นักวิชาการ จุฬาฯ ชี้ธุรกิจแร่ใยหินใกล้ดับ เตือนไทยอย่าไร้เดียงสานำเข้า
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเผยไทยใช้ใยหินมากสุดเป็นอันดับ 9 ของโลก ชี้ตลาดใยหินใกล้วาย ผู้ส่งออกรายใหญ่เร่งผลิตขายกลุ่มประเทศไร้เดียงสา หวั่นหากไม่เลิกนำเข้าพิษไครโซไทล์อาจก่อมะเร็งให้คนไทยไปอีกนาน
รศ.ภก.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยข้อมูลการส่งออกและการผลิตใยหิน ปี 2012-2013 โดยชี้ว่า ตลาดใยหินโลกมีแนวโน้มหดตัวและผู้ผลิตยังคงปริมาณการผลิตและเร่งขายประเทศต่างๆที่ยังไม่ยกเลิกการใช้ ซึ่งในอาเซียนมีประเทศอินโดนีเซีย ไทย และ เวียดนาม ติดอันดับหนึ่งในสิบของโลกที่มีการใช้ใยหินมาก หากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ห้ามนำเข้า ประเทศไทยจะเป็นแหล่งสะสมใยหินไครโซไทล์ก่อมะเร็งให้คนไทยต่อเนื่องไปอีกยาวนาน
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์ธุรกิจใยหินโลกตกต่ำลง โดยการส่งออกของบรรดาผู้ผลิตใยหินไครโซไทล์ลดลง 27 % จากที่เคยส่งออก 1,327,592 ตัน ในปี 2012 มาเป็น 974,871 เมตริกตัน ในปี 2013
อย่างไรก็ตามข้อมูลจากการสำรวจของยูเอสจีโอโลจีระบุว่าผู้ผลิตยังผลิตใยหินถึงปีละ 2 ล้านตัน โดยเพิ่ม2.4% จาก. 1,987,800 ตันในปี 2012 เป็น 2,034,700 ตันในปี 2013
"ประเทศรัสเซียกำลังตกอยู่ในภาวะกดดันจากการที่ขายใยหินไครโซไทล์ไม่ได้ โดยมีปริมาณการบริโภคใยหินในประเทศเพิ่มถึง3เท่า ทั้งนี้ประเทศยูเครนพักการนำ้เข้าใยหินจากรัสเซียไปอีก5ปี รัสเซียเป็นประเทศที่ส่งออกใยหินมากที่สุดเกือบ 80% ของที่ส่งออกทั้งหมดในโลก ตามด้วย บราซิล คาคัสสถาน และ ประเทศจีน"
ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ กล่าวอีกว่า ประเทศจีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล อินโดนีเซีย ใช้ใยหินรวมกัน 79% ของปริมาณทั้งโลก หรือ ประมาณ 1,486,207 ตัน ในบรรดา5ประเทศดังกล่าว อินเดียมีการใช้ใยหินลดลงชัดเจน ส่วนไทยและเวียดนามติดหนึ่งใน10ของประเทศที่มีการใช้ใยหินมาก โดย ไทยอยู่ในลำดับที่9 และ เวียดนามอยู่ในลำดับที่8 เวียดนามใช้ใยหินลดลง 27% จาก 78,909. ตันในปี 2012 เป็น 57,123 ตัน ขณะที่ ไทยใช้ลดลงเพียง8% จาก 58,008 ตันในปี 2012 มาเป็น 53,123 ตันในปี 2013
รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าวถึงประเทศผู้ส่งออกใยหินรายใหญ่ทั้งรัสเซีย คาคัสสถาน และ บราซิล ด้วยว่าประเทศเหล่านี้จะผลักดันให้ประเทศที่มีการใช้ใยหินมาก ในอาเซียน เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และ ไทย ให้คงมีการใช้ใยหินต่อไป โดยการให้ทุนนักวิทยาศาสตร์ศึกษาวิจัย การล๊อบบี้นักการเมือง การกดดันองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ และ องค์การอนามัยโลก ไม่ให้แสดงบทบาทในการยืนยันอันตรายของใยหินไครโซไทล์ และ เร่งรัดมาตรการเลิกการใช้ใยหินทั่วโลก
"อาจกล่าวได้ว่าอรุณรุ่งของธุรกิจใยหินใกล้สิ้นสุดลง โดยผู้ผลิตและส่งออกมุ่งกระจายใยหินลงในประเทศในเอเซีย ที่ยังตอบสนองต่อการบริโภคใยหิน เช่น อินโดเนเซีย เวียดนาม และ ไทย การปิดฉากลงของตลาดใยหินจะเร็วหรือช้าขึ้นกับปัญญาและความเดียงสาของประเทศนั้นๆ หากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ห้ามนำเข้า ประเทศไทยจะเป็นแหล่งสะสมใยหินไครโซไทล์ก่อมะเร็งให้คนไทยต่อเนื่องไปอีกยาวนานจึงขอเรียกร้องให้แสดงบทบาทยกเลิกใยหินเพื่อปกป้องสุขภาพประชาชน"
ขอบคุณภาพจากสุชนเวิร์ดเพรสคอลัมภ์