เรื่องชวนหัวในยุคนายพลเยอะ ภารกิจแยะ!
เมื่อวันจันทร์ที่ 8 ก.ย.มีประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ประเด็นที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก คือ จำนวนนายพลตามบัญชีที่มีมากถึง 1,092 คน
อาจารย์วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต ที่ศึกษาวิจัยด้านความมั่นคงทางทหาร บอกว่า เป็นตัวเลขการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพ เพราะเมื่อปีที่แล้ว (2556) บัญชีรายชื่อโยกย้ายวาระประจำปียังอยู่ที่ 861 อัตราเท่านั้น
ที่สำคัญจำนวน 1,092 อัตรา ยังไม่ใช่นายพลเท่าที่มีทั้งหมดในกองทัพ หรือกระทรวงกลาโหม เพราะยังมีคนที่ไม่ได้ขยับไปไหน คือ อยู่กับที่ จึงไม่ถูกบรรจุชื่ออยู่ในบัญชีนี้อีกจำนวนหนึ่ง
ไล่ค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพื่อตรวจดูจำนวนนายพลในกองทัพของบ้านอื่นเมืองอื่นเขา...ที่กล่าวกันว่าบ้านเรานายพลเยอะที่สุดในโลกนั้น เห็นจะจริง!
พุงโต-ขาลีบ
อาจารย์วันวิชิต บอกต่อว่า ปัญหานายพลล้นกองทัพ เกิดจากการประเมินสถานการณ์ที่ผิดพลาดในอดีตว่า การสู้รบด้วยกองกำลังขนาดใหญ่จะยังมีอยู่ต่อไป ทำให้มีการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนเตรียมทหาร และโรงเรียนนายร้อยของกองทัพต่างๆ ในสมัยเมื่อราวๆ 30 ปีก่อนเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เรียกว่ารุ่นหนึ่งๆ มากกว่า 300 คน!
ต่อมาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ ประกอบกับภัยคุกคามช่วงหลังยุคสงครามเย็นเปลี่ยนรูปแบบไป จึงมีการปรับนโยบายใหม่ ลดการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อย เหลือเพียงปีละ 100-150 คนเท่านั้น
แต่พวกที่รับมาแล้ว เป็นนายทหารเติบโตมาตามลำดับแล้วจะทำอย่างไรได้ ก็ต้องเปิดอัตราให้คนเหล่านั้นเลื่อนไหล ขยับขยายกันไปตามลำดับ
อาทิ เพิ่มอัตรารองเสนาธิการทหารบก จาก 3 อัตราเป็น 5 อัตรา เมื่อกองทัพบกขยายก่อน กองทัพอื่นก็ขยับตาม มีการยุบตำแหน่งผู้ช่วยเสธ. เพื่อปรับให้เจ้ากรมบางกรมเป็นอัตราพลโท เช่น เจ้ากรมข่าว เจ้ากรมยุทธการ ซึ่งเมื่อเจ้ากรมเป็นพลโทแล้ว ตำแหน่งรองๆ ลงไปก็จะขยับขึ้นมา จากเดิมเคยเป็นพันเอกพิเศษ ก็เป็นพลตรี ด้วยเหตุนี้ทำให้นายพลมีเยอะขึ้น
กลายเป็นกองทัพที่โดนแซวว่า "พุงโต ขาลีบ"
อย่างไรก็ตาม อาจารย์วันวิชิต ปลอบว่าเมื่อผ่านยุคนี้ไป ทุกอย่างก็จะเริ่มเข้ารูปเข้ารอยและดีขึ้นไปเอง โดยเฉพาะการจัดสายงานให้มีเส้นทางการเจริญเติบโตของตัวเอง ซึ่งสุดท้ายจะลดแนวคิด "บูรพาพยัคฆ์-วงศ์เทวัญ" ลงได้
แต่นั่นยังเป็นอนาคตอีกไกล ไม่ใช่เร็วๆนี้!
