ครบเส้นตาย 7 วัน ไล่รื้อ ‘คลองไทรพัฒนา’ สุราษฎร์ฯ กก.สิทธิฯ ยันชาวบ้านไม่ใช่ผู้บุกรุก
1 ต.ค. 57 ครบเส้นตาย 7 วัน ไล่รื้อ ‘ชุมชนคลองไทรพัฒนา’ จ.สุราษฎร์ฯ ชาวบ้านเผยสถานการณ์ปกติ ‘นพ.นิรันดร์’ แนะหน่วยงานรัฐพิสูจน์สิทธิรอบด้านก่อนไล่รื้อ ยันชาวบ้านไม่อยู่ในสถานะบุกรุกป่าตามคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557
จากกรณีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2557 ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมนำร่องออกโฉนดชุมชน ถูกคำสั่งโดยวาจาให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 1 ตุลาคม 2557
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ตัวแทนของชุมชนในนามสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ได้เดินทางไปร้องเรียนต่อนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานี และรัฐบาล เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมในการอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าว พร้อมทั้งเข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายโฉนดชุมชน ซึ่งได้รับปากจะประสานความช่วยเหลือไปยังอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ของพรรคประชาธิปัตย์
ขณะที่ กสม.ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีความเห็นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติหรือชะลอการปฏิบัติการในพื้นที่ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนเอาไว้ก่อน และให้เริ่มต้นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาและตัดสินใจต่อแผนแม่บทฯ และแนวทางปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับแผนแม่บทดังกล่าว (อ่านประกอบ:ข้อเสนอเบื้องต้นของกสม.ต่อคำสั่งคสช.64/66 ผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัย-ทำกินในพื้นที่ป่า)
น.ส.ศศิธร กล่อมจิต ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 11 นาฬิกาว่า ขณะนี้ยังเป็นปกติ ไม่มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาขับไล่หรือติดป้ายประกาศตามที่เคยบอกไว้กับชาวบ้าน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้าน 45 หลังคาเรือน ได้เฝ้าระวังอยู่ในพื้นที่แล้ว เพราะไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหรือไม่
“เมื่อวันที่ 25 และ 29 กันยายน 2557 ได้มีรถยนต์ 2-3 คัน ขับวนเวียนเข้ามาในชุมชน ชาวบ้านจึงหวาดกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นซ้ำเหมือนในอดีต” ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ กล่าว และว่ากสม.ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสุราษฎร์ธานีแล้ว ซึ่งเราจะติดตามความคืบหน้าในครั้งนี้ด้วย
ด้านนายพีระเนตร ชัยสุวรรณ ชาวบ้านชุมชนคลองไทรพัฒนา กล่าวถึงข้อกังวลต่อการใช้คำสั่งที่ 64 และ 66 เกี่ยวกับนโยบายทวงคืนผืนป่าว่า เจ้าหน้าที่รัฐนำไปปฏิบัติไม่สอดคล้องกับนโยบาย เพราะพื้นที่ชุมชนเป็นเขตการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) โดยชาวบ้านได้รับอนุญาตให้ปลูกพืชเกษตรอาหารขึ้น จากเดิมเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ปาล์มน้ำมัน) กว่า 30 ปี ของบริษัท จิวกังจุ้ย พัฒนา จำกัด
ทั้งนี้ ภายหลังมีคำสั่งด้วยวาจาให้ย้ายออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน แม้ขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาไล่รื้อ แต่ชาวบ้านได้เตรียมแผนการรับมือด้วยการให้ทุกคนเก็บของให้เป็นระเบียบเพื่อสะดวกต่อการโยกย้าย เพราะหวั่นว่าจะซ้ำรอยกับการไล่รื้อที่กระบี่ ซึ่งชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เข้าไปเก็บของที่ถูกรถแมคโครทำลายของตนเองเลย อย่างไรก็ตาม เรามิได้หมายความว่าจะยอมออกจากพื้นที่ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบอย่างรอบด้านแล้ว
“ฝากถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. หากมีนโยบายทวงคืนผืนป่าและส.ป.ก. จะนำคนไปไว้ที่ไหน เพราะได้อาศัยอยู่มาก่อนคำสั่งดังกล่าว มีประวัติและสถานะคนไทยเหมือนกัน จึงเสนอให้จัดกระบวนการตรวจสอบเสียก่อน แม้จะเป็นพื้นที่ป่าจริงตามกฎหมาย แต่พื้นที่จริงเสื่อมโทรมแล้ว หรือพื้นที่ ส.ป.ก.ที่เราอยู่ก็ถูกนายทุนครอบครองปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาก่อน จึงวิงวอนให้เกิดการตรวจสอบรอบด้าน” ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ กล่าว
