เปิดหนังสือร้องเรียน 9 ฉบับ ความพยายามของพ่อเหยื่อสะพาน 200 ปี ถล่ม!
เปิดหนังสือร้องเรียน 9 หน่วยงานรัฐ ความพยายามของบิดาเหยื่อสะพานถล่ม วอน “ประยุทธ์” ,รมว.มหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, เลขา ป.ป.ท., ดีเอสไอ เร่งติดตาม เอาผิด ลงโทษทางวินัยขรก.ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และใช้สิทธิ์ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ขอผลสอบข้อเท็จจริงกรณีสะพานถล่มกับสำนักงานโยธาธิการฯ , ศูนย์ดำรงธรรม, นายอำเภอ-นายกเทศมนตรี
จากกรณี นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของเด็กหญิงวัย 10 ขวบ ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า สะพาน 200 ปี ของเทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา ถล่ม เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 เข้าร้องเรียนต่อสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ให้ช่วยติดตามความคืบหน้าในเรื่องนี้
เพราะภายหลังจากที่ตำรวจออกหมายจับวิศวกร เจ้าหน้าที่ข้าราชการ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สะพานถล่มแล้วหลายราย แต่อัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ยังไม่ส่งฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดี อีกทั้งผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจหน้าที่ก็ไม่มีคำสั่งลงโทษทางวินัยกับข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือควรต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สะพานถล่ม
( อ่านประกอบ : เหยื่อสะพาน 200 ปี ถล่ม ร้อง “อิศรา” ผู้มีส่วนรับผิดชอบ ยังลอยนวล )
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่าก่อนหน้าที่นายอนุนาท เสือสมิง จะตัดสินใจเข้าร้องเรียนต่อสำนักข่าวอิศรา นายอนุนาท ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนและทวงถามความคืบหน้าในการติดตามคดี เอาผิดลงโทษทางวินัย กับข้าราชการที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน ประกอบด้วย การยื่นหนังสือร้องเรียนต่อพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช., รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย,กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ,นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ คณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) , อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI
รวมทั้งใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ของทางราชการ พ.ศ. 2540 ขอทราบผลการสอบข้อเท็จจริงในกรณีสะพานถล่ม สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , หัวหน้าหน่วยราชการ ศูนย์ดำรงธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายกเทศมนตรี ต.ท่าหลวง หนังสือร้องเรียนและทวงถามแต่ละฉบับ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.หนังสือร้องเรียน กองบัญชาการตำรวจภูร ภาค 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2557
เรื่อง ขอให้เร่งรัดดำเนินการจับกุมเจ้าหน้าที่อดีตหัวหน้ากลุ่มงานวิชาการโยธาธิการ วิศวกรชำนาญการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ผู้ตรวจสอบและออกแบบสะพานดังกล่าว หนังสือดังกล่าว มีตราประทับ ตำรวจภูธรภาค 1 เลขรับที่ 1732 วันที่ 26 มิถุนายน 2557
2. หนังสือร้องเรียน หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ) ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557
เรื่อง ขอให้ลงโทษเอาผิดทางวินัย ทางอาญา ต่อตำแหน่งหน้าที่กับข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ทุกระดับชั้นพนักงานเทศบาล พนักงานท้องถิ่น ทุกภาคส่วนทั้งกระทรวง ทบวง กรม ทุกองค์กร ทุกองค์การ ทุกสำนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากมีการปกปิด บิดเบือนประเด็นข้อเท็จจริง มีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิด โดยผลสอบสวนออกมาไม่มีความโปร่งใส ไม่ยึดหลักนิติธรรม จริยธรรม คุณธรรม จรรยาบรรณ ตามหลักธรรมาภิบาล ตามคำสั่ง คสช.ที่ 69/2557 วันที่ 18 มิถุนายน 2557 เรื่อง มาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ยื่นที่ ศูนย์บริการประชาชน เลขรับที่ 384/ 4 ก.ค. 2557
3. หนังสือร้องเรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ( ในยุค คสช.) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2557
เรื่อง ขอให้มีคำสั่งลงโทษโดยพลันและโดยรีบด่วน ความผิดทางวินัย ทางอาญา ต่อตำแหน่งหน้าที่กับข้าราชการการเมือง ข้าราชการทุกระดับชั้น พนักงานเทศบาล พนักงานท้องถิ่น ทุกภาคส่วน ทั้ง กระทรวง ทบวง กรม ทุกองค์กร ทุกองค์การ ทุกสำนักงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เนื่องจากมีการปกปิด บิดเบือนประเด็นข้อเท็จจริง มีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดโดยผลสอบสวนออกมาไม่มีความโปร่งใส ไม่ยึดหลักนิติธรรม จริยธรรม คุณธรรม จรรยาบรรณ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีงาม โดยไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบวินัยที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เกี่ยวกับเหตุการณ์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ของเทศบาลตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พังถล่มเสียหายลงมา ทำให้บุตรสาวเสียชีวิต รวมมีผู้เสียชีวิตจำนวน 4 ราย และผู้บาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2556 ซึ่งสะพานดังกล่าวเป็นระบบสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานโดยใช้เงินภาษีของประชาชนชาวไทยแบบสูญเปล่าโดยไม่มีผู้รับผิดชอบ
