นักเศรษฐศาสตร์ มธ. หนุนจัดเก็บภาษีที่ดิน-ยกเลิกอุดหนุนก๊าซหุงต้ม-เอ็นจีวี
นักเศรษฐศาสตร์ มธ. แนะนโยบายเศรษฐกิจที่รัฐควรทำเร่งด่วน คือ จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ขึ้น VAT ส่วนภาษีมรดก ย้ำชัด ไม่ใช่มาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำ
29 กันยายน 2557 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดแถลงข่าวโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย (TEF) ครั้งที่ 1 เรื่อง “นโยบายเศรษฐกิจไทยภายใต้รัฐบาลใหม่:อะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ” ณ ห้อง101 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ศ.ดร. สกนธ์ วรัญญูวัฒนาคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือการเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ควรคำนึงความสามารถในการจ่ายภาษีของประชาชนควบคู่กันไปด้วย และเห็นด้วยที่จะนำภาษีมรดกมาใช้ แต่นั่นอาจไม่ใช่มาตรการภาษีเร่งด่วนที่จะต้องเร่งทำในขณะนี้
"ในระยะสั้นเห็นว่าเรื่องการผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องทำ เนื่องจากภาษีที่ดินเป็นเครื่องมือที่จะช่วยในการจัดทรัพยากรที่ดินให้มีประสิทธิภาพ อีกทั้งรัฐบาลควรพิจารณาการนำกฎหมายมาตรการด้านการคลังสิ่งแวดล้อมมาใช้เพื่อกำกับธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดปัญหามลพิษต่อสังคม"
ด้านศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ในด้านพลังงานเห็นว่า รัฐบาลควรยกเลิกการอุดหนุนก๊าซหุงต้มและเอ็นจีวี และปรับภาษีของราคาน้ำมันดีเซลให้สูงขึ้นเพื่อให้น้ำมันดีเซลและเบนซินมีราคาใกล้เคียงกัน เพราะที่ผ่านมาเราอุดหนุนดีเซลเมื่อดีเซลถูกทำให้คนหันไปใช้เพิ่มขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ทำได้เลย คือ รัฐต้องปรับภาษีของราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งเร่งเปิดประมูลการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบที่ 21 เจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชาในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมบริเวณพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย
นอกจากนี้การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และศักยภาพของวัตถุดิบในประเทศโดยมีเป้าหมายให้กิจการพลังงานหมุนเวียนสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่มีการอุดหนุนในที่สุด
ขณะที่ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวถึง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมาประสบความสำเร็จตามสมควร แต่หลังจากมีการรัฐประหารก็ทำให้เกิดมายาคติต่อการกระจายอำนาจของไทยโดยมีการเหมารวมว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ดี หรือมีการบอกว่า ท้องถิ่นถูกครอบงำโดยเจ้าพ่อมีการซื้อเสียง ซึ่งไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่รัฐบาลควรทำคืออย่าชะลอการกระจายอำนาจ ลดระดับการกระจายอำนาจ อีกทั้งไม่ควรแช่แข็งการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น
"สิ่งที่ควรทำคือการเพิ่มกลไกการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน จัดสรรงบแบบใหม่โดยใช้ความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่เป็นตัวตั้ง"
ส่วนรศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำด้านเกษตร คือ อย่าโฆษณาโครงการเกินจริง อย่าติดกับดักนโยบายแทรกแซงราคาผลผลิต เพราะยากที่จะจัดการราคา ยากที่จะควบคุมปริมาณการผลิต และควบคุมราคาตลาดโลกได้
"รัฐบาลไม่ควรมุ่งส่งเสริมการขยายการผลิตโดยไร้ขอบเขต เพราะเมื่อผลิตมากราคาผลผลิตจะตกต่ำ เช่น ยางพารา แต่รัฐบาลต้องมีแผนพัฒนาการเกษตรทั้งระบบ หลีกเลี่ยงนโยบายที่กระทบฐานการผลิตของเกษตรกร ทั้งนี้ยังเห็นว่า ในการจัดระบบโซนนิ่งจะไม่ได้ผล ถ้าในพื้นที่โซนนิ่งไม่ได้คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งระบบโดยเฉพาะในเรื่องข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