ขณะที่นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนและอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า ระบุว่า กรณีชุมชนคลองไทรพัฒนาเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยเป็นพื้นที่ได้รับการขับเคลื่อนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินมายาวนาน สำหรับการต่อสู้เรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินเขต ส.ป.ก. ภายหลังบริษัทเอกชนหมดสัมปทานการถือครอง
“ชาวบ้านต้องการมีที่ดินทำกิน ซึ่งสอดคล้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ระบุว่า การดำเนินการใด ๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ที่อาศัยในพื้นที่นั้น ๆ” ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ กล่าว และว่าแม้จะมีคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ให้หน่วยงานรัฐขับไล่ผู้บุกรุกออกจากป่า เเต่ชาวบ้านชุมชนคลองไทรฯ มิได้อยู่ในสถานะบุกรุก
กรณีการแก้ไขปัญหานั้น นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า กสม.ได้ตรวจสอบและข้อมูลเป็นที่ยอมรับ ดังเช่นรายงานที่เผยแพร่ออกไปว่าพื้นที่สัมปทานได้หมดอายุ และการประชุมครั้งหลังสุด หลายหน่วยงานมีความเห็นตรงกันให้ ส.ป.ก.ดำเนินการ เพียงแต่คดีฟ้องร้องต่อศาลยังไม่ถึงที่สุด
กสม.จึงเสนออัยการให้หาแนวทางทำให้ ส.ป.ก.เข้าไปดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินได้ หรืออย่างน้อยไม่ควรปล่อยให้บริษัทเอกชนได้เข้าใช้สิทธิในพื้นที่ดังกล่าวอีก นอกจากให้ชาวบ้านเข้าไปทำกิน มิเช่นนั้นปัญหาจะบานปลาย
“ก่อนที่หน่วยงานรัฐจะไล่รื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่ต้องมีการพิสูจน์สิทธิกันก่อน โดยอาศัยทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และประจักษ์พยานวัตถุ-บุคคล และหากรัฐบาลมีนโยบายปฏิรูปที่ดินใหม่ก็จะทำให้เกิดการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ประชาชนได้” ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ ทิ้งท้าย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีรายชื่อผู้ร้องเรียนเกี่ยวข้องกับคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ถึงคณะกรรมการสิทธิฯ ทั้งสิ้น 18 กรณี ได้แก่ 1.อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ทับที่ดินทำกินของประชาชน ต.ลานข่อย อ.ป่าพะยอม จ.พัทลุง 2.ชุมชนบ้านเก้าบาตร ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 3.อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ต.ควนปริง อ.เมือง จ.ตรัง 4.หมู่ 2 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร
5.อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ต.เนินเพิ่ม อ.นครไทย และต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.พิษณุโลก 6.บ้านน้ำพี ต.ทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน 7.ชุมชนทุ่งซำเสี้ยว ต.บ้านหัน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ 8.ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง 9.สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ 10.บ้านหน้าควน บ้านเขาพลู และบ้านป่าแก่ ต.บางสัก อ.กันตัง จ.ตรัง
11.อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง และโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ จ.ปงเตา จ.บ้านอ้อน จ.บ้านร้อง ต.นาแก อ.งาว จ.ลำปาง 12.บ้านทุ่งป่าคา หมู่ 8 ต.แม่ลาหลวง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน 13.บ้านห้วยมะแกง ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 14.บ้านดงเย็นพัฒนา ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ 15.บ้านโนนเจริญ ต.กกปลาซิว อ.ภูพาน จ.สกลนคร 16.บ้านดานเม็ก ต.สำราญ อ.สามชัย จ.กาฬสินธ์ 17.ต.ท่ามะไฟหวาน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ 18.ต.อุ้มเหม้า อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เขตป่าสงวนแห่งชาติดงหมู .