ตามที่เคยร้องเรียนถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น คือ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ตามหนังสือเลขรับที่ 7880 ลงวันที่ 13 กันยายน 2556 ขอได้โปรดมีคำสั่งให้ถอดถอน นายเชษฐา ปทุมรังสี ตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา และกับพวก พ้นจากตำแหน่งเสีย ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และแก้ไขเพิ่มเติมถึงฉบับที่ 13 พ.ศ. 2552 มาตรา 48 ( 6 ) และมาตรา 73 เนื่องจาก ไม่ออกคำสั่งทางปกครอง “ให้ปิดสะพานสมโภชน์ กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี” แต่อย่างใด
ทั้งที่ก่อนวันเกิดเหตุ ชาวบ้านได้แจ้งเตือนกับนายกเทศมนตรีแล้วว่า สะพานเอียงชำรุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนังสือร้องเรียนดังกล่าว ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย มีคำสั่งลงโทษโดยพลัน กรณีความผิดทางวินัย ทางอาญา ต่อตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ กับผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดและพวก รวมทั้งสิ้น 13 ราย เนื่องจากเวลาผ่านมา 1 ปีกว่า แต่ยังไม่มีบุคคลใดที่ได้รับโทษ
เอกสารดังกล่าว มีตราประทับ กก.สป. ( สร.มท.) เลขรับที่ 210 วันที่ 31 ก.ค. 2557
4.ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ( ป.ป.ท.) ลงวันที่ 5 กันยายน 2557
ประเด็นสำคัญของหนังสือร้องเรียน ระบุถึงกรณีสะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ที่ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา พังทลายเสียหายโดยสิ้นเชิง มีต้นเหตุเนื่องจากบุคคลที่เป็นข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ กลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐ และบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการตรวจรับงาน การเบิก-จ่าย เงินค่าจ้าง กลุ่มเจ้าหน้าที่ออกแบบงานและควบคุมงานก่อสร้าง อีกทั้งวัสดุที่นำมาใช้งานก่อสร้างไม่ได้ตามมาตรฐาน มอก. หรือไม่ตรงตามแบบก่อสร้าง โดยไม่ยึดหลักวิชาชีพ วิศวกรรมควบคุมและมีการปกปิด บิดเบือนข้อเท็จจริง มีการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดอย่างชัดเจน น่าละอาย โดยผลสอบสวนที่ออกมา ไม่มีความโปร่งใส ไม่ยึดหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ ตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีงาม โดยไม่เคารพ ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย ระเบียบวินัยที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ตามคำสั่ง คสช. ที่ 69 / 2557 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2557 เรื่องมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ
5. ในวันที่ 5 กันยายน เช่นเดียวกัน นายอนุนาท ได้ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ในประเด็นที่คล้ายกันกับที่ยื่นต่อ เลขา ป.ป.ท.
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 19 กันยายน 2557 นายอนุนาท เสือสมิง ได้ยื่นหนังสืออีก 4 ฉบับ ต่อ 4 หน่วยงาน ในการขอใช้สิทธิ์ตามพระราชบัญญัติข้อมุลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 ต่อสำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา , หัวหน้าหน่วยราชการ ศูนย์ดำรงธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา, นายอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และนายกเทศมนตรี ต.ท่าหลวง
โดยมีสาระสำคัญในประเด็นคล้ายกัน ดังใจความตอนหนึ่งระบุว่า “ด้วยข้าพเจ้า นายอนุนาท เสือสมิง เป็นบิดาของ ด.ญ.พิริยาภรณ์ เสือสมิง บุตรสาวอายุ 10 ปี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สะพานสมโภชน์ 200 ปี ขอใช้สิทธิ์โดยชอบธรรม โดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นผู้เสียหายที่ๆได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าว ขอทราบผลการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ และการลงโทษทางวินัย โปรดดำเนินการตามที่ร้องขอ ภายใน 15 วัน และขอคัดถ่ายเอกสารของทางราชการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ชุด ตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ของทางราชการ พ.ศ. 2540”
หนังสือทั้ง 4 ฉบับ ระบุตอนท้ายตรงกันว่า เรื่องนี้ล่าช้ามากเกินสมควรแก่เวลาแล้ว ผลสอบสวนดำเนินการน่าจะเรียบร้อยแล้ว เพื่อความโปร่งใส ชัดเจน ตามหลักคุณธรรม นิติธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณ และตามหลักธรรมาภิบาลที่ดีงาม เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนชาวไทย ขอได้โปรดดำเนินการตามที่ร้องขอภายใน 15 วัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในระยะเวลานับตั้งแต่ เดือนมิถุนายน-กันยายน 2557 นายอนุนาท เสือสมิง ยื่นหนังสือร้องเรียน และติดตามทวงถามความคืบหน้าในการเอาผิด ลงโทษทางวินัยและอาญาต่อเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สะพาน 200 ปีถล่ม รวมทั้งสิ้น 9 ฉบับ
แต่ดูเหมือนว่าความพยายาม ของ "พ่อ" ที่กำลังติดตาม "ทวงถาม" ความยุติธรรมให้กับ "ลูก" ที่เสียชีวิตไปก่อนวัยอันควร จากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน จะยังไม่ได้รับการตอบสนองจาก "ผู้มีอำนาจ" หรือ "หน่วยงาน" ที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด