเป็นมาตรการเพิ่มเติมในการส่งเสริมลดต้นทุนการผลิต โดยเมื่อชาวนาได้รับใบรับรองให้นำมาแสดงตัวพร้อมบัตรประจำตัวประชาชนและสมุดบัญชีเงินฝากที่ ธ.ก.ส.สาขาใกล้บ้าน
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบคุณสมบัติผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อมีการรับรองก็จะคำนวณวงเงินการช่วยเหลือทันทีตามกรอบไม่เกิน 15 ไร่/ครัวเรือน ทั้งนี้ ชาวนาสามารถเบิกเงินนำไปใช้จ่ายได้ภายใน 3 วัน นับแต่วันยื่นเรื่อง ผ่านระบบบัญชีธนาคารเท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ได้รับประโยชน์ราว 3.4 ล้านครัวเรือน
เมื่อถามว่าวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้ามากเพียงใด ผจก.ธ.ก.ส. ระบุว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นผลพลอยได้จากการส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต แต่เราต้องการให้ชาวนามีรายได้พอสมควร เหลือเก็บ จะได้มีกำลังใจในการประกอบอาชีพ ส่วนการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจต้องคอยรอดูผลลัพธ์ที่จะได้ เพราะยังไม่สามารถประเมินได้ อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์กรณีกระจายเม็ดเงินโครงการรับจำนำข้าววงเงิน 9 หมื่นล้านบาท ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบการเติบโตของจีดีพีราวร้อยละ 0.2 ดังนั้นกรณีนี้จึงน่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง
นายลักษณ์ ยังชี้แจงกรณีชาวนาจ.พิจิตร ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. หลังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวมาร่วม 11 เดือนว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นการรับจำนำข้าวข้ามเขต ระหว่างชาวนา จ.พิจิตรกว่า 100 คน และจ.นครสวรรค์บางส่วน ธ.ก.ส.จึงขอให้จังหวัดเร่งตรวจสอบข้อมูลการปลูกข้าว ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) เพื่อขอให้ผ่อนปรนเกณฑ์ช่วยเหลือ หากมีมติที่ชัดเจน ธ.ก.ส.ก็มีความพร้อมเบิกจ่ายวงเงินให้ทันที .