กรรมกรขู่ รบ.ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บ.ทั่วประเทศใน 6 ด. เคลื่อนไหวแน่
ผู้นำกรรมกรย้ำไม่เอา “รายได้ขั้นต่ำ” ต้องการ “ค่าแรงขั้นต่ำ” ชี้โหวตชนะในไตรภาคีถ้าภาครัฐจริงใจ รมว.แรงงาน แจงใช้คำว่ารายได้เพื่อครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม เตรียมของบ 3 พันล้านพัฒนาทักษะฝีมือรองรับนโยบายรายได้วันละ 300
วันที่ 26 ส.ค.54 นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานยืนยันว่ารัฐบาลจะต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศตามที่ได้ประกาศไว้ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยให้เวลาดำเนินการ 6 เดือน มิเช่นนั้นจะเคลื่อนไหวกดดัน เพราะทำผิดสัญญาที่ให้ไว้
ทั้งนี้หากจะเปลี่ยนไปใช้คำว่า “รายได้ขั้นต่ำ 300 บาท” โดยรวมเอาค่าโอทีสวัสดิการอื่นๆ เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร ค่าที่พักเข้าไปด้วยนั้นถือว่าบิดพริ้ว เพราะปัจจุบันถ้ารวมโอทีด้วยแรงงานก็มีรายได้เกิน 300 บาทต่อวันอยู่แล้ว ขณะที่ความเป็นจริงควรได้รับค่าแรงมากกว่าวันละ 400 บาท
นายชาลี ยังกล่าวว่า แรงงานทั้งหมดในประเทศไทยขณะนี้มีเพียงร้อยละ 30 ที่ได้รับค่าจ้างเกินวันละ 300 บาท ส่วนที่เหลือยังมีรายได้ต่ำกว่าความเป็นจริง และถึงแม้ผู้ประกอบการไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ แต่ในคณะกรรมการไตรภาคี ภาครัฐและฝ่ายลูกจ้างมีความเห็นทิศทางเดียวกัน ย่อมจะถือว่าเป็นความเห็นชอบของคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งยังมั่นใจว่ารัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้
ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้บิดเบือนเรื่องนโยบายแรงงาน ส่วนสาเหตุที่เปลี่ยนจากคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายได้ เนื่องจากอยากให้คำว่าผู้ใช้แรงงานครอบคลุมไปถึงผู้รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานภาคการเกษตร เพื่อให้มีรายได้ต่อวันไม่น้อยกว่า 300 บาท โดยไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลา(โอที) ทั้งนี้ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว แต่ไม่อยากตีกรอบว่าจะสามารถปรับให้เป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศได้เมื่อใด โดยการปรับค่าจ้างหรือรายได้นั้นจะต้องพอใจกันทุกฝ่ายทั้งนายจ้างและลูกจ้าง และไม่อยากให้ผู้นำแรงงานออกมากดดัน
นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า ในปี 2555 จะเห็นความชัดเจนของรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท โดยอาจมีการนำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อม และนำอัตราที่เพิ่มขึ้นไปบวกเพิ่มให้กับจังหวัดอื่นๆก่อน เพื่อปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นก่อนดำเนินการให้มีอัตรา 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ
รมว.รง. ยังกล่าวว่าขณะนี้ได้เตรียมมาตรการรองรับ โดยมุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น ให้นายจ้างรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะปรับเพิ่มรายได้ให้เป็นวันละ 300 บาท โดยจะเสนอของบประมาณรัฐบาล 3,000 ล้านบาทปรับปรุงศูนย์และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ รวมทั้งหลักสูตรการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานในพื้นที่นั้นๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังมอบให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจสถานประกอบการขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)ว่ามีจำนวนเท่าใด เพื่อเตรียมมาตรการรองรับ เช่น มาตรการทางภาษี .