"ผู้ทรงฯ-ผู้ชำนาญฯ"อื้อ
เมื่อพิจารณารายละเอียดของบัญชีรายชื่อ 1,092 อัตรา พบว่าเป็น "นายพลใหม่" คือขยับจากอัตราพันเอก นาวาเอก และนาวาอากาศเอก ขึ้นเป็นพลตรี พลเรือตรี และพลอากาศตรี ถึง 460 คน หรือคิดเป็น 42%
ขณะที่ตำแหน่งของบรรดานายพลทั้งหลาย มีตำแหน่งที่ไม่ระบุชัดว่ามีภารกิจหน้าที่อะไร เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ กับผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ ถึง 507 คน คิดเป็น 46% ของรายชื่อทั้งหมดในบัญชี และยังมีตำแหน่งผู้ชำนาญการอีก 26 คน หรือราว 2% ไม่นับที่ปรึกษา ซึ่งมี 26 คนเท่ากัน
กล่าวสำหรับผู้ทรงคุณวุฒินั้น มีทั้ง "ผู้ทรงคุณวุฒิ" ธรรมดา กับ "ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ" ซึ่งประชาชนคนนอกกองทัพอย่างเราๆ ก็ไม่รู้ว่าต่างกันตรงไหน แต่เรื่องจำนวนสิน่าสนใจ โดยตำแหน่งผู้คุณวุฒิพิเศษ มีจำนวน 229 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ (เฉยๆ) มีจำนวน 278 คน รวมเป็น 507 คน หรือ 46% ของบัญชีรายชื่อ
ไล่ดูข้อมูลของแต่ละเหล่าทัพ พบว่า กองทัพบก เป็นหน่วยงานที่มีนายพลในตำแหน่ง "ผู้ทรงคุณวุฒิ" มากที่สุด กล่าวคือ มีจำนวนทั้งสิ้น 138 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ 74 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ (ธรรมดา) จำนวน 64 คน
ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษาที่มี 26 คนเท่ากับผู้ชำนาญการ ก็พบว่ามีทั้ง "ที่ปรึกษา" ธรรมดา และ "ที่ปรึกษาพิเศษ"
นายทหาร (ชั้นนายพล) ของกองทัพ อธิบายให้ฟังว่า สาเหตุที่ต้องมีตำแหน่งประเภท "ผู้ทรงฯ" และ "ผู้ชำนาญฯ" (เขาเรียกย่อๆ กันแบบนี้) เป็นเพราะอัตราที่เป็นตำแหน่งหลักในแต่ละภารกิจไม่เพียงพอ จึงต้องใช้ตำแหน่งเหล่านี้เสริมเข้าไป เช่น สำนักงานผู้บังคับบัญชาระดับสูง มีอัตรานายทหารประจำผู้บังคับบัญชาได้เพียง 3 อัตรา คือ ฝ่ายเสธ. กับผู้ช่วยเสธ. ซึ่งไม่เพียงพอ และเปิดอัตราเพิ่มไม่ได้ จึงใช้ตำแหน่งผู้ทรงฯ และผู้ชำนาญฯ เข้าไปทำงาน
ฉะนั้นตำแหน่งเหล่านี้ส่วนใหญ่มีงาน มีภารกิจเฉพาะที่ได้รับมอบหมายทั้งสิ้น มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ไม่มีงาน (ไม่มีกระทั่งโต๊ะทำงาน) ซึ่งโดยมากเป็นพวกรอเกษียณ หรือดันให้ติดนายพลก่อนเกษียณ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล หรือตอบแทนที่ได้ทำงานให้กองทัพมาหลายสิบปี...
ที่ยกมานี้เป็นคำอธิบายจาก "คนใน" ส่วนจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องไปเสาะแสวงหาข้อมูลกันเอาเอง (เพราะยุคนี้เขาห้ามวิจารณ์)
"บิ๊กโด่ง"ควบ4
แต่ที่เห็นกันชัดๆ ว่าจริงแท้แน่นอนก็คือ นายพลระดับหัวของกองทัพล้วนมีภารกิจมาก อย่างเช่น พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร (ตท.14) หรือ "บิ๊กโด่ง" ว่าที่ ผบ.ทบ. ปัจจุบันยังเป็นรองผบ.ทบ. และก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งเลขาธิการ คสช.ด้วย (ตามโครงสร้างใหม่ก็ยังเป็นอยู่)
นอกจากนั้นท่านยังเป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ คปต.อีกต่างหาก
มีคนขี้สงสัยเขาฝากถามมาว่า ในปีหน้าช่วงปรับย้ายนายทหาร ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 กำหนดให้มีบอร์ดปรับย้ายนายทหารชั้นนายพล หรือที่เรียกกันว่า "7 อรหันต์" ประกอบด้วย ผบ.ทหารสูงสุด 1 คน ผบ.เหล่าทัพ 3 คน ปลัดกระทรวงกลาโหม 1 คน และรัฐมนตรีกลาโหมอีก 2 คน (ว่าการ และช่วยว่าการ) นั้น เวลาประชุมท่านอุดมเดชจะโหวตในฐานะอะไร ผบ.ทบ.หรือรัฐมนตรีช่วยกลาโหม
หรือท่านโหวตได้ 2 ครั้ง?
ใครคุม คปต.?
