ศาลปค.ยกฟ้องคดี"เพรียวพันธ์" ร้อง "มาร์ค-พวก"ตั้งผบ.ตร.ไม่เป็นธรรม
ศาลปกครองกลาง ยกฟ้องคดี "เพรียวพันธ์" ฟ้อง "อภิสิทธิ์-พวก" แต่งตั้ง "วิเชียร" นั่ง ผบ.ตร. โดยมิชอบ ชี้เป็นการใช้ดุลยพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย ตีตกข้ออ้างคัดเลือกเพียงรายชื่อเดียว เหตุฟังไม่ขึ้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศาลปกครองกลางเผยแพร่คำพิพากษาคดีที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้ฟ้อง ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 กรณีการแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรม จาก ก.ต.ช. ที่มีนายอภิสิทธิ์ เป็นประธาน มีมติเมื่อปลายปี 2553 แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ขณะนั้น ให้เป็น ผบ.ตร. โดยมิได้ปฏิบัติตามหลักอาวุโส ทำให้ผู้ฟ้องคดีที่มีอาวุโสสูงสุดได้รับความเสียหาย โดย พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ได้ขอให้ศาลปกครองกลางพิจารณาเพิกถอนมติ ก.ต.ช. ที่แต่งตั้งให้ พล.ต.อ.วิเชียร เป็น ผบ.ตร.
โดยศาลได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยแล้ว คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยรวมสองประเด็น คือ ประเด็นที่หนึ่ง มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ที่เห็นชอบรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอ เพื่อดำเนินการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นมติที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้คัดเลือกรายชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งดำรงตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. เพียงรายชื่อเดียวแล้วเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อดำเนินการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติให้ความเห็นชอบตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอ ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กรณีนี้จึงถือได้ว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการคัดเลือกรายชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร ซึ่งเป็นข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.อ. เพียงรายเดียวเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ อันเป็นการเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองในลำดับแรกของการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นไปโดยชอบตามหลักเกณฑ์แห่งกฎหมาย ซึ่งบัญญัติไว้ตามมาตรา 53 (1) ประกอบมาตรา 44 (1) และมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (1) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 แล้ว
ดังนั้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2553 ให้ความเห็นชอบรายชื่อข้าราชการตำรวจตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอเพื่อดำเนินการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีที่ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร เพียงรายชื่อเดียวเพื่อขอความเห็นชอบต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ไม่ใช่เป็นการคัดเลือกรายชื่อข้าราชการตำรวจเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาดำเนินการคัดเลือกข้าราชการตำรวจเพื่อดำเนินการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. เป็นเพียงการเสนอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อนุมัติแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้ที่ประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้มีดุลยพินิจเลือกบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. นั้น เป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้
ประเด็นที่สอง คำวินิจฉัยร้องทุกข์ของอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้ยกคำร้องทุกข์ และไม่รับเรื่องร้องทุกข์ของผู้ถูกฟ้องคดีแจ้งตามหนังสือที่ 0012.41/1191 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2553 เรื่องแจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ เป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 โดยอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ได้พิจารณาเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 มาตรา 18 (3) มาตรา 51 (1) และมาตร 53 (1) ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามขั้นตอน ระเบียบ กฎหมาย และเป็นไปโดยชอบแล้ว คำร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้ไม่สามารถรับฟังได้ จึงเป็นการพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเช่นกัน
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องทุกข์ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีมติไม่ชอบด้วยกฎหมายและประเพณีปฏิบัติ ขอให้เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มิใช่ผู้บังคับบัญชาของผู้ฟ้องคดี การมีมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 จึงมิใช่เป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ใช้อำนาจปฏิบัติต่อตนโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ปฏิบัติต่อตนให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย หรือเกิดจากการปฏิบัติโดยมิชอบของผู้บังคับบัญชาต่อตนตามมาตรา 106 แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 การที่อนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 มีมติไม่รับเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีกรณีนี้ไว้พิจารณา จึงเป็นการพิจารณาที่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้นคำวินิจฉัยร้องทุกข์ของอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการร้องทุกข์ทำการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้ยกคำร้องทุกข์และไม่รับเรื่องร้องทุกข์ของผู้ฟ้องคดีแจ้งตามหนังสือ 0012.41/1191 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2553 เรื่อง แจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์ จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษายกฟ้อง
อ่านประกอบ : ศาลปค.ปิดห้อง พิจารณาคดี “เพรียวพันธ์” ฟ้อง “อภิสิทธิ์”