ส่วนตำแหน่งประธาน คปต.ก็น่าจะมีปัญหา เพราะในคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 96/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้กำหนดให้ "รองผบ.ทบ." เป็นประธาน คปต.โดยตำแหน่ง ซึ่งเดิมผู้ออกคำสั่งอาจต้องการมอบหมายให้ พล.อ.อุดมเดช เป็นประธาน คปต. ทว่านับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.นี้ พล.อ.อุดมเดช จะขยับเป็น ผบ.ทบ.แล้ว ฉะนั้นหากไม่มีการแก้ไขคำสั่ง พล.อ.อุดมเดช ย่อมมิอาจดำรงตำแหน่งประธาน คปต.ต่อไปได้
ขณะที่รอง ผบ.ทบ.คนใหม่ คือ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ (ตท.12) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งบทบาทค่อนข้างห่างไกลกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้เสียเหลือเกิน
ลูกหม้อทัพ3 ขึ้นแม่ทัพ4
พูดถึงปัญหาภาคใต้ เคยแปลกใจไหมว่าเหตุใดแม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่ จึงกลายเป็น พล.ต.ปราการ ชลยุทธ (ตท.15) ไปได้ ทั้งๆ ที่ พล.ต.ปราการ เติบโตมาจากกองทัพภาคที่ 3 เชี่ยวชาญงานชนกลุ่มน้อยและงานชายแดน (ไทย-เมียนมาร์) แต่กลับถูกโยกรองแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว (56) และขึ้นเป็นแม่ทัพในปีนี้
เรื่องของเรื่องมันเริ่มมาตั้งแต่ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ (ตท.14) ที่ต้องย้ายจากแม่ทัพน้อยที่ 3 เปิดทางให้ พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) เป็นแม่ทัพน้อยแทน ต่อมาเมื่อ พล.ท.ปรีชา จะขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ก็ต้องโยก พล.ต.ปราการ ซึ่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 3 อยู่ ลงไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 4 ทำให้ พล.ท.ปรีชา เป็นแม่ทัพตั้งแต่ ก.ย.56 และวันที่ 1 ต.ค.57 จะขยับเข้าไลน์ "5 เสือ ทบ." ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ทบ. จ่อผงาดขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ในปีหน้า
"วลิต"ครึ่งปี-"กิตติ"เดินอ้อม
เรื่องราวคล้ายๆ กันนี้ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ยังไม่จบแค่นั้น แต่ยังมีกรณีของ พล.ท.วลิต โรจนภักดี (ตท.15) แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน ที่กำลังจะขยับไปเป็นรองเสนาธิการทหาร ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ด้วย
พล.ท.วลิต เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 เพียง 6 เดือน โดยรับตำแหน่งเมื่อ 1 เม.ย.57 ต่อจาก พล.ท.สกล ชื่นตระกูล (ตท.13) ซึ่งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 มา 1 ปี
การปรับย้ายวาระประจำปี 56 (ปีที่แล้ว) พล.ต.กิตติ อินทสร (ตท.14) รองแม่ทัพภาค 4 อาวุโสอันดับ 1 จ่อขึ้นแม่ทัพอยู่ ทว่าจู่ๆ เขาก็ถูกย้ายไปครองยศ "พลโท" ในตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว คล้ายจะเปิดทางให้ พล.ท.วลิต มานั่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ในการปรับย้ายวาระกลางปี คือ เม.ย.57 เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ มีสัญญาใจกับ พล.ท.วลิต ว่าให้ดำรงตำแหน่งแม่ทัพ หลังจากต้องยอมเสียสละเปิดทางให้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา (ตท.15) และ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) เป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คนละปี
ขณะที่ พล.ท.วลิต มีแรงต้านจากคนเสื้อแดงในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทยเรืองอำนาจ จากกรณีนำกำลังทหารเข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เม.ย.53 ทั้งๆ ที่ พล.ท.วลิต ถูกระเบิดจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
พล.ท.วลิต มาดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นเวลา 6 เดือน ก็ลุกจากไป เพื่อให้ พล.ต.ปราการ ขยับขึ้นเป็นแม่ทัพในยศ "พลโท"
เป็น พล.ต.ปราการ ที่ถูกโยกลงใต้เพื่อเปิดทางให้น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นแม่ทัพ ก่อนกระเด้งสปริงบอร์ดสู่ 5 เสือ ทบ.อัตรา "พลเอก"
ส่วน พล.ท.กิตติ อินทสร ซึ่งไปเดินอ้อมกรุงเทพฯมา 1 ปี กลับมาเป็นแม่ทัพน้อยที่ 4 ตามโครงสร้างใหม่ "กองทัพน้อยที่ 4" ที่เพิ่งอนุมัติจัดตั้ง และจะเริ่มงานในวันที่ 1 ต.ค.นี้
นี่คือเรื่องชวน(ปวด)หัวของพี่ๆ ทหารในยุค "นายพลเยอะ ภารกิจแยะ!"
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (จากซ้าย) พล.ท.กิตติ. พล.ท.วลิต, พล.อ.อุดมเดช